เปิดคำฟ้องประเดิมศาลทุจริต! จนท. สถานทูตเบียดบังเงินโดน 59 กระทง
เปิดคำฟ้อง อสส. ประเดิมศาลคดีทุจริตฯ จนท.สถานทูตเบียดบังเงินช่วงประจำ บังกลาเทศ-เบอร์ลิน เจออ่วม 59 กระทง คืนแล้วบางส่วน เหลืออีก 2.4 แสนบาท ป.ป.ช. เชือดแล้วไล่บี้ ก.ต่างประเทศ หาตัว ‘ผู้บังคับบัญชา’ ด้วย
ประเดิมการฟ้องไปแล้วเบื้องต้น 2 คดี !
ภายหลังการจัดตั้งศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่วันนี้ (3/10/59) เพิ่งเปิดทำการเป็นวันแรก แบ่งเป็น คดีที่เจ้าหน้าที่องค์การเภสัชกรรม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้บริหารระดับสูงองค์การเภสัชกรรม กับพวกรวม 8 ราย ฐานความผิดเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต กรณีไม่ยอมเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมตามระเบียบที่กำหนด แต่มีการประวิงเวลาออกไป ทำให้เกิดความเสียหาย
และอีกคดีหนึ่ง อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางวิจิตต์ หรือปทิตตา ล่ามกิจจา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ 3 กระทรวงการต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ และเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 1 งานบริหารทั่วไป ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย สาขากรุงบอนน์ ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี ได้ทำการเบียดบังเงินไปจำนวนหลายครั้ง ผิดตามมาตรา 9 91 และ 147 ตามประมวลกฎหมายอาญา
(อ่านประกอบ : ประเดิมฟ้องศาลทุจริต 2 คดี! จนท. สถานทูตเบียดบังเงิน-ประวิงตั้ง‘บิ๊ก’ องค์การเภสัชฯ)
สำหรับคดีที่ อสส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางวิจิตต์ หรือปทิตตา นั้น มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็นด้วยกัน
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสำนวนการไต่สวนนางวิจิตต์ หรือปทิตตา ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำฟ้องของ อสส. ดังนี้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนางวิจิตต์ หรือปทิตตา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริต ต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของ ทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของ รัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่าง ร้ายแรง และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็น ผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และ มาตรา 98 วรรคสอง นอกจากนี้ ยังมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
โดยปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งลงโทษไล่ออกจากราชการแล้ว แต่ได้แจ้งกระทรวงการต่างประเทศเพิ่มเติมว่า ขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับผู้บังคับบัญชาของนางวิจิตต์ หรือปทิตตา ด้วย เนื่องจากไม่ควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาปล่อยปละละเลยให้นางวิจิตต์ หรือปทิตตา เบียดบังเงินค่าธรรมเนียม และเงินรายได้อื่น ๆ ของสถานเอกอัครราชทูตไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นเป็นจำนวนหลายครั้งด้วย
(อ่านประกอบ : สั่งเล่นงานผู้บังคับบัญชาด้วย! ป.ป.ช.ส่งคดีจนท.ทุจริตเงิน 2 สถานทูตดัง ให้ กต.แล้ว)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ คดีที่ อสส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางวิจิตต์ หรือปทิตตา ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยชี้มูลความผิดไปก่อนหน้านี้นั้น ในคำฟ้องมีการระบุว่า พฤติการณ์ของนางวิจิตต์แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
หนึ่ง ได้แก่ ครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ 3 ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เบียดบังเงินจำนวน 6 ครั้ง เป็นเงิน 944,750 ตากา หลังถูกตรวจสอบพบการกระทำผิด ได้ส่งเงินคืนจำนวน 621,300 ตากา คืนแก่กระทรวงการต่างประเทศ เหลือค้างอยู่อีกจำนวน 323,450 ตากา คิดเป็นเงินไทย 245,822 บาท
สอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าที่การเงินและบัญชี 1 ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย สาขากรุงบอนน์ ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี เบียดบังเงินจำนวน 53 ครั้ง เป็นเงิน 20,630 มาร์ก คิดเป็นเงินไทย 484,805 บาท หลังถูกตรวจสอบพบการกระทำผิด ได้ส่งคืนเงิน 20,630 มาร์ก แก่กระทรวงการต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว (ดูเอกสารคำฟ้องประกอบ)
ทั้งนี้ในคำฟ้องระบุว่า เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน ซึ่งรวมทั้งหมด 59 กระทง
ดังนั้นหากศาลตัดสินลงโทษเรียงกระทงตามความผิดมาตรา 147 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี สูงสุด 20 ปี นางวิจิตต์ หรือปทิตตา จะถูกจำคุกระหว่าง 295 ปี ถึง 1,180 ปี
อย่างไรก็ดี อสส. ได้ฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พ่วงไปด้วย ที่บัญญัติว่า เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลาย กรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปแต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลด มาตรา ส่วนโทษด้วยหรือไม่ ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษ จำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษ จำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษ จำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
ดังนั้น กรณีนี้ตามมาตรา 147 มีโทษจำคุกขั้นต่ำ 5 ปี โทษสูงสุดของนางวิจิตต์ ที่จะได้คือจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี นั่นเอง
สิ่งต่อไปที่ต้องรอติดตามในคดีนี้ นอกเหนือจากการพิจารณาไต่สวนของศาลคดีทุจริตฯ ที่เริ่มเปิดฉากอย่างเป็นทางการแล้ว อีกประเด็นหนึ่งคือตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงต่างประเทศ เพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับ ‘ผู้บังคับบัญชา’ ของนางวิจิตต์ หรือปทิตตา ด้วย
ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเลยว่า ดำเนินการถึงไหน อย่างไรแล้ว ?