นายกฯ มอบนโยบายสภาเกษตรกรแห่งชาติให้ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ
นายกฯ รับมอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกสภาเกษตรกรแห่งชาติ 20 ล้านคน กำชับเลือกตั้งโปร่งใสจึงเป็นตัวแทนรากหญ้าจริง เน้นย้ำบทบาทสภาฯเสนอแนะนโยบายรัฐ ดีเดย์เลือกตั้งตัวแทนหมู่บ้าน 13 ก.พ.นับจากนี้อีก 8 เดือนได้ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
วันที่ 11 ม.ค. 54 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานมอบนโยบายดำเนินการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติตามพระราชบัญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 โดยมีนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวรายงาน และมีผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายธีระ กล่าวว่า พิธีมอบนโยบายครั้งนี้เพื่อขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆช่วยเหลือดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรเพื่อให้ได้สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดชุดแรก ซึ่งตาม พ.ร.บ.กำหนดให้มีสภาเกษตรกรใน 2 ระดับ คือ 1.สภาเกษตรกรแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่งคือประธานสภาเกษตรกรจังหวัด 76 คน และผู้แทนองค์กรเกษตรกร 16 คนที่สมาชิกโดยตำแหน่งเป็นผู้เลือก และผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ซึ่งสมาชิกประเภท 1 และ 2 เลือกจากความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์ด้านเกษตรกรรม 2.สภาเกษตรกรจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกจากการเลือกตั้ง 16 คน แต่หากจังหวัดใดมีมากกว่า 16 อำเภอให้มีสมาชิกได้เท่าจำนวนอำเภอ และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน
หลังรับมอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกสภาเกษตร 20.18 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรจากนายธีระ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่ามีการเรียกร้องให้ตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2516 จากนั้นมีการตรากฎหมายขึ้นมากมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่อาจทำได้เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น กฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่ทำกิน หรือกฎหมายที่พยายามแก้ปัญหาปัจจัยการผลิต แต่การตั้งสภาเกษตรแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลปัญหาเกษตรกรทั้งระบบ ครอบคลุมทุกประเด็น รวมถึงสวัสดิการ และต้องการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งตนเน้นย้ำให้ใช้ความเที่ยงธรรมสุจริตในการเลือกตั้งสมาชิกเพื่อความยั่งยืนของสภาเกษตรฯ
“ถ้ากระบวนการได้มามีปัญหา การทำงานก็จะมีปัญหา แทนที่สมาชิกจะเป็นเสียงสะท้อนของเกษตรกร ก็จะกลายเป็นเสียงกลุ่มผลประโยชน์อิทธิพล เราต้องไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น” นายกฯ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยังเน้นย้ำว่าควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาเกษตรฯ ที่เหมาะสมและสะท้อนความต้องการที่หลากหลายของเกษตรกรได้ดี โดยต้องทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องด้วยว่าอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรฯ จะเป็นการเสนอแนะต่างๆ ส่วนการนำข้อเสนอแนะไปปฎิบัติก็ยังคงอยู่กับหน่วยงานต่างๆ
นายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการกองเกษตรสาระนิเทศ สำนักงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า 13 ก.พ. 54 จะเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรระดับหมู่บ้านๆละ 1 คน และผู้แทนระดับหมู่บ้านจะไปเลือกผู้แทนระดับตำบลๆละ 1 คนในวันที่ 27 ก.พ. 54 และจะมีการเปิดเวทีเสวนากับสมาชิกสภาเกษตรระดับตำบล 8,000 คนกลางเดือน เม.ย. ซึ่งจะอยู่ในช่วงการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรระดับอำเภอ
“นับจากประกาศรายชื่อระดับตำบล การเลือกผู้แทนเกษตรระดับอำเภอจะมีขึ้นภายใน 30 วันหรือระหว่าง 11 เม.ย.-10 พ.ค. 54 โดยให้ผู้แทนเกษตรกรระดับตำบลในแต่ละอำเภอเลือกตั้งกันเอง ให้ได้อำเภอละ 1 คน ในกรณีที่จังหวัดนั้นๆ มีจำนวนอำเภอน้อยกว่า 16 อำเภอ ให้เลือกตั้งกันเองจนได้ผู้แทนเกษตรกรรวมกันครบ 16 คน แต่ถ้าจังหวัดใดมีอำเภอมากกว่า 16 อำเภอ ก็ให้มีสมาชิกได้เท่ากับจำนวนอำเภอ บวกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คนซึ่งแต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมโดยมาจากด้านพืช สัตว์ ประมงอย่างน้อยด้านละ 1 คน ส่วนสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ 99 คนมาจากประธานสภาเกษตรกรจังหวัด 76 คน ตัวแทนองค์กรเกษตรด้านสัตว์ พืช ประมง และอื่นๆ 16 คน ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 7 คน จึงจะเลือก 1 ใน 99 คนนี้ดำรงตำแหน่งประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ วาระละ 4 ปี”
นายสมโสถติ์ ยังกล่าวว่าการเลือกตั้งประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 8 เดือน เนื่องจากมีข้อกำหนดว่าองค์กรเกษตรที่เข้าร่วมต้องลงทะเบียนเกษตรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในเดือน ส.ค.54 เป็นเหตุผลให้การเลือกประธานสภาต้องล่าช้าออกไป .