วงการ สธ. ย้ำบัตรทอง ยังเน้นใช้เงินภาษีจากรัฐ
วงการสาธารณสุข ถกประเด็นบัตรทอง ย้ำชัดเน้นใช้เงินภาษีจากรัฐ ชี้เป็นธรรม ไม่สร้างภาระให้ประชาชน แนะพัฒนาระบบประกันเพิ่มของเอกชน เพิ่มโอกาสให้แต่ละคนได้สิทธิประโยชน์ตรงตามความต้องการ
วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2559 ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ โรมแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณะสุข ด้านการคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพ แถลงผลการประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย : ยั่งยืนด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2559) จัดโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรภาคีเครือข่าย
ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวถึงหลักประกันสุขภาพของไทยว่า เป็นกลไกสำคัญในการสร้างสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพให้กับประชาชนในประเทศ ซึ่งรัฐบาลและประชาชนต้องมีส่วนในการดำเนินการร่วมกัน ที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ดังนั้นตรงนี้จะทำอย่างไรให้ประชาชนในประเทศภูมิใจร่วมกัน อีกทั้งจากประมาณการพบว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถป้องกันครัวเรือนจากความยากจน เพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้มากกว่า 76,000 ครัวเรือนหลังจากดำเนินการได้เพียง 7 ปี
ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพนั้น มีสาระสำคัญ 5 ประเด็นคือ 1.เรื่องความยั่งยืนของระบบหลักประกัน ที่ประชุมเห็นว่าขึ้นอยู่กับ การจัดการเชิงระบบเพื่อพัฒนาสู่ความเป็นธรรม, การใช้งบประมาณและการจัดสรรที่มีความคุ้มค่า, ระบบการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และการมีแหล่งการคลังที่เพียงพอ
“2.การยกระดับความเป็นธรรม เสนอให้มีการจัดชุดสิทธิประโยชน์หลักและชุดสิทธิประโยชน์เสริม 3.การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรเพื่อดูแลสุขภาพ โดยมุ่งเป้าลดใช้บริการสุขภาพที่เกินจำเป็น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงคุณภาพ ได้แก่ ป้องกันโรคที่ป้องกันได้, ใช้ยาอย่างสมเหตุผล, จัดการกลุ่มโรคเรื้อรัง, ใช้บริการสุขภาพอย่างเหมาะสม, ป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล และป้องกันความพิการ เพื่อลดภาระการดูแลในระยะยาว ทั้งนี้หากดำเนินการดังกล่าวได้ คาดว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า 5,000-7,000 ล้านบาทต่อปี”
ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวอีกว่า 4.ความยั่งยืนทางการคลัง คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า รัฐจำเป็นต้องปรับเพิ่มงบประมาณให้ระบบหลักประกันสุขภาพอย่างน้อยร้อยละ 4.2 ต่อปี เพื่อให้การจัดการระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ได้อย่างยั่งยืน สามารถรักษาคุณภาพบริการและความเป็นธรรมต่อไปได้ และควรจัดสรรงบประมาณด้านการลงทุนแยกไว้เฉพาะ เพื่อไม่ให้กระทบระบบบริการ ทั้งนี้ แหล่งงบประมาณยังเน้นมาจากภาครัฐ โดยอาศัยระบบภาษีเป็นหลัก เพราะเป็นแหล่งเงินที่เป็นธรรม ไม่สร้างภาระให้ประชาชน นอกจากนี้เห็นว่า ควรมีการพัฒนาระบบประกันเพิ่มของเอกชน เพื่อให้แต่ละคนมีโอกาสได้สิทธิประโยชน์เพิ่มตรงตามความต้องการ และ 5.เรื่องการแยกงบประมาณเงินเดือน ค่าตอบแทนบุคลากรออกจากงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องพิจารณาต่อไป
ส่วนการดำเนินงานต่อจากนี้ ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า จะนำความคิดเห็น ข้อเสนอจากการประชุมมาทบทวนปรับปรุง และรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณะสุขต่อไป
ด้าน ดร.คณิศ แสงสุวรรณ ประธานคณะทำงานศึกษาความยั่งยืนและพอเพียงของระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องแหล่งงบประมาณ โดยยืนยันว่า ควรมาจากระบบภาษีปกติ เพราะมาจากหลักความเป็นธรรม มีฐานเรื่องการจัดเก็บในอัตราที่เหมาะ และการนำภาษีมาใช้เพื่อการรักษาพยาบาลก็เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา เป็นภาระรับผิดชอบของรัฐบาล จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปหาช่องทางภาษีพิเศษ ประกอบกับอัตรางบประมาณร้อยละ 4.2 ก็ไม่ได้มากกว่าเดิม เป็นไปตามการขยายตัวของงบประมาณรายจ่ายตามปกติอยู่แล้ว ทั้งนี้อัตรางบประมาณดังกล่าว ครอบคลุมการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพ ในช่วงระยะเวลา 20 ปีต่อจากนี้ ส่วนกรณีการร่วมจ่าย ถ้าอยู่บนเงื่อนไขคุณภาพที่ดีขึ้นก็พอเป็นไปได้ และขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุนด้วย