พระเมตตาแผ่ไพศาล...ตามรอยพระบาทที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปัตตานี
ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความโศกาทั่วทั้งแผ่นดินไทย จากการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เสียงร้องไห้จากดินแดนปลายด้ามขวานก็ดังก้องไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ
แม้จะอยู่ไกลถึงเกือบใต้สุดแดนสยาม แต่ชาวปัตตานีก็เคยมีวาสนาได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิดมาแล้ว
โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่เสด็จฯศาลเจ้าเล่งจูเกียง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2519 ศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองปัตตานี
ศาลเจ้าเล่งจูเกียง ตั้งอยู่เลขที่ 63 ถนนอาเนาะรู ใจกลางเมืองเก่า เดิมเรียกตลาดจีนเมืองปัตตานี มีอายุหลายร้อยปี มีองค์พระหมอ หรือโจ๊วซูกง เป็นเทพประธานประจำศาลเจ้า
ต่อมาปี พ.ศ.2407 หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ได้ทำการบูรณะและจัดงานสมโภชเป็นประเพณีขึ้น หลังจากนั้น พระจีนคณานุรักษ์ ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งคนทั่วไปนับถือศรัทธาในความมีน้ำใจเด็ดเดี่ยว จากบ้านกรือเซะ อ.เมืองปัตตานี มาประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ และเรียกชื่อศาลเจ้าใหม่ว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว นั่นเอง
งานสมโภชศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จะมีประเพณีแห่องค์พระ ลุยน้ำ ลุยไฟ จัดในวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 1 ของจีน ตรงกับวันมาฆบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของไทย
สาทร กาญจนซิน กรรมการบริหารศาลเจ้าเล่งจูเกียง คือหนึ่งในผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จฯมาในปี 2519 แม้เหตุการณ์จะล่วงเลยมานาน แต่เขายังจำได้ดี
“วันนั้นพระองค์ท่าน เสด็จฯพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ถือเป็นวาสนาของผมอย่างหาที่เปรียบมิได้ที่ได้ถวายการรับใช้พระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด”
“ประธานศาลเจ้าในขณะนั้นได้เรียกให้ผมไปอธิบายเรื่องราวของศาลเจ้าให้พระองค์ท่านได้ทรงทราบ ตอนแรกคาดกันว่าจะประทับเพียง 2-3 นาที แต่ในวันนั้นทรงประทับอยู่กว่า 1 ชั่วโมง ทรงศึกษาประวัติและรายละเอียดของศาลเจ้ามาอย่างดีมาก ทรงทราบว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นใคร ทรงทราบว่าท่านแป๊ะกงเป็นพระเจ้าเมือง ทรงมีความละเอียดอ่อน เก็บทุกรายละเอียด แต่ไม่เคยติหากคนตอบไม่ตรงกัน ท่านจะย้อนถามว่าแล้วเป็นอย่างไร ทรงให้เกียรติกับทุกคนมาก”
สาทร บอกด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯพระราชทานกระถางธูป และใช้ในศาลเจ้าจวบจนทุกวันนี้
“ในศาลเจ้าเล่งจูเกียง กระถางธูปทุกกระถางเป็นกระถางพระราชทาน ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จากพระองค์ท่านรัชกาลที่ 9 และพระองค์อื่นๆ”
