ดร.นิพนธ์ มองอนาคตราคาสินค้าเกษตรสูง กำไรส่งออก-คนจนซื้อแพง
นักวิชาการรุมยำประกันรายได้-จำนำสินค้าเกษตร แก้ปัญหาระยะสั้น ดร.นิพนธ์ ชี้ระยะยาวต้องแก้คนรุ่นใหม่ทิ้งนา ขาดน้ำ โรคระบาด ทิศทางพืชหลักต้องชัดเน้นส่งออกหรืออาหารปลอดภัย นักเศรษฐศาสตร์อเมริกาวิพากษ์การเมืองไทยทำนโยบายเกษตรบิดเบือน
วันที่ 13 ม.ค. 53 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสัมมนา“ฝ่าวิกฤติภาคเกษตรไทย:มุมมองเชิงนโยบาย” โดย ศ.ดร.กำพล อดุลย์วิทย์ นายกสมาคมฯ กล่าวว่าภาคเกษตรไทยเผชิญกับความไม่แน่นอนเพราะความเปราะบางของเศรษฐกิจภายในที่ต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจภายนอกสูงขึ้นโดยเฉพาะความอ่อนไหวด้านนโยบายการเกษตร เช่น โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร โครงการประกันรายได้ รวมถึงมาตรการอื่นๆเพื่อกระจายผลิตผลทางการเกษตร เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ยังไม่มีนโยบายที่สร้างความมั่นคงทางรายได้และสวัสดิการระยะยาวอย่างชัดเจน
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าวิกฤติสำคัญคือคนหนุ่มสาวทิ้งภาคเกษตร มีที่ดินรกร้างจำนวนมาก ด้วยหลายสาเหตุแต่สำคัญที่สุดคือกฎหมายการเช่าที่ดิน, ต้นทุนการผลิตสูง, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อผลผลิต โดยเฉพาะข้าวที่ปลูกในพื้นที่ชลประทานจะแย่ลงชัดเจน รวมทั้งนโยบายรัฐบาลทั่วโลกที่มักจำกัดการส่งออกเมื่อมีปัญหาด้านคุณภาพ สร้างความแปรปรวนในสินค้าเกษตร
“ราคาสินค้าเกษตรต่อไปจะสูงและมีโอกาสในตลาดโลกมากขึ้น โดยเฉพาะพืชพลังงานในฐานะผู้ส่งออกถือว่าดี แต่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าแพง มีผลกระทบกับคนจนโดยตรง และแบบแผนความต้องการอาหารสะอาด ประเภทอาหารอินทรีย์หรืออาหารที่เป็นยาจะสูงขึ้น”
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า คนเมืองมีอิทธิพลมากในการกำหนดนโยบาย เช่น การชั่งไข่ขายหรือประกันรายได้ต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นนโยบายระยะสั้น วันนี้ต้องพูดถึงระยะยาวเพื่อรับมือวิกฤติ เช่น ปัญหาการขาดแคลนเกษตรกรรุ่นใหม่ อาจทดแทนได้ด้วยการจ้างแรงงานต่างชาติ, ปัญหาต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำ และโรคระบาด อาจต้องเน้นงานวิจัยจัดการลุ่มน้ำสาขาย่อยโดยชุมชน พัฒนาพันธุ์ต้านทานโรค ซึ่งปัจจุบันมีการจัดสรรงบประมาณตรงนี้น้อยมาก
ประธานทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวอีกว่าถ้านโยบายรัฐมุ่งไปที่การพัฒนาภาคการผลิตก็ไม่เป็นปัญหา แต้ถ้าใช้นโยบายราคามาแก้ปัญหาเรื่อยๆแย่แน่นอน นอกจากนี้รัฐต้องเลือกว่าจะให้ภาคเกษตรผูกขาดโดยไม่กี่บริษัทใหญ่หรือให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ รวมถึงทิศทางนโยบายด้านพืชหลักที่ชัดเจนว่าจะเน้นการส่งออกหรืออาหารปลอดภัยในประเทศ
รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เครื่องจักรจะเข้ามาเป็นตัวหลักในการผลิตแทนแรงงานที่น้อยลง ที่น่าสนใจคือเทคโนโลยีการพัฒนาพันธุ์ใหม่ที่ไม่ผูกขาดมากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนต่ำลง นอกจากนี้ยังเสนอให้พัฒนาคนรุ่นใหม่เป็นผู้ประกอบการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนคน รวมทั้งเสนอให้ชุมชนรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์
ด้าน นายมนตรี คงตระกูลเทียน จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่าสิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือนโยบายการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้รู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศรอบด้าน ต่อไปเครื่องจักรจะมาทดแทนเกษตรกรยุคใหม่ ที่ผ่านมาระบบการเรียนสอนคำว่าหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าเกษตรต้องลำบากจึงไม่อยากเข้าสู่วงจร แต่จริงๆแล้วเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะรายใหญ่ แต่มีมากในเกษตรกรรายย่อยที่รู้จักใช้เครื่องมือ
ส่วน Prof. Dr. Andrew Schmitz นักเศรษฐศาสตร์การเกษตรจากสหรัฐอเมริกา วิพากษ์นโยบายการเกษตรไทยว่ามีข้ออ่อนด้อยคือรัฐบาลมักใช้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง มาตรการส่วนใหญ่จึงไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหา .