น้ำใกล้เต็มเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กรมชลฯ เร่งระบาย ท้ายน้ำเริ่มท่วม
ฝนที่ตกหนักใน จ.เพชรบูรณ์ ทำให้มีน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่องทำให้ระดับน้ำใกล้เต็มเขื่อนแล้ว กรมชลประทานจึงต้องเร่งระบายน้ำเพื่อให้มีพื้นที่รองรับฝนที่จะตกมาใหม่ ทำให้ชุมชนท้ายน้ำเริ่มมีน้ำท่วม
วันนี้ (9 ต.ค.2559) นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าร่องมรสุมจะพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มากกว่าวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร และใกล้จะเต็มอ่างฯ แล้ว จึงต้องปรับการระบายน้ำออกจากเขื่อนเพิ่ม เป็นวันละ 55 - 60 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ และน้ำที่ระบายออกจากอ่างฯ ทำให้มีพื้นที่ว่างที่จะรองรับปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ได้อีก และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำล้นอ่างฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนเป็นบริเวณกว้างได้
นายทองเปลวอธิบายว่า ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะไหลลงสู่เขื่อนพระรามหก ซึ่งกรมชลประทานจะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในเกณฑ์ 600 - 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที วันนี้ (9 ต.ค.2559) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 607 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนพระรามหก ในเขต อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะไหลไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำที่ อ.บางไทร อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,076 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ และจะไม่ล้นคันกั้นน้ำเข้าไปส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่เศรษฐกิจในเขต อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรีอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ชุมชนบริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวพบว่าเจ้าหน้าที่ได้ปักธงแดงไว้ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (8 ต.ค.2559) เพื่อเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเฉพาะใน อ.ท่าเรือและ อ.นครหลวง ให้อพยพขนย้ายข้าวของและทรัพย์สินมีค่าไปอยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมามีประชาชนทยอยเดินทางมาดูระดับน้ำที่เขื่อนทดน้ำพระรามหก หลายคนกังวลกับปริมาณน้ำที่ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เร่งเก็บเศษขยะและซากพืชที่กีดขวางประตูระบายน้ำเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก
สมบัติ เจริญจิต ชาว อ.เสาไห้ จ.พระนครศรีอยุธยา ยอมรับว่าเธอหวาดกลัวว่าจะเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 อีกครั้ง
"เห็นเจ้าหน้าที่ปักธงแดงเตือนน้ำท่วมแล้วก็รู้สึกกลัว เพราะปี 2554 เราก็เคยโดนน้ำท่วมมาแล้ว กลัวว่าจะโดนน้ำท่วมอีก" นางสมบัติกล่าวขณะมาดูระดับน้ำที่เขื่อนทดน้ำพระราม 6 วันนี้ (9 ต.ค.2559)
ส่วนที่ชุมชน หมู่ 6 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ ซึ่งตั้งอยู่ท้ายเขื่อนพระราม 6 พบว่าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบถึงระดับ 50 ซม. มา 3 วันแล้ว บางจุดที่เป็นที่ต่ำระดับน้ำท่วมสูงถึง 1 เมตร
ขณะที่พื้นที่น้ำท่วมขยายวงกว้างมากขึ้นเป็นกว่า 10 หลังคาเรือน ประชาชนบางส่วนต้องอพยพมาอยู่วัดสะตือชั่วคราว เพราะน้ำท่วมชั้น 2 ของบ้านจนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ขนย้ายทรัพย์สินไปไว้ในที่ปลอดภัยแล้วหลังจากที่เจ้าหน้าที่ปักธงแดงเตือนภัยน้ำท่วมเมื่อวานนี้ (8 ต.ค.)
