ขมวดปมงบบริหารจัดการน้ำจาก อผศ. สู่ บก.ทท.-ทบ. ยอดรวม 5.5 พันล.
“…เพราะต้องไม่ลืมว่า คราวนั้นคณะกรรมการสิทธิพิเศษฯ อ้างว่า อผศ. มีประสิทธิภาพและเครื่องมือพร้อมสรรพ แต่เอาเข้าจริงกลับ พบว่า บางสัญญามีการจ้างช่วงให้เอกชนเข้ามาดำเนินงานแทน แล้วคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ใช้ ‘หลักเกณฑ์’ หรือมองเห็น ‘ประสิทธิภาพ’ อะไรในการคัดเลือกหน่วยงานทางทหารทั้งสองหน่วยงานดังกล่าว เข้าไปดำเนินงานตามโครงการนี้ด้วย ?...”
ในที่สุดคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ คือให้กองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก เข้าไปดำเนินการในแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพิ่มเติม ปี 2559 รวม 1,026 โครงการ วงเงิน 1,300,305,100 บาท แบ่งเป็น
สำหรับโครงการดังกล่าว เกิดขึ้นจากผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2559 โดยมีนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์) เป็นประธานฯ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพิ่มเติม ปี 2559 ตามที่กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ได้ดำเนินการมา
โดยโครงการนี้มีหน่วยงานเสนอโครงการจำนวน 9 หน่วยงาน รวม 3,200 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 15,093 ล้านบาท ซึ่งหากดำเนินการเสร็จแล้วจะได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 252 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 1,613 ครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 3,792,000 ไร่
โดยกองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจพื้นที่และจัดทำรายละเอียดประมาณการงานดังกล่าวแล้ว ต่อมานายกรัฐมนตรีมีบัญชาเห็นชอบให้กระทรวงกลาโหม โดยกองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,300,305,100 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าว จำนวน 1,026 โครงการ ได้แก่
กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 105 โครงการ วงเงิน 157,942,300 บาท และกองทัพบก 921 โครงการ วงเงิน 1,142,362,800 บาท
อย่างไรก็ดี กระทรวงกลาโหมพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบนั้น เป็นโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน รวมทั้งสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรสำหรับช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว
แต่เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ของกองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบกมีจำกัด ประกอบกับมีแผนโครงการอื่นรองรับไว้ครบถ้วนแล้ว จึงไม่สามารถปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณมาดำเนินการเพื่อการนี้ได้ จึงขอให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบกลางปี 2559 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งหมด 1,300,305,100 บาท แก่ทั้งสองหน่วยงานเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมขอมาแล้ว
(อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม : https://cabinet.soc.go.th/doc_image/2559/9932143317.pdf)
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมผลงานการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทางทหารให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ก่อนหน้านี้ช่วงรัฐประหารเมื่อปี 2557 ใหม่ ๆ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติอนุมัติให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ได้รับสิทธิพิเศษในการดำเนินการขุดลอก ปรับปรุง ฟื้นฟูแหล่งน้ำทั่วประเทศ โดยอ้างว่า คณะกรรมการสิทธิพิเศษฯ กระทรวงการคลัง ตรวจสอบแล้วพบว่า มีประสิทธิภาพตามที่ขอ
อย่างไรก็ดีภายหลัง อผศ. เข้ามาดำเนินงานดังกล่าว กลับพบอุปสรรค-พิรุธ หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือไม่พอใช้ จนต้องทำสัญญาเช่าเครื่องจักรกับเอกชน แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เป็นการทำสัญญาจ้างให้กลุ่มเอกชน ‘ก๊วนคุณนาย อ.-ส.จ.ผู้กว้างขวางแห่งสุพรรณบุรี’ นำสัญญาไปขายช่วงต่อ แล้วมีการเรียกหัวคิวกัน ทำให้ผู้รับเหมารายย่อยซึ่งได้งานช่วงสุดท้ายไป ทำงานไม่เสร็จ มีการทิ้งงาน หรือไม่ได้รับเงินเป็นจำนวนมาก
กระทั่งนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ อผศ. ซึ่งปัจจุบันสรุปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบุว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ของ อผศ. เข้าไปเกี่ยวข้อง ปัจจุบันเรื่องยังอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
(อ่านประกอบ : ขมวดพิรุธ อผศ.ขุดคลองก่อนสรุป 'คนใน'ไม่ผิด! ‘อิศรา’คุ้ย-กก.สอบไม่เจอ?)
เบื้องต้น พบว่า อผศ. ได้รับงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน และหน่วยงานอื่นในการเข้าไปขุดลอก ปรับปรุง ฟื้นฟูแหล่งน้ำในทั่วประเทศ นับตั้งแต่ต้นปี 2558-ปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 1,361 โครงการ วงเงินประมาณ 4,247 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : เทียบชัด! งบขุดคลอง อผศ. รบ.‘ปู VS บิ๊กตู่’ใครจัดให้มากกว่า?)
นี่ยังไม่นับ กรณีหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กรมราชทัณฑ์ หรือหน่วยงานอื่น ๆ จ้างทำให้ผลิตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เกาะกันกระสุน เสื้อผ้าของผู้ต้องขัง หรือบริการรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ด้วย
หากนับรวมวงเงินเบ็ดเสร็จที่ อผศ. ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐทั้งหมด ยอดจะพุ่งไปอยู่ที่ 3,083 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 6,321 ล้านบาท
ดังนั้นสิ่งน่าจับตาต่อจากนี้คือ การดำเนินการของกองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบกตามแผนบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติมปี 2559 นั้น จะเกิดปัญหาขึ้นเหมือนกับเมื่อครั้งที่ อผศ. เข้าไปดำเนินการหรือไม่ ?
เพราะต้องไม่ลืมว่า คราวนั้นคณะกรรมการสิทธิพิเศษฯ อ้างว่า อผศ. มีประสิทธิภาพและเครื่องมือพร้อมสรรพ แต่เอาเข้าจริงกลับ พบว่า บางสัญญามีการจ้างช่วงให้เอกชนเข้ามาดำเนินงานแทน ?
มาคราวนี้ กระทรวงกลาโหม อ้างว่า ได้ให้กองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก เข้าไปสำรวจพื้นที่ดูแล้ว ประเมินวงเงินที่ต้องใช้ประมาณ 1.3 พันล้านบาท แต่ขอใช้จากงบฉุกเฉิน เนื่องจากงบปัจจุบันดำเนินการตามแผนงานอื่นไปหมดแล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่เสนอด้วย
แล้วคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ใช้ ‘หลักเกณฑ์’ หรือมองเห็น ‘ประสิทธิภาพ’ อะไรในการคัดเลือกหน่วยงานทางทหารทั้งสองหน่วยงานดังกล่าว เข้าไปดำเนินงานตามโครงการนี้ด้วย ?
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร แต่นี่เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะต้องจับตาและติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
เพราะหากนับรวมกับงบขุดคลอง และการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดหากนับตั้งแต่ อผศ. จนมาถึงกองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก ยอดจะพุ่งไปถึง 4,247 ล้านบาท + 1,300 ล้านบาท จะเท่ากับ 5.5 พันล้านบาท เลยทีเดียว !