เปิดคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดมัด! คำสั่ง ป.ป.ช.เลื่อนตำแหน่ง ขรก.มิชอบ
“…ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อ 3 ของระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ให้อำนาจไปดำเนินการออกกฏได้ ส่วนการตั้งหลักเกณฑ์นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถทำได้ตามมาตรา 107 วรรคหนึ่ง (2) แต่หากต้องการให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย จะต้องให้ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย แต่ในเมื่อไม่มีการลงนาม หลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำสั่งเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน…”
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงอีกหนึ่งเรื่องสำหรับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ปัจจุบันกำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน !
กรณีนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ที่ยื่นเรื่องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. คนปัจจุบัน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีไม่ยอมเพิกถอนคำสั่งเลื่อนตำแหน่งข้าราชการประจำสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 35 ราย เป็นข้าราชการระดับ 7 ระดับ 8 และระดับ 9 เมื่อช่วงปี 2548 ที่เซ็นโดยเลขาธิการ ป.ป.ช. คนเก่า
ทั้งที่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อช่วงกลางปี 2558 ระบุชัดเจนว่า คำสั่งเลื่อนตำแหน่งข้าราชการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฏหมาย แต่ปัจจุบันระยะเวลาผ่านมาปีเศษแล้ว นายสรรเสริญก็ยังไม่ยอมเซ็นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ทั้งนี้ข้าราชการ ป.ป.ช. จำนวน 35 รายดังกล่าว ปรากฏรายชื่อของ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับ 8 และได้เลื่อนเป็นระดับ 9 ตามคำสั่งดังกล่าว กระทั่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นจึงเทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดี และมีสิทธิเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. กระทั่งปัจจุบันได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แล้วเมื่อช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา
แต่หากมีการเพิกถอนคำสั่งเลื่อนตำแหน่งดังกล่าว จะทำให้นายวิทยา อยู่ที่ข้าราชการระดับ 8 เท่านั้น และไม่ได้เทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดี จึงไม่มีสิทธิเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และอาจทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ได้ เนื่องจากคุณสมบัติไม่เข้าตามระเบียบการสรรหาบุคคลเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ?
(อ่านประกอบ : ร้องสอบ เลขาฯป.ป.ช.ละเว้น! ไม่เพิกถอนคำสั่งเลื่อนตำแหน่ง 'วิทยา-35 ขรก.' มิชอบ)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นเช่นไร ทำไมนายสรรเสริญถึงยังไม่ยอมเพิกถอนคำสั่งเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวก็ตาม
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวมานำเสนอ พบข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
คดีนี้มี นายประมุข มหานันทโพธิ์ และนายสุริยศักดิ์ กัลยาณมิตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สิน สำนักตรวจสอบทรัพย์สิน 3 สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 2 มีสำนักงาน ป.ป.ช. และเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 เมื่อปี 2549 ต่อศาลปกครองชั้นต้น
โดยนายประมุข และนายสุริยศักดิ์ ได้ฟ้องโดยมีประเด็นหลักอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่
หนึ่ง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ระดับ 7 ระดับ 8 และระดับ 9 ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 2/2546 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามมาตรา 107 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. เมื่อปี 2542 ที่การประกาศหลักเกณฑ์ ต้องมีการลงนามโดยประธาน ป.ป.ช. และประกาศในราชกิจจานุเบกษา และไม่ได้มีการแจ้งให้กับผู้ฟ้องคดีทั้งสองรับทราบ
สอง การแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินพิจารณาบุคคลและพิจารณาผลงานการปฏิบัติงานของบุคคลเพื่อดำเนินการเลื่อนข้าราชการขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับ 7 ระดับ 8 และระดับ 9 นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขึ้นมาภายหลังหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการฯ ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 2/2546 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้วิธีการประเมิน และคัดเลือกบุคคล ก็ไม่ได้ดำเนินการด้วยวิธีการที่ไม่เป็นธรรม และอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับข้าราชการบางรายได้
สาม ดังนั้นเมื่อหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อนข้าราชการฯ ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 2/2546 และการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินพิจารณาบุคคลและพิจารณาผลงานการปฏิบัติงานของบุคคลฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 เลื่อนข้าราชการจำนวน 35 ราย ขึ้นดำรงตำแหน่งข้าราชการ ป.ป.ช. ระดับ 9 จึงไม่ชอบด้วยกฏหมายด้วย
อย่างไรก็ดีฝ่ายสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลปกครองชั้นต้น สรุปได้ว่า
หนึ่ง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งเวียนหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับที่สูงขึ้นให้ทุกหน่วยงานสังกัดภายในสำนักงาน ป.ป.ช. ทราบ จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองสมควรได้รับทราบหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกดังกล่าวแล้ว โดยมิได้ทักท้วงหรือโต้แย้งความเห็นชอบด้วยกฎหมายของหลักเกณฑ์ดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการประเมินฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. และประกาศกำหนดเวลาในการเข้ารับการประเมิน ซึ่งได้แจ้งไปยังฝ่ายสำนักตรวจสอบทรัพย์สิน 3 และนายเฉลิมพล สุวพานิช เจ้าพนักงาน ป.ป.ช. ระดับ 8 รักษาราชการแทน ผอ.สำนักตรวจสอบทรัพย์สิน 3 (ขณะนั้น) ได้แจ้งให้ข้าราชการที่มีรายชื่อแนบท้ายหนังสือดังกล่าวทราบ โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ลงลายมือชื่อรับทราบ ดังนั้นถือว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับทราบหลักเกณฑ์แล้ว
