ภัยจาก‘คนใกล้ชิด’มรสุมชีวิต‘บิ๊กตู่’ ไม่ทำให้เคลียร์เตรียมนับถอยหลังเก้าอี้นายก?
“…ครั้งรัฐประหารใหม่ ๆ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่หลายคนต่างแซ่ซ้องยกย่องให้เป็น ‘ฮีโร่’ เข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ล้างภาพลักษณ์นักการเมืองโกงกินออกไป พูดอะไรแบบไหนใครก็ชอบ คนก็รักก็หลง เชื่อไปหมดทุกอย่าง แต่ปัจจุบันยิ่งพูดอะไรออกไป สังคมก็เห็นว่าเป็นเพียงการพูดแก้ตัวให้ดูดีเท่านั้น เพราะทางในปฏิบัติจริง ก็ยังเห็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับ คสช. นั่งเก้าอี้ตัวเดิมอยู่ และไม่ได้ดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ?...”
ไม่ใช่แค่ปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง
แต่กลับกลายเป็นเรื่องของ ‘คนใกล้ชิด-ญาติมิตรพี่น้อง’ ที่กำลังถูกสังคมจับตาตรวจสอบถึงความไม่ชอบมาพากลในการทำงาน ?
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านประชามติ เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา บรรดาคนใกล้ชิดกับ ‘บิ๊ก คสช.’ ต่างก็ถูกขุดคุ้ยกรณี ‘ฉาว’ หลาย ๆ อย่าง
จนบางครั้งมีบางฝ่ายนำมาเชื่อมโยงว่า เป็นแผน ‘ล้ม’ รัฐบาล ‘คสช.’
แต่ก็ปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกันว่า หลาย ๆ กรณีที่ ‘คนใกล้ตัว’ พล.อ.ประยุทธ์ ทำลงไป อาจเข้าข่าย ‘Conflict of interest’ หรือ ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ได้ ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อเท็จจริงกรณีต่าง ๆ ที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในปัจจุบัน สรุปได้ ดังนี้
ไล่เรียงมาตั้งแต่ต้นปี 2559 กรณี ‘บิ๊กติ๊ก’ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 เมื่อครั้งนั่งปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เซ็นคำสั่งบรรจุ ‘นายปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา’ บุตรชายแท้ ๆ ให้เป็นนายทหารปฏิบัติการกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 3
กระทั่งโดนหลายฝ่ายออกมาโจมตีว่าการกระทำดังกล่าว เหมือนกับการ ‘เอื้อประโยชน์’ ให้กับบุตรชายของตัวเองในการเข้าไป ‘ติดยศ-ประดับดาว’ ในแวดวงทหาร ทั้ง ๆ ที่ลูกตาสีตาสาคนอื่น ๆ ยังต้องสอบเข้าตามปกติ
แม้ ‘บิ๊กติ๊ก’ จะออกมาชี้แจงว่า ทำได้-ใคร ๆ เขาก็ทำกันก็ตาม แต่เมื่อเปิด พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 พบว่า มาตรา 13 สรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ หากเป็นญาติของคู่กรณี เป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ และในมาตรา 14 สรุปได้ว่า หากพบกรณีตามมาตรา 13 ให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นหยุดการพิจารณาเรื่องไว้ก่อน และแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งทราบ เพื่อที่ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวจะได้มีคำสั่งต่อไป
ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นเหตุผลจากฝ่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ต่อ แต่ได้ทำความเห็นแจ้งไปยัง รมว.กลาโหม ว่า หากเกิดกรณีคล้าย ๆ กันอย่างนี้อีก ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ อย่างเคร่งครัด !
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ไม่สอบ! ปม‘ปรีชา’บรรจุ‘ลูก’ เป็นทหารชง รมว.กห.เข้มงวด กม.ปกครอง)
ต่อมาช่วงเดือน ก.ย. 2559 มีการแพร่ภาพ นางผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภรรยา พล.อ.ปรีชา พร้อมด้วยคณะทหารเดินทางไปเปิดฝาย ‘แม่ผ่องพรรณพัฒนา’ ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า นางผ่องพรรณ เป็นแค่นายกสมาคมภริยาข้าราชการกระทรวงกลาโหม ทำไมถึงเดินทางไปพร้อมกับคณะทหาร และใช้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกได้ ?
