จากฮิซบอลเลาะห์ถึงชายแดนใต้...วาทกรรม "ก่อการร้าย" ที่ไทยมีแต่เจ็บตัว
กระแสลมแห่งการก่อการร้ายมาเยือนสังคมไทยอีกครั้ง คราวนี้มาพร้อมๆ กับคำเตือนของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไม่ทันไรนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ตื่นผวา นายกสมาคมท่องเที่ยวไทยบอกว่ายอดจองห้องพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 50%
ขณะที่สังคมไทยรับมือกับข่าวชิ้นนี้ด้วยความสับสนอลหม่านอย่างยิ่ง จับต้นชนปลายไม่ถูก สืบสาวราวเรื่องไปแล้วนึกไม่ออกว่า "ฮิซบอลเลาะห์" จะมาทำอะไรในบ้านเราตามที่เป็นข่าว
ความสับสนของสถานการณ์ มุมหนึ่งมาจากการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยเองที่ขาดความเป็นเอกภาพในการให้ข้อมูลกับคนไทย
จะไม่สับสนได้อย่างไร เมื่อ สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความไม่พอใจที่สหรัฐและประเทศพันธมิตรออกประกาศเตือนพลเมืองตัวเองว่าจะมีการก่อการร้ายขึ้นในกรุงเทพฯ ทำให้ภาพพลักษณ์ประเทศไทยได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจเสียหาย การท่องเที่ยวซบเซา
ว่าแล้วก็สั่งการให้ปลัดกระทรวงเชิญทูตมาชี้แจงก่อนจะออกมาตรการตอบโต้!
แต่อีกด้านหนึ่ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง) ยืนยันว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์มีแผนจะ "คาร์บอมบ์" สถานที่สำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันตำรวจก็นำตัวผู้ต้องสงสัยชาวเลบานอนไปค้นบ้านย่านสมุทรสาคร ปรากฏว่าพบปุ๋ยยูเรียและแอมโมเนียมไนเตรทซึ่งตำรวจบอกว่าเป็นสารประกอบวัตถุระเบิด น้ำหนักกว่า 4 พันกิโลกรัม
แถม พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยังให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า นายอัตริส ฮุสเซน ผู้ต้องสงสัยชาวเลบานอนที่ถูกจับกุมได้ สารภาพเองว่ามีแผนที่จะก่อเหตุรุนแรงในเมืองไทย แต่ล้มเลิกไปเพราะถูกตำรวจจับได้เสียก่อน (ภายหลังมีการให้ข้อมูลใหม่ว่าใช้ไทยเป็นทางผ่านสารตั้งต้นประกอบระเบิดเฉยๆ)
แล้วแบบนี้จะโทษทูตสหรัฐได้หรือ ตำรวจค้นเจออุปกรณ์ทำระเบิดเป็นตันขนาดนี้ ใครมาเป็นทูตสหรัฐประจำประเทศไทยแล้วไม่ยอมแจ้งเตือนพลเมืองของตัวเอง มีหวังถูกทำเนียบขาวเล่นงานแน่ๆ
ภาวะตื่นตระหนก (panic) ที่แพร่ขยายรวดเร็วมาจากคำเตือนของสถานทูตสหรัฐก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือท่าทีของทางการไทยนี่เองที่ทำให้งานด้านความมั่นคงที่ควรทำแบบเงียบๆ กลับเอิกเกริกโจ๋งครึ่มจนหมดความน่าเชื่อถือ
แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้สังคมไทยอ่อนไหวต่อข่าวทำนองนี้ ก็เพราะ "องค์ความรู้" ที่มีเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวขององค์กรศาสนาในโลกมุสลิมของเรามีจำกัด
บวกกับอิทธิพลของสื่อค่ายตะวันตกนำโดยสหรัฐ ที่โหมประโคมภาพลักษณ์ของกลุ่มเหล่านี้ว่าจ้องจะก่อความรุนแรง เป็นกลุ่ม "ก่อการร้าย" ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในมุมต่างๆ ของโลก และขอความร่วมมือให้ประเทศต่างๆ ที่รักความสงบช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องแล้วคอยแจ้งพญาอินทรีพี่ใหญ่