หลังจากวันนั้น สาทร เล่าว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯมาไหว้พระที่ศาลเจ้าอีกหลายครั้ง โดยบางครั้งเสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์
สาทร ยังมีส่วนร่วมในอีกหลายเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯปัตตานี อย่างเช่นครั้งที่เสด็จฯอำเภอปะนาเระ ทรงแสดงถึงพระเมตตาอันไพศาลที่มีต่อเหล่าพสกนิกร โดยไม่แบ่งแยกศาสนา
“ครั้งนั้นมีการบอกชาวบ้านว่าพระองค์ท่านจะพระราชทานข้าวสารและน้ำปลาประมาณ 500 ครอบครัว แต่เอาเข้าจริงมีการไปบอกชาวบ้านจำนวนมากกว่านั้น ทำให้มีคนมารอรับพระราชทานเป็นพันคน แต่เมื่อแจกจริง ก็แจกตามชื่อในทะเบียนบ้าน ซึ่งพระองค์ทรงพระดำเนินแจกด้วยพระหัตถ์ถึงมือชาวบ้าน คนที่ไม่ได้รับก็บอกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ต้องได้เหมือนกันทุกคน เมื่อพระองค์ทรงทราบเหตุผล กลับไม่ทรงตกพระทัยเลย ตรัสว่าไม่เป็นไร คนที่ยังไม่ได้จะจัดให้ทั้งหมด พระเมตตาของพระองค์ท่านทำให้ชาวบ้านซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ”
“พระองค์ท่านไม่ถือว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม ทุกคนเป็นประชาชนเหมือนกัน จะมีกษัตริย์พระองค์ไหนที่ทรงนั่งกับพื้นสกปรกที่ชาวบ้านนั่ง มีพระสหายเป็นมุสลิม ตอนนั้นลุงวาเด็ง (วาเด็ง ปูเต๊ะ พระสหายแห่งสายบุรี) ใส่โสร่งผืนเดียว ไม่ใส่เสื้อ พระองค์ท่านก็ทรงพูดคุยและเป็นสหายกัน และทรงพูดภาษามลายูได้อย่างคล่องแคล่ว”
เมื่อถามถึงความรู้สึกเมื่อสูญเสียพระองค์ท่าน สาทร บอกด้วยน้ำเสียงเครือพร้อมเช็ดน้ำตา
“อย่าถามเลยว่ารู้สึกอย่างไร พระองค์อยู่ในความทรงจำตลอดเวลา ยังซาบซึ้งติดตรึงในใจไม่เสื่อมคลาย เราต้องทำดีตามที่พระองค์ท่านทรงทำไว้ ตามรอยพระบาทพระองค์ท่านที่ทำให้กับประชาชน ต้องทำให้สังคมปัตตานีดีขึ้น” สาทร กล่าว
อีกหนึ่งความรู้สึกของคนปัตตานีที่ไม่แตกต่างกันอย่าง สุไลมาน ยาโม จิตรกรมุสลิมผู้รังสรรค์งานศิลปะภาพเหมือนมากมาย และพระบรมสาทิสลักษณ์เป็นชิ้นงานที่สุไลมานภาคภูมิใจที่สุด
“วาดรูปพระองค์ท่านมาตั้งแต่ปี 2551 จำไม่ได้ว่าวาดไปกี่ภาพ ส่วนใหญ่อยู่ที่ลูกค้าหมดแล้ว ส่วนตัวชอบวาดรูปพระองค์ท่าน เพราะชอบที่พระองค์ท่านทรงงาน อยู่กับประชาชน เขียนงานแล้วรู้สึกประทับใจ อิ่มเอมทุกรูป เกิดมาก็เห็นพระองค์ท่านทรงงานกับประชาชน เข้าถึงทุกที่ที่กันดาร ปลื้มใจที่มีกษัตริย์อย่างพระองค์ท่าน”
เมื่อทราบข่าวความสูญเสีย สุไลมาน บอกว่า เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทย พระองค์เปรียบเสมือนพ่อของทุกคน ร้องไห้อยู่ในอก ไม่มีแรงทำงาน ขอทำใจสักพัก
เป็นความรู้สึกของคนปัตตานีที่ไม่แตกต่างจากคนไทยทุกคน...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพถ่ายเมื่อครั้งในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
2 ศาลเจ้าแม่ฯ กลางเมืองเก่าปัตตานี
3 สาทร กาญจนซิน
4 กระถางธูปพระราชทาน
5 พระปรมาภิไธยเมื่อครั้งเสด็จฯศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
6 พระบรมสาทิสลักษณ์ที่ สุไลมาน ยาโม ศิลปินปัตตานี รู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้วาด