เคาะประตู เปิดดูแฟลต ขส.ทบ. บ้านใหม่ชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยา
เมื่อรัฐบาลมีโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาและให้ความช่วยเหลือชาวบ้านเรื่องที่อยู่อาศัยชาวบ้านก็ไม่ได้คัดค้าน เพราะไม่อยากถูกต่อว่า รุกล้ำแม่น้ำหรือทำให้แม่น้ำสกปรก
ตามที่รัฐบาลมีโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยาช่วงแรก ตั้งแต่สะพานพระราม 7- สะพานปิ่นเกล้า ระยะทางรวม 14 กิโลเมตร และได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบด้านการศึกษาและออกแบบโครงการพัฒนาพื้นที่
ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) รับมอบหมายให้จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยของชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 10 ชุมชน ได้แก่
(1.) ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่
(2.) ชุมชนวัดสร้อยทอง เขตบางพลัด
(3.) ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลนี
(4.) ชุมชนเขียวไข่กา
(5.) ชุมชนซอยศรีคาม(แนวเขื่อนไม่ชัดเจน)
(6.) ชุมชนราชผาทับทิม
(7.) ชุมชนศาลเจ้าแม่ทับทิม
(8.) ชุมชนมิตรคาม 1
(9.) ชุมชนมิตรคาม 2
(10.) ชุมชนวัดเทวราชกุญชร
โดยพอช. มีแนวทางรองรับอยู่ 3 แนวทาง คือ 1. ย้ายเข้าอยู่ในแฟลตขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) เขตดุสิต กรุงเทพฯ ใกล้รัฐสภาแห่งใหม่ 2. เข้าอยู่โครงการบ้านเอื้ออาทรท่าต้าหนัก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และ 3. จัดหาที่ดินเพื่อสร้างบ้านใหม่นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนเขียวไข่กา ย่านเกียกกาย ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอยู่ระหว่างย้ายเข้าอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ที่ทางรัฐบาลจัดเตรียมเอาไว้ให้ที่แฟลต ขส.ทบ.
ในพิธีเปิดโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาประชารัฐ พลเอกประวิตร ได้มอบกุญแจบ้านและทะเบียนบ้านให้แก่ตัวแทนชาวชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาชุดแรก จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเขียวไข่กา วัดสร้อยทอง และปากคลองบางเขนใหม่ ที่รื้อย้ายบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าอยู่อาศัยแฟลต ขส.ทบ.
ขณะที่ชุมชนที่เหลือ มีแผนในการรื้อย้ายและพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ตั้งแต่ปลายปีนี้
“ศักดิ์น้อย พรรณพิจิตร” ประธานชุมชนเขียวไข่กา ซึ่งครอบครัวอยู่อาศัยมาตั้งแต่รุ่นแม่ อยู่มานานไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี บอกว่า ชุมชนเขียวไข่กา มีทั้งหมด 21 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านเรือนในแม่น้ำเจ้าพระยามานานหลายสิบปี ชาวบ้านก็มีอาชีพค้าขายเล็กๆ น้อยอยู่ข้างโรงเรียนราชินีบน แต่เมื่อรัฐบาลมีโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาและให้ความช่วยเหลือชาวบ้านเรื่องที่อยู่อาศัยชาวบ้านก็ไม่ได้คัดค้าน เพราะไม่อยากถูกต่อว่า รุกล้ำแม่น้ำหรือทำให้แม่น้ำสกปรก
เมื่อ พอช.มาแนะนำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันพวกเราจึงตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นทุนสำรองที่อยู่อาศัย กำหนดเก็บเงินจากสมาชิกครัวเรือนละ 1,120 บาทต่อเดือน แยกเป็น 1,000 บาทเป็นค่าเช่าห้อง, 100 บาท สะสมหุ้นเข้าสหกรณ์เคหสถาน และ 20 บาทเป็นค่าบริหารจัดการและค่าส่วนกลาง
“เยาวนุช สมบูรณ์” อายุ 35 ปี ชุมชนเขียวไข่กา มีอาชีพขายหมูปิ้งอยู่ข้างโรงเรียนราชินีบน ครอบครัวมีทั้งหมด 5 คน บ้านเดิมที่ปลูกอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีสภาพคับแคบ เข้า-ออกลำบาก เมื่อ กทม.สร้างเขื่อนกั้นน้ำเป็นแนวยาว เวลาคนในครอบครัวเธอจะเข้า-ออกบ้านต้องใช้วิธีปีนข้ามเขื่อนสูงเกือบ 2 เมตร เด็กและคนแก่ยิ่งปีนข้ามอย่างยากลำบาก
