ขั้นตอนเลือกนายกฯตามคำวินิจฉัยศาล รธน.-ยุทธการดัน‘คนนอก’นั่งยาว 8 ปี?
“…ดังนั้นเมื่อ นาย ป. อยู่ครบวาระ 4 ปีแล้ว ส.ว. ซึ่งยังเหลือวาระการดำรงตำแหน่งอยู่อีก 1 ปี หาก ในการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปหลังการเลือกตั้ง ส.ส. ยังเสนอชื่อนาย ป. อยู่อีก ส.ว. ก็จะสามารถร่วมโหวตให้ความเห็นชอบได้อีกครั้ง และถ้าผ่าน นาย ป. จะดำรงตำแหน่งต่อไปอีก 4 ปี รวมเป็น 8 ปี...”
เริ่มจะมองเห็น ‘อนาคต’ ของการเมืองไทยได้ชัดขึ้นแล้ว !
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นคำถามพ่วงประชามติที่ให้ ส.ว. มีสิทธิ์เห็นชอบนายกรัฐมนตรี โดยมีประเด็นที่วินิจฉัยที่น่าสนใจอย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่
หนึ่ง ให้ ส.ส. เท่านั้นเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาจากบัญชีพรรคการเมือง หรือบุคคลภายนอก
สอง ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) เข้าชื่อกึ่งหนึ่งยื่นต่อประธานรัฐสภา ขอให้งดเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง และให้เลือกบุคคลภายนอกได้ หลังจากนั้นที่ประชุมร่วมรัฐสภาใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อขอยกเว้น ก่อนที่จะใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
สาม ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกี่ครั้งก็ได้ในช่วง 5 ปีแรก ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้
(อ่านประกอบ : เปิดคำวินิจฉัย ศาล รธน.ฉบับเต็ม! เฉลยเหตุให้ ส.ว.ขอยกเว้นเลือกนายกฯบัญชีพรรค)
ส่งผลให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรณีนี้อาจทำให้มี ‘นายกรัฐมนตรีคนนอก’ ที่ไม่ใช่ ส.ส. เข้ามามีอำนาจ และอยู่ยาวถึง 8 ปีได้
อย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อมูลจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้
หลายคนอาจทราบไปแล้วว่า มาตรา 272 เดิมบัญญัติไว้สรุปได้ว่า หากเกิดกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองตามที่แจ้งไว้ในมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ให้ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่เสนอชื่อต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง และที่ประชุมร่วมรัฐสภาใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ในการยกเว้น ก่อนที่จะใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งเห็นชอบบุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยจะเสนอชื่อบุคคลตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง หรือไม่ก็ได้
แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้ว เห็นว่าไม่สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติ จึงให้ กรธ. ไปแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้อำนาจ ส.ว. สามารถเข้าชื่อร่วมกับ ส.ส. ในการร่วมเข้าชื่อขอให้ยกเว้นไม่เลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง แต่ให้เลือกบุคคลภายนอกบัญชีพรรคการเมืองได้
เมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยดังกล่าว สามารถสรุปขั้นตอนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ดังนี้
ขั้นตอนแรก การเลือกนายกรัฐมนตรีเฉพาะจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ให้สิทธิ์ ส.ส. เท่านั้นในการเสนอชื่อบุคคลตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง หลังจากนั้นให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ลงมติด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง (376 คน จากทั้งหมด 750 คน เป็น ส.ส. ไม่เกิน 500 คน ส.ว. ไม่เกิน 250 คน)
แต่ถ้ายังเลือกไม่ได้ จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง คือเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง หรือนอกบัญชีก็ได้ โดยให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเข้าชื่อกันเกินกึ่งหนึ่ง (376 คน) เพื่อขอให้ประธานรัฐสภายกเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง
ขั้นตอนที่สาม หลังจากนั้นที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะต้องมีมติเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เพื่อขอยกเว้นดังกล่าว
ขั้นตอนสุดท้าย ให้ ส.ส. เท่านั้นเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง (376 คน) เป็นอันเสร็จสิ้น
ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยอีกด้วยว่า ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกี่ครั้งก็ได้ภายใน 5 ปีแรก นั่นหมายความว่า ต่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติทางการเมือง มีการ 'ยุบสภา' เกิดขึ้น ไม่ว่ากี่ครั้งในช่วง 5 ปีแรก ส.ว. ก็จะมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนข้างต้นทุกครั้ง
อธิบายให้เห็นภาพชัดคือ สมมติ นาย ป. ถูก ส.ส. เสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะต้องใช้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งเห็นชอบ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะเข้าชื่อเกินกึ่งหนึ่งขอให้ประธานรัฐสภาขอยกเว้นการเลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง และที่ประชุมร่วมรัฐสภาต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อขอยกเว้นดังกล่าว
หลังจากนั้น ส.ส. จะเป็นผู้เสนอชื่ออีกครั้ง และที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งเพื่อให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี โดยตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และดำรงตำแหน่งซ้ำได้ไม่เกิน 8 ปี
ดังนั้นเมื่อ นาย ป. อยู่ครบวาระ 4 ปีแล้ว ส.ว. ซึ่งยังเหลือวาระการดำรงตำแหน่งอยู่อีก 1 ปี หาก ในการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปหลังการเลือกตั้ง ส.ส. ยังเสนอชื่อนาย ป. อยู่อีก ส.ว. ก็จะสามารถร่วมโหวตให้ความเห็นชอบได้อีกครั้ง และถ้าผ่าน นาย ป. จะดำรงตำแหน่งต่อไปอีก 4 ปี รวมเป็น 8 ปี
ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ 'นักการเมือง' วิพากษ์วิจารณ์และหวั่นเกรงกันว่า อาจจะเปิดช่องให้ คสช. หรือคนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจได้ ?
ส่วนจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ ต้องรอติดตามอย่างใกล้ชิด !