ขณะที่หน่วยข่าวกรองของอิสราเอลซึ่งมีความใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ไทยก็ขยันแจ้งข่าวความเคลื่อนไหวของฮิซบอลเลาะห์มาให้เราช่วยติดตามแทบจะตลอดเวลา ทุกครั้งที่เข้าช่วงเทศกาลก็จะมีสายรายงานว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์เข้าไทยแล้ว จ้องจะบึ้มที่นั่น พลีชีพที่นี่ วางแผนที่โน่น จะวินาศกรรมที่นี่ ชวนให้ปวดหัวตั้งแต่เจ้านายยันลูกน้อง
การข่าวที่โหมมาด้านเดียวแบบนี้ก็ไม่แปลกที่พอมีการควบคุมตัวชาวเลบานอน ได้ในบ้านเราปุ๊บ ก็เลยถูกตีตราว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" แทบจะทันที
เหมือนช่วงที่ไฟใต้โหมแรงใหม่ๆ พอมีเหตุระเบิดปุ๊บ สื่อไทยก็พร้อมใจกันตัดสินว่ากลุ่มที่ก่อการคือ "โจรมุสลิม" จนกระทั่งวันเวลาผ่านไปก็ทำให้เข้าใจสถานการณ์ได้ดีขึ้นว่าพวกที่ฆ่าคน วางระเบิดอยู่นั้นไม่ได้เกี่ยวกับว่านับถือศาสนาอะไร แต่มีเงื่อนไขอีกร้อยแปดพันประการที่จูงใจให้ก่อเหตุ
เมื่อสื่อไทยหลุดพ้นจากกรอบคิดว่าการก่อความรุนแรงไม่ใช่เงื่อนไขศาสนาเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นก็นำไปสู่การค้นคว้าหาสาเหตุของเหตุรุนแรงต่างๆ จากหลายฝ่าย หลายหน่วยงาน จนค้นพบว่ามันผูกโยงกันเป็นใยแมงมุม ตั้งแต่อุดมการณ์ แบ่งแยกดินแดน การเมืองท้องถิ่น ธุรกิจเถื่อน ยาเสพติด ค้ามนุษย์ กระทั่งความขัดแย้งส่วนตัวก็มีไม่น้อย
หรือช่วงที่ "คนเสื้อแดง" เคลื่อนไหวรุนแรง สุ่มเสี่ยง สังคมไม่ยอมรับ เขาเหล่านั้นก็ถูกตราหน้าว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" กระทั่งเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปก็พบว่าไม่อาจประทับตราคนเสื้อแดงว่าเป็นผู้ก่อการร้ายได้ทั้งหมด จึงนำไปสู่การค้นคว้าที่มาที่ไปของคนเสื้อแดง และค้นพบว่าคนกลุ่มนี้มีที่มาสลับซับซ้อนเกินกว่าจะเหมารวดเดียวว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" แล้วจบ
"ฮิซบอลเลาะห์" ก็เช่นเดียวกัน ข่าวการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นท้าทายผู้คนในสังคมไทยว่าจะเป็นสังคมแห่งการพิพากษาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือไม่
ตลอดช่วงเวลาที่ทางการไทยให้ข่าวความเคลื่อนไหวของฮิซบอลเลาะห์ว่ามีความเชื่อมโยงกับแผนการก่อการร้ายในเมืองไทย ก็มีการขับเคลื่อนทางความคิดจากกลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาการเมืองในซีกโลกตะวันออกเพื่อเสนอมุมมองที่แย้งจากกระแสหลักอย่างต่อเนื่อง อย่าง ดร.จรัญ มะลูลีม นักวิชาการด้านตะวันออกกลางศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยไปพบกับผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และยืนยันว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์นอกจากไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายที่เที่ยวไปวางระเบิดในประเทศต่างๆ แล้ว ยังเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการกุศลในเลบานอนอย่างต่อเนื่องด้วย
เช่นเดียวกับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองมุสลิมจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย ก็ตั้งคำถามกับความพยายามของภาครัฐที่ยัดเยียดความเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ โดยระบุว่าจากการศึกษาประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มนี้พบว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์มีภารกิจ 2 ประการที่ชัดเจนคือ การต่อสู้เพื่อผลักดันอิสราเอลให้ออกจากดินแดนของเลบานอน และเคลื่อนไหวให้อิสราเอลปลดปล่อยนักโทษชาวเลบานอนที่ถูกจับตัวไปเกือบหมื่นคนเท่านั้น