เมื่อมาดูห้องพักที่แฟลต ขส.ทบ. เธอบอกว่า รู้สึกพอใจ เพราะห้องพักมีขนาดกว้าง มี 1 ห้องโถง 2 ห้องนอน ห้องน้ำและห้องส้วมแยกต่างหาก ซึ่งหากเป็นห้องเช่าของเอกชน ความกว้างขนาดนี้ ค่าเช่าคงไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,000 บาท
“บ้านเก่าที่เขียวไข่กาตอนนี้ ก็ทรุดแล้ว เวลาน้ำมาบ้านก็จะโยก และน้ำจะพัดเอากอผักตบชวามาติดอยู่ที่เสาบ้านด้วย บางครั้งก็จะมีงูเลื่อยขึ้นมาจากน้ำ ดูแล้วไม่ค่อยปลอดภัย ตอนนี้ได้เข้ามาอยู่แฟลต รู้สึกสะดวและปลอดภัย ค่าเช่าก็ถูกเดือนละ 1,000 บาทเอง” เยาวนุช เปรียบเทียบให้เห็น
คับที่อยู่ง่าย คับใจอยู่ยาก
ขณะที่“ไสว สุวรรณโคตร” อายุ 75 ปี ผู้อาศัยอยู่ชุมชนเขียวไข่กามาหลายสิบปี พยุงตัวด้วยเครื่องช่วยเดิน (Walker) มารับทะเบียบบ้านกับมือ พล.อ.ประวิตร บอกถึงความรู้สึกที่ในไม่ช้าเขาต้องย้ายไปอยู่แฟลต ขส.ทบ.ย่านเกียกกาย
"บ้านใหม่ที่ไปดูมาก็พออยู่ได้ แต่มันก็คงไม่สบายเท่าบ้านเก่าหรอก เพราะบ้านเก่านี้อยู่ใกล้ริมน้ำแม่น้ำธรรมชาติอยู่จนชิน เอาจริง ๆ ก็ไม่อยากย้ายมาที่ใหม่ แต่ที่ต้องย้าย เพราะไม่มีทางเลือก ทางการบอกว่าเราไปรุกล้ำพื้นที่ริมแม่น้ำ ขอให้ย้ายออก
ทำไมพึ่งจะไล่รื้อกันตอนนี้ก็ไม่เข้าใจ อยู่กันมาไม่ต่ำกว่า 80 ปี บ้านนทรุดโทรมก็ไม่เห็นมีหน่วยงานภาครัฐไหนจะช่วยมาดูแลเลย พอจะรื้อก็รีบมารื้อกันไวเลย"
“สงบ ชำนงด์วุฒิ” ลูกจ้างกทม. เห็นว่า เมื่อย้ายมาอยู่แฟลตขส.ทบ.เธอต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่หมด จากเดิมที่อยู่ริมแม่น้ำติดธรรมชาติที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นยายต้องมาอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ และที่สำคัญห้องที่ทางรัฐจัดให้นั้น ไม่ได้สวยงามแบบที่ออกไปตามสื่อเลย
"ไปดูในห้องซิ ไม่มีอะไรให้เลย ยังโล้น ๆ ว่าง ๆ มีแต่ห้อง กระจกก็หาย มุ้งรวดก็ขาด สีก็ต้องทาใหม่ ต้องมาทำเองแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาทำ สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ การย้ายเข้ามาอยู่ในแฟลตนี้ก็ยังไม่มีกำหนด ทางกทม.ก็ยังไม่ได้เข้ามาติดต่อพูดคุยเกี่ยวกับค่าตอบแทนในการรื้อถอนเลย โยนกันไปโยนกันมา ถ้าได้เงินส่วนนั้นมาจะได้เอาไปจ่ายค่าเข้าอยู่แฟลต"
ส่วนค่าเข้าอยู่อาศัยแฟลต ขส.ทบ.จำนวน 27,033 บาทนั้น เธอบอกว่า เป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควรสำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำ นี่ยังไม่รวมถึงค่าซ่อมแซมอีกกว่า 23,000 บาท ที่ผู้ถูกเวนคืนพื้นที่ต้องควักเนื้อออกเอง แม้ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ได้บอกว่าจะมีการให้เงินช่วยเหลือจำนวน 23,000 บาท แต่ตอนนี้ก็ไม่รู้เงินนั้นอยู่ที่ไหนเลย
"ทางพม.บอกช่วยมา 2 หมื่นกว่าบาท ช่วยยังไงก็ไม่เข้าใจ อยู่ ๆ มาให้เซ็นเช็ค แต่ก็ไม่บอกรายละเอียดเลยว่าเอาเงินตรงนี้ไปช่วยอะไรบ้าง ตอนที่เซ็นเช็คเขาบอกว่าจะทำให้ใหม่หมด แต่ใหม่หมดของเขา ใหม่แบบไหน ส่วนห้องของพี่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรเลย บอกเลยว่า ไม่มีทุนแล้วจะมาอยู่ได้ยังไง"
สำหรับแฟลต ขส.ทบ.บริเวณสี่แยกเกียกกาย ตั้งอยู่ใกล้กับรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นแฟลต 5 ชั้น 2 อาคารเชื่อมต่อกัน รวมทั้งหมด 64 ห้อง ขนาดพื้นที่ห้องละ 51 ตารางเมตร เดิมเป็นที่พักอาศัยของข้าราชการ ขส.ทบ. สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาได้ขอใช้แฟลตเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการรัฐสภา แต่เมื่อรัฐบาลมีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รัฐสภาจึงมอบแฟลตให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ใช้รองรับชาวบ้านที่ต้องรื้อย้าย โดยกรมธนารักษ์มีฐานะเป็นเจ้าของแฟลต และผู้ที่อยู่อาศัยจะต้องท้าสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ทุกๆ 3 ปี