ต่อมาคณะกรรมการประเมินฯ ได้ดำเนินการประเมินข้าราชการที่เข้าร่วมการประเมินเลื่อนตำแหน่งดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ได้เข้าร่วมด้วย โดยการประเมินนั้นเป็นการประเมินโดยในส่วนของความรู้อย่างเดียว เปิดโอกาสให้มีการแสดงผลงานย้อนหลัง 3 ปี ไม่ต้องทดสอบข้อเขียน ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ผ่านการประเมิน ต่อมาจึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่เป็นไปตามนัยมาตรา 107 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่ว่า การประกาศหลักเกณฑ์ต้องให้ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การกระทำของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เป็นการกระทำที่ร้องเรียนภายหลังรับทราบหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปแล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต เพราะหากผู้ฟ้องคดีทั้งสองผ่านการประเมิน ก็จะไม่มีการยกเหตุอ้างว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 107 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ออกระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการบริหารงานทั่วไป การแบ่งส่วนราชการ การบริหารงานบุคคลฯ พ.ศ.2542 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 2/2546 เป็นการอาศัยอำนาจตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว เพื่อให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกันกับที่ ก.พ. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนข้าราชการในราชการพลเรือนถือปฏิบัติ
จึงไม่ต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และไม่เป็นการดำเนินการเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด หลักเกณฑ์นี้จึงชอบด้วยกฏหมาย
สอง วิธีการประเมินของคณะกรรมการประเมินฯ แบ่งเป็น คะแนนประเมินความรู้ ประเมินความสามารถ และความประพฤติ แบ่งเป็นองค์ประกอบย่อยคือ ผลงานทั่วไปย้อนหลัง 3 ปี คะแนนเต็ม 40 คะแนน ผลงานดีเด่นย้อนหลัง 3 ปี จำนวนไม่น้อยกว่า 3 เรื่อง คะแนนเต็ม 40 คะแนน และแนวคิดในการปฏิบัติงาน คะแนนเต็ม 20 คะแนน โดยต้องผ่านเกณฑ์ 60% จึงจะผ่าน และผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. ระดับ 8 ฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สิน สำนักตรวจสอบทรัพย์สิน 3 โดยมีผลคะแนนรวม 41.65 คะแนน และ 43.48 คะแนน จึงไม่ผ่านตามหลักเกณฑ์
ทั้งนี้ยืนยันว่า คณะกรรมการประเมินฯ ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคะแนนผู้เข้ารับการประเมินทุกคน จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยชอบ มิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้น หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 2/2546 การแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินฯ และคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 จึงชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษา สรุปได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 2/2546 แม้ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 107 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ลงนาม และไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้มีการแจ้งเวียนหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแล้ว ถือว่าดำเนินการตามนัย มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 จึงไม่ทำให้มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 2/2546 ไม่มีผลบังคับใช้ และผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกดังกล่าว ดังนั้นคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 จึงชอบแล้ว
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสองอุทธรณ์ สรุปได้ว่า คำว่า “การเลื่อนตำแหน่ง” เป็นกรณีที่มีกำหนดโดยเฉพาะตามมาตรา 107 พ.ร.บ.ป.ป.ช. ส่วน “การกำหนดตำแหน่ง” และคำว่า “ก.พ.” ให้หมายถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีบัญญัติไว้ในมาตรา 110 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยไม่มีข้อความว่า “การเลื่อนตำแหน่ง” ตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการบริหารงานทั่วไป การแบ่งส่วนราชการ การบริหารงานบุคคลฯ พ.ศ.2542 นั้น เป็นระเบียบที่ออกบังคับใช้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 107 พ.ร.บ.ป.ป.ช. ไม่มีข้อความว่า “การกำหนดตำแหน่ง ระดับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งของข้าราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน ป.ป.ช.” ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการบริหารงานทั่วไป การแบ่งส่วนราชการ การบริหารงานบุคคลฯ ที่กล่าวถึง “การกำหนดตำแหน่ง ระดับเงินเดือนฯ” จึงเป็นการกล่าวไว้เกินกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 107
และไม่มีข้อความใดตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการบริหารงานทั่วไป การแบ่งส่วนราชการ การบริหารงานบุคคลฯ ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ออกหลักเกณฑ์หรือวิธีการคัดเลือกฯ ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 2/2546 ได้ และตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 107 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ต้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้พิจารณา และให้ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ลงนาม และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงให้บังคับใช้ได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 107 วรรคสอง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแก้อุทธรณ์ สรุปได้ว่า หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 2/2546 ได้มีการทำหนังสือแจ้งเวียนประกาศให้กับหน่วยงานในสังกัดสำนักงาน ป.ป.ช. รับทราบ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้รับทราบแล้ว และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จึงไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งดังกล่าว
สำหรับการบริหารงานบุคคลนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 107 พ.ร.บ.ป.ป.ช. กำหนดระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการบริหารงานทั่วไป การแบ่งส่วนราชการ การบริหารงานบุคคลฯ และเมื่อประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ลงนามในระเบียบดังกล่าว และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงถือว่าใช้บังคับได้ตามกฎหมาย และข้อ 3 ของระเบียบฉบับนี้ ให้นำบทบัญญัติหรือข้อกำหนดแห่งกฎหมายฯ ที่เคยบังคับใช้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) มาใช้บังคับข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยอนุโลม ซึ่งเป็นการกำหนดระเบียบ โดยนำบทบัญญัติของมาตรา 107 ดังกล่าวคัดลอกใส่ไว้ ย่อมหมายความว่าให้นำ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 กฎ ก.พ. ระเบียบ ข้อบังคับฯ ที่ออกโดยอาศัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ มาใช้บังคับกับข้าราชการและลูกจ้างสำนักงาน ป.ป.ช. โดยอนุโลมด้วย
นอกจากนี้ในข้อ 4 ของระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ให้คำว่า “คณะรัฐมนตรี” หรือ “คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นเมื่อนำมาปรับใช้กับสำนักงาน ป.ป.ช. จึงหมายความว่า กรณีการเลื่อนขั้นข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด เหมือนกับที่ กรณีการเลื่อนข้าราชการขึ้นระดับสูงย่อมเป็นไปตามที่ ก.พ. กำหนด ดังนั้นหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.=. ครั้งที่ 2/2546 จึงเป็นการดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องออกระเบีบมาใช้บังคับอีก และไม่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่อย่างใด
ศาลปกครองสูงสุด สรุปข้อเท็จจริงแล้ว มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 2/2546 เป็นไปตามขั้นตอนกฏหมายหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว สรุปได้ว่า เมื่อพิจารณาข้อ 3 ของระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ได้กำหนดให้บทบัญญัติหรือข้อกฎหมายฯ ที่เคยใช้บังคับกับสำนักงาน ป.ป.ป. มาใช้บังคับกับข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงาน ป.ป.ช. จนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะออกระเบียบหรือประกาศเป็นอย่างอื่นเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดอำนาจให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปดำเนินการออกกฎ หรือระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เพื่อนำไปบังคับใช้กับข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงาน ป.ป.ช. แต่อย่างใด
แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 107 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ได้บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจออกกฎ ระเบียบ หรือประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ ดังนั้นการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ซึ่งวินิจฉัยแล้วว่า เป็นกฎ มาใช้บังคับกับข้าราชการของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยมีการแจ้งหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ทราบนั้น เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 107 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.
แต่ไม่ใช่เป็นการนำบทบัญญัติหรือข้อกำหนดแห่งกฎหมายฯมาใช้บังคับกับข้าราชการและสำนักงาน ป.ป.ช. ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด และกรณีนี้ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 107 วรรคสอง คือประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องลงนาม และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาบังคับใช้ได้ ดังนั้นข้อเท็จจริงเมื่อหลักเกณฑ์ดังกล่าว ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ลงนาม และไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฏหมาย
ประเด็นที่สอง การที่เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) มีคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 เลื่อนข้าราชการจำนวน 35 ราย ขึ้นแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. 9 โดยไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว สรุปได้ว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจนำมาบังคับใช้ได้ ดังนั้นคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 เลื่อนข้าราชการจำนวน 35 ราย ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. ระดับ 9 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายเช่นกัน อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงฟังขึ้น
พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 เฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง โดยให้มีผลนับแต่วันที่ออกคำสั่ง
(อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม : http://www.admincourt.go.th/admincourt/upload/admcase/Document/judgement/PDF/2552/01012-520869-1F-580806-0000553973.pdf)
เงื่อนปมสำคัญของกรณีนี้ อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เห็นว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามมาตรา 107 วรรคสอง พ.ร.บ.ป.ป.ช. การประกาศหลักเกณฑ์ฯ จะต้องให้ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนฝ่าย ป.ป.ช. อ้างว่า ไม่จำเป็นต้องประกาศโดยอ้างตามข้อ 3 ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ให้อำนาจ ป.ป.ช. ดำเนินการตั้งหลักเกณฑ์ได้เลย
แต่ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อ 3 ของระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ให้อำนาจไปดำเนินการออกกฏได้ ส่วนการตั้งหลักเกณฑ์นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถทำได้ตามมาตรา 107 วรรคหนึ่ง (2) แต่หากต้องการให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย จะต้องให้ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย แต่ในเมื่อไม่มีการลงนาม หลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำสั่งเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ฉากต่อไปที่ต้องรอดูคือ นายสรรเสริญ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะมีการเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเมื่อไหร่ ?