ดร.ศราวุฒิ บอกว่า ฮิซบอลเลาะห์มีเป้าหมายที่ชัดเจนแตกต่างกับขบวนการอัลกออิดะห์ที่เปิดศึกรบกับสหรัฐอเมริกาทุกรูปแบบ ทุกดินแดน ทุกสนาม ไม่มียกเว้น แต่ฮิซบอลเลาะห์คำนึงถึงเป้าหมาย 2 ประการนี้เท่านั้น ฉะนั้นการมาก่อเหตุรุนแรงในประเทศไทยจะไม่เป็นเหตุผลให้ฮิซบอลเลาะห์บรรลุเป้าหมาย 2 ข้อดังกล่าวอย่างแน่นอน คือไม่ได้ดินแดนคืนจากอิสราเอล และนักโทษของประเทศตัวเองก็จะไม่ได้รับการปล่อยตัว
ดร.ศราวุฒิ ฉายภาพฮิซบอลเลาะห์ชัดเจนขึ้นว่า วันนี้เขามีพรรคการเมืองที่มีความมั่นคงในเลบานอน คือมีที่นั่งในสภา 23 ที่นั่ง เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นิยามกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ว่าเป็น "พรรคการเมืองที่สำคัญ" ไม่ใช่กลุ่มผู้ก่อการร้ายเหมือนสหรัฐพยายามชี้นำให้ประเทศต่างๆ เรียกขาน
เมื่อฟังความรอบด้านแล้วก็พบว่า ฮิซบอลเลาะห์ยังมีนิยามอื่นๆ ที่ถูกเรียกขานทั้ง "พรรคการเมืองที่สำคัญ" หรือ "องค์กรการกุศล" ไม่ใช่ "ผู้ก่อการร้าย" อย่างเดียวเท่านั้น
และเมื่อเราสามารถมองเห็นนิยามของเรื่องๆ หนึ่ง เหตุการณ์ๆ หนึ่ง ได้แตกต่างหลากหลายจากความหมายที่ภาครัฐยัดเยียดให้ได้ สังคมไทยก็จะได้พบความจริงที่ชัดเจนขึ้น
ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อที่จะรู้ว่าเราควรจะตกใจกับข่าวชิ้นนี้มากแค่ไหน และควรเรียนรู้ความแตกต่างทางความคิด ความเชื่ออย่างไร เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างสันติสุข
"ฮิซบอลเลาะห์"ต่างมุมมอง
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า ประเทศต่างๆ ในโลกได้กำหนดหรือจัดกลุ่ม "ฮิซบอลเลาะห์" เอาไว้แตกต่างกัน แม้แต่ค่ายตะวันตกด้วยกันอย่าง อย่างเช่น ออสเตรเลียก็จำแนกฮิซบอลเลาะห์เป็นขบวนการก่อการร้ายเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้านความมั่นคงภายนอกประเทศ (เลบานอน) เท่านั้น ขณะที่อังกฤษขีดเส้นใต้เอาไว้เฉพาะฮิซบอลเลาะห์ปีกการทหาร
เพราะสถานะของฮิซบอลเลาะห์มีทั้งที่เป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นกลุ่มก่อการร้าย และกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านอิสราเอลในมิติทางการเมือง
ส่วนฝั่งที่มองว่าฮิซบอลเลาะห์เป็นองค์กรก่อการร้ายในทุกๆ มิติ ก็คือสหรัฐ อิสราเอล และประเทศพันธมิตร เช่น แคนาดา อียิปต์ เป็นต้น
"สุหนี่" กับ "ชีอะห์"
มีอีกประเด็นหนึ่งที่สังคมยังค่อนข้างสับสน คือมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับสูงบางรายพยายามเชื่อมโยงกลุ่มฮิซบอลเลาะห์กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่าสมาชิกฮิซบอลเลาะห์ที่กำลังติดตามจับกุมใช้ชายแดนใต้เป็นสถานที่พักพิงและเดินทางผ่านไปยังมาเลเซีย ทั้งยังได้รับการสนับสนุนบางเรื่อง เช่น จัดหาวัตถุระเบิด จากกลุ่มก่อความไม่สงบที่เคลื่อนไหวในพื้นที่อีกด้วย
แต่ผู้รู้หลายรายประเมินว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะมุสลิมชายแดนใต้ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ ส่วนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์คือมุสลิมชีอะห์
ปัญหาที่ตามมาก็คือ สองนิกายหรือสองลัทธินี้แตกต่างกันอย่างไร?
