ระดมแผนวิทย์ฯชาติ “หมอประเวศ”แนะตัดงบ 5% สร้างชุมชนเข้มแข็ง
ระดมความคิดร่างแผนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชาติฉบับแรก เล็งเป้า 10 ปีสร้างทุนมนุษย์ พัฒนาท้องถิ่น เพิ่มผลผลิตเกษตรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 “หมอประเวศ”เสนอตัดงบร้อยละ 5 โครงการขนาดใหญ่มาสร้างความเข้มแข็งชุมชน ประธานสภาอุตสฯ ชี้ต้องพัฒนาทั้งอุตสาหกรรมและต่อยอดรากหญ้า
เร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทน.) จัดประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา“ประเทศไทยก้าวไกล ก้าวกัน ก้าวหน้า” ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมนานาชาติกรุงเทพไบเทคบางนา โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่าสถานการณ์ที่น่าห่วงมากที่สุดคือการขาดแคลนบุคลากร และการที่ไทยขาดทุนปีละกว่าแสนล้านบาทจากการนำเข้านวัตกรรมต่างชาติ ส่วนด้านที่ดีคือมีความก้าวหน้าเช่น การริเริ่มร่างนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (พ.ศ.2555-2564) เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งสมัชชาครั้งนี้จะนำไปประกอบการจัดทำร่างแผนดังกล่าวเสนอรัฐบาล
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วทน.) กล่าวว่านโยบายและแผนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมฉบับแรก วางเป้าหมายการพัฒนา 10 ปีภายใต้วิสัยทัศน์“นวัตกรรมสีเขียวเพื่อเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งกัน รักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมที่มีคุณภาพ” ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รองรับกระแสโลกาภิวัฒน์ ประชากร ภูมิประเทศ และประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์คือพัฒนาความเข้มแข็งของสังคมชุมชน และท้องถิ่น , เพิ่มขีดความสามารถ ความยืดหยุ่น และนวัตกรรมในภาคเกษตร ผลิตและบริการ, เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พัฒนาและเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงประเทศ
“เป็นการระดมความคิดจากทุกส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ ภาคชุมชน ภาคประชาชน เอ็นจีโอ ซึ่งเมื่อมั่นใจแล้วว่าไม่มีประชาชนคัดค้านจึงจะนำเสนอต่อ ครม. คาดว่าหลังจากนี้จะใช้เวลาไม่นาน”
ดร.วีระชัย กล่าวอีกว่า ระยะเวลา 10 ปีของแผนฯ จะขอเงินลงทุนจากยอดจีดีพีที่ปัจจุบันได้อยู่ 0.2% เป็น 2% และเพิ่มจำนวนนักวิจัยเต็มเวลาเป็น 25 คนต่อประชาชน 10,000 คน เนื่องจากปัจจุบันมีเพียง 6-7 คน และจะผลักดันให้เอกชนสนับสนุนการวิจัยเป็นสัดส่วน70:30 จากเดิมที่รัฐสนับสนุน 60% ทั้งนี้ได้เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่าร่างแผนวิทยาศาสตร์ฯ จะลงลึกถึงภาคการเกษตร เนื่องจากจะเร่งเพิ่มผลผลิตให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3
จากการ VDO Conference ร่วมกับผู้แทนภาคประชาชนจากศูนย์การจัดทำข้อมูลแผนวิทยาศาสตร์ฯ 7 แห่ง ได้มีการเสนอปัญหาการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และปัญหาหนี้สิน ซึ่ง รมว.วทน. กล่าวว่าจะร่วมกับกระทรวงต่างๆ จัดศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สร้างศูนย์เรียนรู้ชุมชน ทั้งนี้ปัจจุบันได้รับงบประมาณด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชน ซึ่งจะเริ่มแก้ปัญหาได้ประมาณ 80 แห่ง และขยายต่อไปอีก 10 เท่า ส่วนเสียงสะท้อนว่า ปัจจุบันเด็กไม่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์เนื่องจากจบมาแล้วไม่มีงานทำ ก็จะเร่งสร้างแรงจูงใจด้วยการสร้างหลักประกันว่าจบแล้วมีงานทำแน่น่อน
ขณะที่ นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวถึงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับการปฏิรูปว่า เรื่องใหญ่ที่สุดคือการเปลี่ยนระบบบริหารที่ใช้กรมต่างๆมาเป็นหลักเทศาภิวัฒน์หรือใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ส่วนแผนที่มียังขาดการพัฒนาเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ที่บอกว่าจะนำไปใช้อย่างไรและอะไรเป็นเครื่องมือ เช่น ใช้สถาบันการศึกษาที่มีอยู่ร้อยกว่าแห่งทั่วประเทศเป็นแหล่งรวบรวมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สร้างสถาบันด้านนี้ที่ไม่อิงกับรัฐบาล แต่สามารถบริหารงานร่วมกับชุมชนต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม หรือสร้างความเข็มแข็งของวิทยาศาสตร์พื้นฐานให้เกิดในท้องถิ่นโดยการทอนงบประมาณร้อยละ5 ของโครงการด้านนี้ขนาดใหญ่มาจัดการในลักษณะเชื่อมกันทุกภาคส่วน
นายเชิญพร เต็งอำนวย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรทำหน้าที่ต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งปัจจุบันไทยตกอันดับถูกแซงหน้าไปมาก โดยจากเฉพาะเวียดนาม นอกจากนี้ยังต้องทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าถึงรากหญ้า ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ด้วย เพราะทุกวันนี้เกษตรกรต้องเปลี่ยนวิถีการผลิตมาเพื่ออุตสาหกรรมมากขึ้น จะทำอย่างไรให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับอะไรคืนไปบ้าง นั่นเป็นโจทย์ใหญ่ .