ผิดหวัง สตง.เร่งสรุปปม‘บิ๊กป้อม’ บินฮาวายไร้ทุจริต ชี้พิรุธเพียบ-จี้ทบทวน
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ผิดหวัง สตง. เร่งรีบสรุปผลปม ‘บิ๊กป้อม’ บินฮาวายไร้ทุจริต ชี้มีพิรุธเพียบ ฝ่าฝืนค่านิยม 12 ประการ-ขัดมติ ครม. ห้ามพา ขรก.บินนอกโดยไม่จำเป็น จี้ทบทวนพฤติกรรมตัวเอง สอบใหม่ เรียกศรัทธากลับคืนมา
จากกรณีนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงผลการตรวจสอบโครงการเช่าเหมาลำเครื่องบินการบินไทย ราคากลาง 20.9 ล้านบาท ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และคณะรวม 38 ราย เดินทางไปยัง ‘ฮาวาย’ เพื่อประชุมเรื่องความมั่นคง โดยยืนยันว่า ไม่พบการทุจริต และไม่เกิดความเสียหาย เพราะเหมือนเป็นงบประมาณที่จ่ายจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่ ได้ส่งเครื่องให้คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 11 ต.ค. 2559
ทั้งนี้แหล่งข่าวจาก สตง. ยืนยันว่า พ.ต.หญิง ชลรัศมี งาทวีสุข ผู้ประกาศข่าวชื่อดังช่อง 5 และนายภัคพล งามลักษณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ได้ร่วมเดินทางไปด้วย ส่วนข้อเท็จจริงเรื่องอาหารนั้น มีการใช้ไข่ปลาคาเวียร์จริง แต่เป็นแค่เครื่องเคียงอาหารบางรายการ ไม่ได้เป็นรายการอาหารหลักแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : ไม่มีอะไรทุจริต!สตง.การันตี 'บิ๊กป้อม' ประชุมฮาวาย20ล.-'ไข่คาเวียร์'แค่เครื่องเคียง!)
ล่าสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านผลการตรวจสอบของ สตง. กรณีดังกล่าวว่า ตามที่ ผู้ว่า สตง. ได้ออกมาแถลงเปิดเผยว่าไม่พบประเด็นการทุจริตค่าใช้จ่าย 20.9 ล้านบาท กรณีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและคณะ เช่าเครื่องบินเหมาลำของการบินไทย เดินทางไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนบวกสหรัฐอเมริกาที่มลรัฐฮาวาย เมื่อวันที่ 29 ก.ย.- 1 ต.ค.59 ที่ผ่านมานั้น
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยรู้สึกผิดหวังกับการทำหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่เร่งรีบออกมาแถลงผลการตรวจสอบเบื้องต้นดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้ครบถ้วน ถูกต้องตามขั้นตอน วิธีการ ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 39 (2) (ก.) ประกอบมาตรา 37 (3) และมาตรา 41 กำหนดไว้แต่อย่างใด ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีการตรวจสอบการรับจ่าย การเก็บรักษา และการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินอื่นของหน่วยรับตรวจ หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจ และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ และอาจตรวจสอบการใช้จ่ายเงินการใช้จ่ายทรัพย์สินอื่นหรือการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนงาน งานหรือโครงการของหน่วยรับตรวจและแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป็นไปโดยประหยัด ได้ผลตามเป้าหมายและมีผลคุ้มค่าหรือไม่
ซึ่งกระบวนการเช่าเหมาลำเครื่องบินของการบินไทยดังกล่าว สังคมมีข้อพิรุธและข้อครหามากมาย อาทิ การใช้เครื่องบินที่มีขนาดใหญ่เกินเหตุ การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินที่ไม่เหมาะสม การกินไข่ปลาคาเวียร์ การนำบุคคลที่ไม่สมควรเดินทางไปกับคณะ ฯลฯ ไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 มีนาคม 2558 และฝ่าฝืนค่านิยม 12 ประการของหัวหน้า คสช. โดยชัดแจ้ง อีกทั้งการแสวงหาข้อมูลของผู้เดินทางทั้ง 38 คนที่ สตง. นำมาแถลงนั้น ก็เป็นเพียงเอกสารที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานคู่กรณีที่ถูกร้องเรียน เหตุใด สตง. ไม่แสวงหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานอื่นมาถ่วงดุลยืนยัน เหตุใดจึงเชื่อแต่เฉพาะเอกสารของผู้ถูกร้องเรียนแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น อีกทั้งผู้บริหารการบินไทยก็ออกมาแถลงเมื่อก่อนหน้านี้ว่า รายละเอียดของค่าใช้จ่ายต้องรอทางสหรัฐส่งบัญชีเรียกเก็บมาก่อนซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงจะทราบผล เหตุใด สตง. ยังไม่ทันเห็นเอกสาร จึงมีดวงตาทิพย์ที่สามารถล่วงรู้ข้อมูลดังกล่าวได้ล่วงหน้า และเร่งรีบออกมาแถลงผลการตรวจสอบอย่างรุกลี้รุกรน
“สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอเรียกร้องให้ ผู้ว่า สตง. ได้พิจารณาทบทวนพฤติกรรมและการกระทำของตนเองเสียใหม่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการก่อกำเนิดสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 อย่างเคร่งครัด อย่าตกอยู่ภายใต้ดวงตาทิพย์หรือมือที่มองไม่เห็น เพื่อเรียกความศรัทธาต่อสาธารณชนให้กลับคืนมาก่อนที่จะสายเกินไป” นายศรีสุวรรณ ระบุ