วิสาหกิจชุมชนอาภานวดแผนไทย คิดเชิงสร้างสรรค์ แบบฉบับ 'ป้าปุ้ม'
“ช่วงที่ป้าปุ้มนอนในมุ้ง ขยับซ้ายไม่ได้ ขยับขวาไม่ได้ ลูกสาวไปเรียนทำขนมเค้กนานาชาติมา เมื่อเห็นไม้นวดสามารถเป็นอุปกรณ์การนวดในจุดที่นวดไม่ถึงได้ เช่น หลัง ต้นขาด้านหลัง ท้ายทอย ใต้รักแร้ จนเกิดเป็นหมอในมุ้งไม้ป้าปุ้ม คว้ารางวัลโอทอประดับ 3 ดาว ปี 2547 มาแล้ว”
“นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ร้องโอยๆ ในงานเมืองทอง ป้าปุ้มนี่แหละจับเส้นให้ มีรูปถ่ายอยู่ข้างบนขึ้นไปดูได้เลย"
"ป้าปุ้ม" หรือนางอาภา หรือ นางสมบัติ ปรีชากูลย์ ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน อาภานวดแผนไทย ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร บริการนวดแผนไทย เชิญชวนคณะสื่อมวลชนระหว่างเข้าศึกษาดูงาน Medical Hub Thailand แบรนด์ป้าปุ้ม นวดไทย มรดกโลกทางวัฒนธรรม ณ ตำบลบางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง เมื่อเร็วๆ นี้
ป้าปุ้ม อดีตแม่ค้าขายไก่ย่างส้มตำวัย 68 ปี ก่อนหน้านี้เจออุบัติเหตุลื่นหกล้ม จนหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไม่สามารถเดินได้ ครอบครัวนำส่งโรงพยาบาล หลังผ่าตัดเสร็จป้าปุ้มก็ยังไม่สามารถเดินได้ ต้องมาเริ่มต้นหัดเดินใหม่ และมาหายจาก "อัมพฤต" ก็เพราะการนวด
เมื่อร่างกายค่อยดีขึ้นแล้ว ป้าปุ้มตัดสินใจไปเรียนนวดฝ่าเท้า และเรียนนวดตัวต่อเพื่อแก้อาการต่างๆ ของตัวเอง หลักสูตรไหนว่าดี เรียนทุกหลักสูตรกับกระทรวงสาธารณสุข
“ช่วงที่ป้าปุ้มนอนในมุ้ง ขยับซ้ายไม่ได้ ขยับขวาไม่ได้ ลูกสาวไปเรียนทำขนมเค้กนานาชาติมา เมื่อเห็นไม้นวดสามารถเป็นอุปกรณ์การนวดในจุดที่นวดไม่ถึงได้ เช่น หลัง ต้นขาด้านหลัง ท้ายทอย ใต้รักแร้ จนเกิดเป็นหมอในมุ้งไม้ป้าปุ้ม”
ไม้ป้าปุ้ม คว้ารางวัลโอทอประดับ 3 ดาว ปี 2547 มาแล้ว ป้าปุ้มบอกเคล็ดต้องใช้ไม้สัก (ศักดิ์สิทธิ์) ไม้มะค่า (ฆ่าโรคร้าย) ไม้มะขาม (เกรงขาม) ไม้กระท้อน (สะท้อนออกไป) เท่านั้น
ป้าปุ้ม เป็นคนแรกๆ ในจังหวัดอ่างทองที่เริ่มต้นบริการนวดแผนไทย ความสุขที่ร่างกายตัวเองหายจากอัมพฤต ความสุขจากการทำงานนำวิชาความรู้ถ่ายทอดสู่ชุมชน และนำไปรักษาให้กับผู้ป่วยคนอื่นๆ
“เรานวดคนอื่น คนอื่นหายเราอยู่ไม่ได้อยากจะไปเรียนต่อ ก็ไปเรียนนวดกับหมอจีนที่ตลิ่งชัน วันละ 1,000 บาท รวมถึงเรียนนวดแบบคลายกล้ามเนื้อ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย"
เรียนนวด ป้าปุ้มแนะนำว่า ต้องเรียนให้ลึก เรียนการเดินของเส้นประสาท การเดินของเส้นเลือด ดูระบบกระดูก เรียนรู้ 72,000 เส้นในตัวมนุษย์ แต่มีแค่ 10 เส้นเท่านั้นที่ดูแลร่างกายเรา ได้แก่ 1. อิทา 2. ปิงคลา 3. สุมนา 4. กาลทารี 5.สหัสรังษี 6.ทวารี 7. จันทภูสัง 8. รุชำ 9. สิขิณี 10. เส้นสุขุมัง”
ปี 2547 ป้าปุ้มจดทะเบียนจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนอาภานวดแผนไทย” ขึ้นมา ปัจจุบัน มีคนในชุมชนมาช่วยงานไม่ต่ำกว่า 20 คน