ประเด็นร้อนต่อเนื่องมาถึงคิวของ นายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชายอีกคนของ พล.อ.ปรีชา และนางผ่องพรรณ ที่พบว่า เปิด หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น เข้าไปรับงานจากกองทัพภาคที่ 3 รวมถึงหน่วยงานอื่นเป็นจำนวนไม่น้อย รวมวงเงินร้อยกว่าล้านบาทเศษ ทั้งที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า มีอุปกรณ์แค่เพียงรถปิกอัพหนึ่งคัน และออฟฟิศหนึ่งแห่งเท่านั้น แต่กลับปาดหน้าคว้างานรัฐไปได้หลายโครงการ ขณะที่เอกชน ‘คู่เทียบ’ ต่างเป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงนี้ และเป็นหน้าเดิม ๆ ที่เข้าร่วมประมูลทุกครั้งด้วย
ประเด็นออฟฟิศนี้เองที่ถูกขุดคุ้ยว่า ตั้งอยู่ในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นที่ตั้งเดียวกับกองทัพภาคที่ 3 จ.พิษณุโลก แต่เมื่อติดต่อไปยังกองทัพภาคที่ 3 หลายฝ่ายต่างออกมายืนยันว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อน แม้แต่ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 คนปัจจุบันก็ยังไม่รู้เรื่อง ?
ส่งผลให้สังคมกระหึ่มโจมตีทันทีว่า การกระทำดังกล่าวโปร่งใสสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และเข้าข่าย 'ผลประโยชน์ทับซ้อน' หรือเปล่า ?
กระทั่งบรรดา ‘บิ๊ก คสช.’ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่า สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย และไม่รู้จะตรวจสอบอย่างไร
ต่อมามีผู้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบทั้งกรณีนางผ่องพรรณ และ หจก.คอนเทมโพรารี ของนายปฐมพล เข้าไปรับงานกองทัพภาคที่ 3 แล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริงอยู่
(อ่านประกอบ : ชัดๆ! เปิดระเบียบ ก.กลาโหม ห้าม ขรก.ทหาร มี'ผลประโยชน์ทับซ้อน', ที่ตั้ง หจก. ‘ปฐมพล จันทร์โอชา’ อยู่ในค่ายทหาร-แจ้งงบการเงินมีเครื่องมือ 7 แสน, ทหารโผล่ถ่ายคลิป! ร้อง ป.ป.ช. สอบปมใช้ทรัพย์สินราชการสร้าง 'ฝายเมียปรีชา')
แต่เมื่อเรื่องต่าง ๆ เริ่มเงียบลงไป เรื่องใหม่ก็มาอีก !
กรณีล่าสุดคือ พล.อ.ประวิตร พร้อมคณะทำงาน เดินทางไป ‘ฮาวาย’ เพื่อถกประเด็นความมั่นคงกับบรรดา รมว.กลาโหม สหรัฐอเมริกา และ รมว.กลาโหม จากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน โดยขนคนไปประมาณ 38 ราย เช่าเหมาลำเครื่องบินจากการบินไทย ประมาณราคากลางไว้ 20.9 ล้านบาท (แต่จ่ายจริงยังไม่รู้ว่าเท่าไหร่ เพราะฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่าใช้จ่ายไม่ถึง แต่ไม่ได้ระบุตัวเลขชัดเจน)
นอกเหนือจากประเด็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนแล้ว ยังถูกบางฝ่ายขุดคุ้ยว่า ‘ทริป’’ นี้ มีการพา ‘นักข่าวช่อง 5’ รวมถึงคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องไปด้วย ?
ล่าสุด นางเหมือนฝัน คงศรี บก.ข่าวสายทหาร ช่อง 5 ยืนยันแล้วว่า นักข่าวที่ร่วมเดินทางไปกับคณะ ‘บิ๊กป้อม’ มีแค่ตนกับช่างภาพ รวม 2 รายเท่านั้น ขณะที่ พ.ต.หญิง ชลรัศมี งาทวีสุข ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ช่อง 5 ออกมายืนยัน 2 ครั้งซ้อนว่า ไม่ได้ร่วมเดินทางไปด้วย เพราะต้องจัดรายการข่าวเช้าแบบ ‘สด’ อยู่ที่สตูดิโอช่อง 5
ทั้งหมดคือบุคคลที่ ‘ใกล้ชิด-ญาติมิตรพี่น้อง’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตอนนี้ต้องรับบทหนัก คอยเป็นปากเป็นเสียงแจงแทน ขณะที่มวลชนที่คอยเป็นกำลังใจให้ก็เริ่มลดหายไปเรื่อย ๆ ทีละน้อย ๆ
ซึ่งต่างจากภาพเมื่อครั้งรัฐประหารใหม่ ๆ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่หลายคนต่างแซ่ซ้องยกย่องให้เป็น ‘ฮีโร่’ เข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ล้างภาพลักษณ์นักการเมืองโกงกินออกไป พูดอะไรแบบไหนใครก็ชอบ คนก็รักก็หลง เชื่อไปหมดทุกอย่าง
แต่ปัจจุบันยิ่งพูดอะไรออกไป สังคมก็เห็นว่าเป็นเพียงการพูดแก้ตัวให้ดูดีเท่านั้น เพราะทางในปฏิบัติจริง ก็ยังเห็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับ คสช. นั่งเก้าอี้ตัวเดิมอยู่ และไม่ได้ดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ?