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า แนวคิดของนิกายสุหนี่ คือ เชื่อว่าท่านศาสดามูฮัมหมัดมิได้แต่งตั้งตัวแทน (คอลิฟะห์) เอาไว้ก่อนที่ท่านจากไป ดังนั้นหลังจากท่านจากไปแล้วตำแหน่งผู้ปกครองหรือผู้นำสืบต่อจากท่านจึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่ต้องเลือกสรรกันเองตามความเหมาะสม
ส่วนนิกายชีอะห์เชื่อว่าท่านศาสดามูฮัมหมัดได้แต่งตั้งตัวแทนให้เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านตามพระบัญชาของพระเจ้าไว้ก่อนที่ท่านจะจากไป
นายมูฮัมหมัดรุสลัน เจะโซ๊ะ อุสตาซ (ครูสอนศาสนา) โรงเรียนบ้านดอนวิทยา จ.ปัตตานี กล่าวว่า หลักจากสิ้นท่านนบีมูฮัมหมัด เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้รู้ (อุลามะห์) จึงทำให้เกิดลัทธิต่างๆ ขึ้นในศาสนาอิสลาม ลัทธิที่สำคัญคือชีอะห์และสุหนี่ โดยทั้งสองลัทธินี้ขัดแย้งกันเนื่องจากมีความเชื่อไม่เหมือนกัน ชีอะห์ถือว่าท่านอาลี ลูกเขยของท่านนบีมูฮัมหมัดเป็น "คอลิฟะห์" ซึ่งตากจากลัทธิสุหนี่ที่นับถือหลักคำสอนของท่านนบีมูฮัมหมัด
ทั้งสองลิทธินี้นับถือศาสนาเดียวกันคือศาสนาอิสลาม ซึ่งคนที่นับถือศาสนาอิสลามนี้ถือว่าเป็นพีน้องกัน เนื่องจากนับถือพระเจ้าองค์เดียวกัน มีนบีคนเดียวกัน แต่มาขัดแย้งกันสมัยอุลามะห์ (ผู้รู้ทางศาสนา) หลังจากสิ้นท่านนบี
"ไม่ว่าที่ไหนของโลกลัทธิสุหนี่กับชีอะห์เข้ากันไม่ได้ เพราะความเชื่อต่างกัน"
นายมูฮัมหมัดรุสลัน กล่าวต่อว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์เป็นมุสลิมชีอะห์ ฉะนั้นที่มีข่าวว่าคนที่นับถือลัทธิชีอะห์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปช่วยเหลือในเรื่องหาที่พักพิงหรือร่วมกันก่อเหตุนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอน เนื่องจากคนที่นับถือชีอะห์ในพื้นที่มีไม่มาก และมักไม่เปิดเผยให้ใครรู้ เพราะหากมีคนรู้ก็จะไม่มีใครคบหาด้วย เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่นับถือสุหนี่ไม่ยอมรับ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ธงสัญลักษณ์ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งใช้สีเขียวกับเหลืองเป็นสีประจำกลุ่ม
ขอบคุณ : ภาพธงจาก Wikipedia
หมายเหตุ :
1 เสถียร วิริยะพรรณพงศา เป็นผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการในเนชั่นทีวี
2 งานเขียนชิ้นนี้นอกจากหัวข้อ "ฮิซบอลเลาะห์ต่างมุมมอง" และ "สุหนี่กับชีอะห์" เป็นบทความของ เสถียร วิริยะพรรณพงศา ใช้ชื่อว่า "ฮิซบอลเลาะห์! สงครามวาทกรรม" ตีพิมพ์ครั้งแรกในเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 ม.ค.2555