"การที่เรานวดใครสักคนให้ได้ผลดีมากกว่าการบีบนวดธรรมดา เราคิดว่าจะต้องมียาเข้ามามีส่วนด้วย ป้าปุ้มจึงได้ไปเรียนรู้เรื่องสมุนไพรกับน้องสามีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ยาแก้อัมพฤต อัมพาต รวมทั้งเข้าร่วมกับสถาบันและหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร เพื่อมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ" ป้าปุ้ม เล่าที่มา ก่อนคิดค้นสูตรน้ำมันนวดสมุนไพร “ป้าปุ้ม” ที่ปัจจุบันมียอดขายไม่ต่ำกว่า 2 พันขวดต่อเดือน และกำลังขยายต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
ส่วนวัตถุดิบสมุนไพร ทั้งไพรดำ ไพรเหลือง ขมิ้น อัญชัญ มะรุม ข่า ตะไคร้ ฯลฯ มีทั้งปลูกเองบนพื้นที่ 4 ไร่ และรับซื้อจากคนในชุมชนอีกส่วนหนึ่ง
“ออฟ” ชญาณ์พัฒน์ เอี่ยมแสง ลูกสะใภ้ป้าปุ้ม โชว์ยานวดสมุนไพรป้าปุ้มยุคเริ่มต้น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ใส่ในขวดเครื่องดื่มชูกำลัง ขายขวดละ 35 บาท 3 ขวด 100 บาท ก่อนเธอเข้ามาช่วยพัฒนาตัวบรรจุภัณฑ์ ปรับสูตรให้มีสีสวยงามขึ้น และมีปริมาณเพิ่มขึ้น ปรับราคาขายขวดละ 100 บาท
วันนี้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบรนด์ป้าปุ้ม รวมๆ แล้วมีกว่า 50 ผลิตภัณฑ์เลยทีเดียว
“เตชิต ปรีชากูลย์” หรือ “เอก” ลูกชายที่ลาออกจากงานธนาคาร มาช่วยต่อยอดธุรกิจให้ผู้เป็นแม่เต็มตัว เล่าว่า ช่วงที่แม่ทำธุรกิจนี้ เขาแทบไม่ได้สนใจเลยเพราะจบรัฐศาสตร์มาใหม่ๆ ไฟแรงทำงานที่กรุงเทพฯ ดูแลระบบ Network กระทั่งหลังๆ มาเห็นยอดสั่งซื้อน้ำมันนวดทางไปรษณีย์ พอแม่ส่งไปแล้วสินค้าแตก เจอไปรษณีย์ด่า
“ผมก็เลยพาแม่ไปสะพานขาวไปซื้อบรรจุภัณฑ์ใหม่ จากนั้นก็มาปรับสี ปรับเนื้อครีม พัฒนาจนนิ่งแล้ว”
ลูกชายป้าปุ้ม บอกว่า รายได้ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้จากกลุ่มลูกค้าท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งตำบลบางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง โดดเด่นเรื่องผลิตหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่และหวายที่เลื่องชื่อที่สุดแห่งหนึ่ง เมื่อเราไปเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ก็นำสมุนไพรป้าปุ้มพ่วงกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ด้วย
เมื่อปลายปี 2557 วิสาหกิจชุมชนอาภานวดแผนไทย ได้รับอนุมัติสินเชื่อเพื่อขยายกิจการจาก SME BANK 5 แสนบาท โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ค้ำประกันสินเชื่อ 5 แสนบาท “เตชิต” ชี้ว่า เขาได้นำเงิน 5 แสนลงทุนสร้างโรงงาน รวมถึงซื้อเครื่องจักรบีบอัด ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันนวดสมุนไพรป้าปุ้ม (ฝาสีส้ม) จากเดิมไม่เกิน 1 พันขวด เพิ่มขึ้นมาเกือบ 2 พันขวดต่อเดือน
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ เช่น ครีมน้ำนมข้าวผลิตได้ 300-400 ขวดต่อเดือน ซึ่งในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า เขาวางแผนขยายทำโฮมสเตย์นวดแผนไทยอย่างเดียว อยู่รักษาตัวเอง การสอนสปาสมุนไพร การดูแลผู้ป่วย นวดคลายเครียด
สมุนไพรแบรนด์ป้าปุ้ม ภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยจากรุ่นแม่สู่รุ่นลูกได้ถูกนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจ และสร้างรายได้แก่ชุมชน นอกจากผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองแล้ว ยังทำรีแบรนด์ และรับจ้างผลิต จำนวนหนึ่งด้วย
ผลิตภัณฑ์ตัวแรก 2 พันขวดต่อเดือน
สเปรย์มะกูด ตัวใหม่ของป้าปุ้ม