เทียบให้ง่ายคือ หมุนเข็มนาฬิกากลับไปสมัยรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีครั้งแรก ที่ผู้คนต่างพากันยกย่องว่า คนนี้แหละคือผู้ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าทัดเทียมกับอารยะประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาผงาดอีกครั้งหนึ่ง
แต่ทำไปทำมา เริ่มเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นหลายอย่างจากคนใกล้ตัวของ ‘ทักษิณ’ ลามมากระทั่งถูกขุดคุ้ยเรื่อง ‘ซุกหุ้น’ จนทำให้กระแสนิยมเริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ ท้ายสุดถูกมวลชนขับไล่ ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุกในคดี ‘ที่ดินรัชดา’ และกลับเข้าประเทศไม่ได้จวบจนปัจจุบัน
นี่คือ ‘มรสุม’ ที่รัฐบาล และตัว ‘บิ๊กตู่’ เผชิญเช่นเดียวกับ ‘ทักษิณ’ ที่ปัญหาเริ่มจาก ‘คนใกล้ตัว’
นี่ยังไม่นับกรณี นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ อดีตผู้ว่าจันทรบุรี ที่ถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ‘ประหารชีวิตราชการ’ พักงานยาวกระทั่งเกษียณ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าถูกพักงานเพราะโดนสอบเรื่องอะไร จนต้องตัดพ้อเขียนกลอน ‘ศรีปราชญ์’ ขอบคุณ
และกรณีนายอำนาจ สุนทรธรรม อดีตเลขาธิการคุรุสภา ที่ถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. พักงานเช่นกัน จนกระทั่งต้องทำหนังสือถามคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ว่า ผิดอะไร จน คตร. ตอบกลับมาว่า ไม่ได้ทำอะไรผิด ส่งผลให้นายอำนาจกลับไปดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนใน จ.กาญจนบุรีแทน เพราะ คสช. ไม่ได้เยียวยาอะไร
รวมไปถึงกรณีล่าสุดที่ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด (อสส.) สั่งย้ายนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม จากรองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เป็นรองอธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด พร้อมสั่งสอบกรณีโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ
หรือแม้แต่มีหน่วยงานราชการบางแห่ง (ไม่ระบุชื่อ) ส่งเมล์มาถึงสำนักข่าวอิศราขอให้ปิดข่าวที่เกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน พล.อ.ปรีชา และรายงานข่าวธุรกิจของ พ.ต.หญิง ชลรัศมี ซึ่งก็ยังเป็นความลับดำมืดว่าตกลงแล้ว เป็นฝีมือใคร ?
(อ่านประกอบ : อดีตเลขาคุรุสภาถูก ม.44 โผล่นั่ง ผอ.ร.ร.! เจ้าตัวยัน คตร.สอบไม่พบทุจริต, อดีตผู้ว่าฯจันทบุรี โดนม.44 เกษียณอายุฯ ยกกลอน'ศรีปราชญ์'ขอบคุณ 'บิ๊กตู่', เป็นทหาร 40 ปี ไม่คิดทำร้ายใคร! 'บิ๊กตู่' แจงโดนอดีตผู้ว่าฯม.44 ยกกลอน'ศรีปราชญ์' ขอบคุณ, จากกรณี 'ปรีชา' ถึง 'ชลรัศมี' บทสะท้อน 'กำปั้นเหล็ก' คุกคามสื่อ ใต้เงา รบ.ประยุทธ์! , สั่งเด้งซ้ำ! 'รองอธิบดีอัยการ' โพสต์วิจารณ์กรณี 'น้องบิ๊กตู่' หลังถูกตั้งกก.สอบ)
ซึ่งประเด็นเหล่านี้เอง ที่อาจเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้คนเชื่อมโยงถึง ‘บิ๊กตู่’ ?
แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า ในการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว แค่เซ็นตามที่มีคนเสนอเรื่องเข้ามา เลยพิจารณาไปตามนั้นก็ตาม
นี่จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาล และตัว ‘บิ๊กตู่’ เอง เริ่มกระแสนิยมถดถอยลงไปเรื่อย ๆ
และในอนาคตตามแผนการปฏิรูปประเทศของ คสช. ที่วางแผนไว้ยาวถึง 20 ปี จะดำเนินการได้อย่างไรต่อ หากแค่ในช่วงที่เป็นรัฐบาลยังมีปัญหามากมายขนาดนี้ ?
และการเลือกตั้งที่จะต้องเกิดในช่วงปลายปี 2560 ตามโร้ดแม็พ คสช. จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าตอนนี้ยังมีมวลชนบางส่วน นักการเมือง และพรรคการเมืองบางพรรคให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีก
แต่หากยังเกิดปัญหาต่าง ๆ ประดังเข้ามา และตัว ‘บิ๊กตู่’ เองทำได้แค่ชี้แจง แต่ไม่ลงมือแก้ให้เห็นเป็นรูปธรรม จัดการตัวเอง และคนใกล้ชิดให้ ‘เคลียร์’ และ ‘โปร่งใส’
อาจต้องเตรียมนับถอยหลังในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เลย ?