สภาพห้องที่ยังไม่ได้ปรับปรุง
"จีรศักดิ์ พูลสง" หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ศปก.ทชพ) พอช. กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือชาวบ้าน พอช. จะสนับสนุนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบครัวเรือนละไม่เกิน 80,000 บาท โดยแยกเป็น
1. อุดหนุนที่อยู่อาศัยครัวเรือนละ 25,000 บาท
2. พัฒนาระบบสาธารณูปโภคครัวเรือนละ 50,000 บาท
และ 3.งบบริหารจัดการครัวเรือนละ 5,000 บาท
ทั้ง 3 รายการดังกล่าว พอช. ไม่ได้จ่ายให้ชาวบ้านเป็นเงินสด แต่จะอยู่ในรูปของงบอุดหนุน ในกรณีแฟลต ขส.ทบ. ทางพอช. อุดหนุนงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค (ซ่อมห้อง , ระบบประปา , ระบบไฟฟ้า) ค่าธรรมเนียมการเช่า ส่วนค่าเช่ารายเดือน เดือนละ 1,001 บาท ชาวบ้านจะต้องจ่ายเอง โดยจ่ายผ่านสหกรณ์เคหสถานที่ชาวบ้านจะร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา เพื่อนำเงินค่าเช่าไปชำระให้กับกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของแฟลต
หัวหน้าศปก.ทชพ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ โครงการบ้านเอื้ออาทรนครชัยศรี (ท่าตำหนัก) อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งอยู่ห่างจากที่อยู่อาศัยเดิม ประมาณ 30 กิโลเมตร ยังมีห้องว่างสามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้หลายสิบครอบครัว ขณะนี้มีชาวชุมชนราชผาทับทิม และชุมชนศาลเจ้าแม่ทับทิม เขตดุสิต จำนวน 27 ครัวเรือน แจ้งความประสงค์ที่จะเข้าไปอยู่อาศัยในโครงการนี้ ทั้งนี้การเคหะฯ ได้ลดราคาให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาจากราคายูนิตละ 420,000 บาท เหลือ 400,000 บาท ขนาดพื้นที่ 31 ตารางเมตร โดยชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สะสมเงินเข้ากลุ่มครัวเรือนละ 300 บาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิสูจน์สิทธิ์ผู้ที่มีสิทธิ์อยู่อาศัย หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนทำสัญญาซื้อขายกับการเคหะฯ คาดว่าชาวบ้านจาก 2 ชุมชนจะเข้าอยู่อาศัยได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยใช้เงินออมของชาวบ้านและสินเชื่อจาก พอช. (ไม่เกิน 330,000 บาท) ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2,500-2,700 บาท ระยะเวลา 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีที่ดินของบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์จำกัด มหาชน (บสก.) ขนาดเนื้อที่ 2 ไร่เศษ ตั้งอยู่ในเขต อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ราคาขายประมาณ 12.7 ล้านบาท สามารถรองรับชาวบ้านได้ประมาณ 70 ครัวเรือน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาซื้อขายที่ดิน หากการซื้อขายสำเร็จ จะเริ่มปรับที่ดินเพื่อก่อสร้างบ้านได้ภายในเดือนมกราคม 2560 และจะก่อสร้างบ้านเสร็จภายในปีเดียวกัน
ในส่วนของผู้ที่ไม่ต้องการอยู่อาศัยตามแนวทางดังกล่าว อยากจะหาที่อยู่อาศัยเอง หรือย้ายกลับต่างจังหวัด รวมทั้งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ขณะนี้กทม.อยู่ในระหว่างการกำหนดเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้าน โดยจะต้องนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาเห็นชอบก่อนจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้านต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไฟเขียวจ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา 3 กลุ่ม