นายวีร์รวุทธ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองประกาศให้ทุกอำเภอเตรียมพร้อมรับมือกับระดับน้ำที่ใกล้ถึงจุดวิกฤต เทศบาลเมืองอ่างทองต้องเร่งนำกระสอบทรายไปเสริมแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดแนวพื้นที่เศรษฐกิจและศูนย์ราชการเกือบตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา เพื่อเสริมความแข็งแรง หลังระดับน้ำใกล้ถึงจุดวิกฤต
ล่าสุดนายวีร์รวุทธยังได้แจ้งนายอำเภอทุกอำเภอ โดยเฉพาะ อ.เมืองอ่างทอง ไชโย และ อ.ป่าโมกให้เตรียมรับสถานการณ์อย่างเต็มที่ เนื่องจากคาดว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นอีกเกือบ 1 เมตร
ที่ จ.สุพรรณบุรี สำนักงานชลประทานโพธิ์พระยาเปิดประตูระบายน้ำเพิ่ม เพื่อระบายน้ำทำให้น้ำแม่น้ำท่าจีนสูงขึ้นต่อเนื่องกว่า 6 เมตร และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนใน ต.โพธิ์พระยา จนต้องเฝ้าระวังและระบายน้ำกันตลอดทั้งคืน
ขณะที่ชาว ต.เกาะเทโพ อ.เมืองอุทัยธานี ต้องเร่งนำทรายใส่กระสอบเพื่อไปวางกั้นแนวคันกั้นน้ำ ป้องกันน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เอ่อสูงขึ้นเกือบล้นขอบแนวคันนา ป้องกันนาข้าวกว่า 100 ไร่เสียหายหากมีการปล่อยน้ำเข้าท่วมนาข้าว
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ ต.ดอนทอง อ.หนองโดน จ.สระบุรี ชาวนาบ้านหนองแร่ ต้องประสบปัญหานาข้าวกว่า 200 ไร่เสียหาย หลังจากแม่น้ำลพบุรีไหลเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว สูงกว่า 2 เมตร เมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้ข้าวที่ใกล้เก็บเกี่ยวซึ่งจะคาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 5 แสนบาทให้ชาวนาเสียหายทั้งหมด
ที่ จ.นครสวรรค์ น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนบางปรอง ต.ปากน้ำโพ อ.เมืองนครสวรรค์ บ้านอย่างน้อย 10 หลัง ถูกน้ำท่วมสูง 20-30 ซม. ระดับน้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ริมน้ำ ในจังหวัดภาคเหนือ ยังคงได้รับผลกระทบน้ำเอ่อเข้าท่วม เช่น คลองแม่ระกา ต.ท่าไม้ อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร น้ำท่วมชุมชนสูงกว่า 1 เมตร
ขณะที่ จ.มหาสารคาม ทหารต้องนำเรือท้องแบนช่วยผู้ประสบภัยตำบลท่าสองคอน อ.เมืองมหาสารคาม หลังฝนตกหนัก ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำโคกก่อ และอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน ไหลเข้าท่วมชุมชน และพื้นที่การเกษตรกว่า 400 ไร่
กรมทางหลวงเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ระบุว่า ได้เตรียมแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่เสี่ยง เช่น จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นนทบุรี และนครปฐม รวมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองสำคัญ เช่น คลองระพีพัฒน์ คลอง 13 และคลองพระยาบันลือ เนื่องจากปัจจุบันมีระดับน้ำสูงขึ้น ซึ่งเป็นในจุดที่มีความเสี่ยงจะมีน้ำหลากข้ามคันกั้นน้ำ
ขณะเดียวกันได้สั่งการให้แขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่ เฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิดและปรับปรุงสภาพผิวการจราจรให้สามารถรองรับการสัญจรของประชาชน และรายงานความเสียหายให้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
สำหรับพื้นที่ประสบเหตุได้สำรวจความเสียหาย ติดตั้งป้ายเตือนบริเวณน้ำท่วม แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทาง หากปริมาณน้ำลดลงทางเจ้าหน้าที่จะเร่งเข้าซ่อมแซมเส้นทางให้ใช้งานได้ตามปกติ
ขณะนี้เส้นทางกรมทางหลวงชนบทได้รับอุทกภัย 6 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ กระบี่ นครสวรรค์ นครพนม นครนายก และสุพรรณบุรี โดยบางเส้นทางได้เข้าสู่ภาวะปกติ 8 เส้นทาง แต่ยังมีเส้นทางที่ยังไม่สามารถสัญจรผ่านได้ คือ จังหวัดนครพนม ซึ่งมีน้ำท่วมสูงถึง 50 ซม.
ขอบคุณข่าวจาก