บิ๊ก บ.สหรัตนฯปูด กนอ.กลับลำเรียกสร้างเขื่อนให้เสร็จ คืนสิทธิให้ ยันเลยจุดเจรจา
ผู้บริหาร บ.สหรัตนนคร เผยถูกสั่งห้กลับมาทำงานเก่าให้เสร็จ อ้างคืนสิทธิให้ หลังพิทักษ์ทรัพย์สินบริษัทฯ ทำขาดสภาพคล่อง เผยถ้าชำระเงินตรงเวลา งานเสร็จไปแล้ว ขณะที่ กนอ. เตรียมของบฯ ฉุกเฉิน ออกแบบโครงการใหม่
สืบเนื่องจาก ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท สหรัตนนคร จำกัด ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมใน จ.อยุธยา เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2559 และมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 17 พ.ค. 2559 (คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 52/2551) ขณะที่ นางธีรนาฏ โชควัฒนา ผู้อำนวยการบริษัทฯ ในฐานะผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร พร้อมคณะ เดินทางชี้แจงข้อเท็จจริง สรุปได้ว่า เหมือนถูกหลอกให้ลงทุน บริษัทฯ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ กรณีสร้างเขื่อนกันน้ำไม่ทันเวลาที่กำหนดในสัญญา โดยงบฯ ก่อสร้างเดิมอยู่ที่ 660 ล. บริษัทฯ ลดเหลือ 558 ล. ภาครัฐสนับสนุนเงินจำนวน 226 ล. แต่ให้จริงแค่ 100 ล. ขณะที่ ทวงถามอยู่ 8 เดือน อ้างบริษัทฯ สร้างเขื่อนดิน (อ่านประกอบ : บิ๊ก บ.สหรัตนนคร เล่า 'เบื้องหลัง' ถูก กนอ.บีบยึดนิคมอุตฯ ปมสร้างเขื่อนไม่ทันเวลา)
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2559 นางธีรนาฏ โชควัฒนา ผู้อำนวยการ บริษัท สหรัตนนคร จำกัด เปิดเผยผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงความคืบหน้าล่าสุดกรณีข้างต้นว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับการติดต่อจาก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยระบุให้กลับมาทำงานก่อสร้างเขื่อนให้เสร็จ แล้วจะคืนสิทธิให้กับบริษัทฯ ทั้งที่เลยจุดนั้นไปแล้ว บริษัทฯ ถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไปแล้ว
"ก่อนหน้านี้ บริษัทฯ ทำงาน แต่ทาง กนอ. กลับไม่จ่ายเงินให้ ทำให้บริษัทฯ เขาดสภาพคล่อง ให้หาเงินเราหาได้ แต่ถ้าเราไม่ได้เงินคืนอีกล่ะ แล้วเราต้องทำอย่างไร ไม่ทำตามนโยบายก็ผิด ไม่ทำตามกฎหมายก็ผิด ถ้ามีการชำระเงินที่ตรงต่อเวลา ป่านนี้งานก็คงเสร็จไปแล้ว ตอนนี้ทำต่อไม่ได้เพราะถูกยึดไปแล้ว ทั้งนี้ ปีใหม่ที่จะถึงนี้ ทาง กนอ. จะออกแบบโครงการใหม่ โดยเป็นการของบฯ ฉุกเฉิน ซึ่งอาจต้องเวลาอีกพอสมควร ส่วน กรณีเขื่อนที่ก่อสร้างไว้แล้ว นั้น ไม่จำเป็นต้องรื้อ สามารถสร้างต่อได้เลย ไม่ต้องออกแบบใหม่"นางธีรนาฏกกล่าว
ก่อนหน้านี้ นางธีรนาฏ กล่าวว่าการกระทำของ กนอ. มีเจตนาให้บริษัทฯ ล้มละลาย เพื่อต้องการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และเข้าครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบสาธารณูปโภคของบริษัทฯ ทั้งหมด โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 186 วรรคสอง กนอ. จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ซึ่งบริษัทฯ ได้ต่อสู้คดีเรื่องดังกล่าวต่อศาลล้มละลายกลาง ทั้งนี้ ได้เจรจากับผู้ว่า กนอ. แล้ว ผู้ว่าฯ ระบุสาเหตุว่า เนื่องจากเป็นห่วงผู้ประกอบการ ซึ่งจริง ๆ แล้ว กนอ. ไม่อยากเข้ามาบริหาร เพราะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางครั้งก็คิดว่าง่ายดี รัฐบาลไม่ต้องลงทุนอะไร อยู่ดี ๆ ให้เอกชนเข้ามาลงทุนแล้วก็ยึด คล้ายหลอกให้เราทำงาน สมัยก่อน กลุ่มเราลงทุนมากที่สุด เป็นคนก่อตั้ง เป็นคนบริหารนิคมฯ ตั้งแต่ยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า และไม่ได้ทำที่นาของชาวบ้านเสียหายด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อไปที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แล้ว แต่ไม่มีใครรับสาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กนอ. ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วว่า เนื่องจาก บริษัท สหรัตนนครฯ สร้างเขื่อนกั้นน้ำเสร็จไม่ทันตามกำหนดเวลา มีการก่อสร้างล่าช้า ทำให้เอกชนขาดความมั่นใจ ไม่เชื่อมั่น และบริษัทฯ มีปัญหากู้เงินไม่ได้ ทำให้ต้องชะลอการสร้างเขื่อนมาจนถึงปัจจุบัน
จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มี นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม เป็นผู้ว่าการ และมี พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เป็นประธานกรรมการ และเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.)