พบทำผิดจริง! ฝ่ายกรรมสิทธิ์ฯ กทพ.แจงคิดค่าเช่าเพิ่มแล้ว ที่ดินหัวมุมย่านเกษตร-นวมินทร์
ฝ่ายกรรมสิทธิ์ที่ดิน การทางพิเศษฯ แจงชัดให้เอกชนเช่าที่ “หัวมุม” ย่านเกษตร-นวมินทร์ เนื้อที่กว่า 25 ไร่ ตรวจสอบพบทำผิดสัญญาจริง บริหารสัญญาใหม่ คิดค่าเช่าส่วนต่างเพิ่ม ยันรัฐไม่ได้สูญ 28 ล้านตามที่สหภาพฯ กล่าวหา พร้อมเปิดข้อกฎหมาย ให้เอกชนเช่าได้ ไม่ผิด พร้อมโชว์ตัวเลข 300 ล้านบาท รายได้จากการจัดหาผลประโยชน์ส่งเข้ารัฐ
หลังจากที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวกรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ปล่อยเอกชนเช่าที่ “หัวมุม” ย่านเกษตร-นวมินทร์ เนื้อที่กว่า 25 ไร่ ระยะเวลาเช่า 3 ปี แบ่งเป็นทำเป็นลานจอดรถ และสวยหย่อม โดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ร้องเรียนว่า ได้พบมีการทำผิดเงื่อนไข ทำให้รัฐเสียประโยชน์เกือบ 28 ล้าน พร้อมกับนำภาพชี้ชัดไร้สวนหย่อม 14 ไร่ ที่ระบุในสัญญา (อ่านประกอบ:สหภาพฯ ชี้กทพ. สูญ 28 ล. ปล่อยเอกชนเช่าที่ 25 ไร่ ไร้เงาสวนหย่อมผุดตลาดนัดแทน )
ล่าสุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นำโดยนายประสิทธิ์ เดชศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายกรรมสิทธิ์ที่ดิน, นายวิเชียร อนุกูล ผู้อำนวยการ กองพัฒนาและรักษาเขตทาง 2 และนายพิศาล ไทยสม หัวหน้าแผนกจัดการการใช้พื้นที่ 2 ชี้แจงประเด็นการเช่าที่ดินตามสัญญา ที่ กทพ/ลพ/019/3เอ/2557 บริเวณเขตทางพิเศษสายฉลองรัช บริเวณถนนประดิษฐ์มนูญธรรมตัดถนนเกษตร-นวมินทร์ ด้านทิศใต้ฝั่งตะวันตก
นายประสิทธิ์ กล่าวถึงภาพรวมการเวนคืนที่ดิน จะอยู่ภายใต้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืน เส้นโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชฯ โดยพื้นที่บริเวณถนนประดิษฐ์มนูญธรรมตัดถนนเกษตร-นวมินทร์ ด้านทิศใต้ฝั่งตะวันตกนั้น ได้เวนคืนไว้สำหรับทำทางต่างระดับเชื่อมต่อ 4 มุม
"เมื่อเวนคืนที่ไว้แล้ว ตั้งแต่ปี 2536 ปรากฎว่า เป็นพื้นที่ป่ารกร้างว่างเปล่า มีบ่อน้ำลึก ทางอนุกรรมการพัฒนาพื้นที่ของ กทพ. เห็นว่า น่าจะนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ก่อนระหว่างที่รอการก่อสร้าง แก้ปัญหาเรื่องการบุกรุก และเน้นเรื่องความปลอดภัย ดังนั้น จึงมีมติให้เอกชนเช่าพื้นที่ได้ชั่วคราว"
ปัจจุบันโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชฯ สร้างเสร็จแล้ว พื้นที่ดินดังกล่าวจึงถือว่า เหลือจากการก่อสร้าง การเปิดให้เอกชนเช่านั้นจะให้เช่าชั่วคราวไม่เกิน 3 ปีแต่ละราย ขณะที่โครงสร้างอาคารต้องเป็นลักษณะชั่วคราวด้วย เพื่อง่ายต่อการที่การทางพิเศษฯ จะนำที่ดินไปทำพื้นที่ต่อเชื่อมโครงการทางด่วน N 2 และ N 3 ในอนาคต
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่ดิน 4 มุมบริเวณถนนประดิษฐ์มนูญธรรมตัดถนนเกษตร-นวมินทร์ มีเอกชนเช่าอยู่ทั้งหมด 19 ราย ทั้งหมดได้ผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาพื้นที่ ของกทพ.ทั้งสิ้น พื้นที่ไหนสมควร หรือไม่สมควรให้เช่า จากนั้นนำผลเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดกทพ.เพื่อทราบ โดยเฉพาะหากค่าเช่าเกิน 6 แสนบาทต่อเดือน จะอยู่ในอำนาจบอร์ด การทางพิเศษฯ พิจารณา
นายประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ฝ่ายกรรมสิทธิ์ที่ดิน มีหน้าที่จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน รักษาเขตทาง ในส่วนของการนำพื้นที่ดินไปจัดหาผลประโยชน์ เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่นอกโครงสร้างทางด่วน พื้นที่เวนคืนตามจุดต่างๆ การทางพิเศษฯ สามารถนำรายได้เข้ารัฐ ซึ่งเป็นรายได้จากการจัดหาผลประโยชน์ปีละไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท
สัญญาส่วนใหญ่เช่าไม่เกิน 3 ปี
ขณะที่นายวิเชียร กล่าวเสริมถึงการเปิดให้เอกชนเช่า 4 มุมบริเวณถนนประดิษฐ์มนูญธรรมตัดถนนเกษตร-นวมินทร์ สัญญาส่วนใหญ่เช่าไม่เกิน 3 ปี หลังสัญญาสิ้นสุด การทางพิเศษฯ มีหนังสือแจ้งไปหมดแล้วว่า ไม่มีการต่อสัญญา เนื่องจากจะมีโครงการทางด่วน N2 ส่วนที่เชื่อมต่อแยกเกษตรกับถนนวงแหวนตะวันออก
"บางมุมบริเวณดังกล่าว เอกชนผู้เช่าบางรายลงทุนเป็นสิบล้านบาท เพื่อปรับพื้นที่จากแต่เดิมเป็นบ่อน้ำ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การทางพิเศษฯ มีแต่ได้ประโยชน์จากการปล่อยพื้นที่ให้เช่าระยะสั้น"นายวิเชียร กล่าว และเห็นว่า หากมองในแง่ธุรกิจ แค่ปรับพื้นที่ดินลงทุนเป็นสิบล้าน ก็ยังไม่คุ้มกับที่ลงทุนไป กับการเช่าแค่ 3 ปี
ยกข้อกฎหมาย กทพ.ให้เอกชนเช่าที่ดินได้
เมื่อถามถึงประเด็นข้อกฎหมาย การทางพิเศษฯ สามารถนำพื้นที่ที่เวนคืนให้เอกชนเช่าต่อได้หรือไม่ นายพิศาล ยืนยันว่า สามารถทำได้ ตามมาตรา 10 พระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ.2550 โดยข้อ 12 ระบุชัดว่า กทพ.สามารถให้เช่าหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทพ. ตามความจําเป็นเพื่อประโยชน์แก่ กทพ. โดยคํานึงถึงประโยชน์สาธารณะควบคู่ไปด้วย
สำหรับแปลงที่เป็นประเด็นพื้นที่ 25 ไร่นั้น กทพ.ให้เช่ามาตั้งแต่ปี 2557 ถึงวันนี้ 2 ปีกว่าแล้ว เดือนมีนาคม 2560 จะหมดสัญญา และถือว่าเป็นแปลงที่มีเอกชนรายเดียวเช่าแปลงใหญ่ที่สุด เพื่อทำธุรกิจลานจอดรถ 4 พันกว่าตารางวา และสวนหย่อม 5 พันกว่าตารางวา อัตราค่าค่าเช่าตกเดือนละ 9 แสนกว่าบาทในปีแรก
บริษัทเนค เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ทำสัญญาเช่าพื้นที่ “หัวมุม” ย่านเกษตร-นวมินทร์ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 แม้บริษัทฯ ไม่ได้มีการทำอะไรกับพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลาปีกว่า นายพิศาล ยืนยันว่า มีการจ่ายค่าเช่าเดือนละ 9 แสนบาทตลอดมา และ เมื่อบริษัทฯ ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ และก่อสร้างแล้วเสร็จ การทางพิเศษฯ ได้ขอเข้าไปตรวจสอบการใช้สอยพื้นที่เป็นไปตามสัญญาหรือไม่
"ผลปรากฎว่า เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 ลงตรวจสอบพื้นที่จริง มีการปรับปรุงพื้นที่ทำธุรกิจจอดรถเพิ่มขึ้น 9 พันกว่าตารางวา หรือ 23 ไร่กว่า มีสวนหย่อมแค่ 2 ไร่ จากที่ในสัญญาเช่าเพื่อจัดทำสวนหย่อมกว่า 14 ไร่ เมื่อตรวจสอบพบพื้นที่เปลี่ยนไป กทพ.ได้คิดอัตราค่าเช่าใหม่ ตามสภาพข้อเท็จจริง ตามพื้นที่ 23 ไร่ มีการเรียกเก็บส่วนต่าง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2559 จากที่บริษัทฯ จ่ายค่าเช่าเดือนละ 9 แสนบาท เป็น 2.4 ล้านบาทในปีแรก, 2.5 ล้านบาทในปีที่ 2 และ2.6 ล้านบาทในปีที่ 3"
นายพิศาล กล่าวต่อว่า การทางพิเศษฯ ทำหนังสือขอให้บริษัทฯ ชำระอัตราค่าเช่าส่วนต่าง ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ไม่ตรงตามสัญญา เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - สิงหาคม 2559 เป็นเงิน 9.2 ล้านบาท บริษัทฯ ได้ขอผ่อนชำระเงินจำนวนนี้ และขอจ่ายค่าเช่างวดเดือนกันยายน 2559 จำนวน 1.6 ล้านบาทก่อน
"แม้ผู้เช่าไม่ปฏิบัติเป็นไปตามสัญญา แต่เรามีหน้าที่ให้การทางพิเศษฯ ไม่เสียประโยชน์ การบอกเลิกสัญญาอาจทำให้การทางพิเศษฯ เสียหายมากกว่า เราจึงบริหารสัญญาให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง"
ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ยอมรับสภาพทำผิด และยินยอมขอผ่อนชำระเป็นรายเดือนจนสิ้นสุดสัญญา ก่อนส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดคืนการทางพิเศษแห่งประเทศไทยต่อไป