เปิดคำวินิจฉัย ศาล รธน.ฉบับเต็ม! เฉลยเหตุให้ ส.ว.ขอยกเว้นเลือกนายกฯบัญชีพรรค
“…หากเกิดกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด การที่กำหนดให้ ส.ส. เป็นองค์กรที่มีสิทธิในการเสนอขอยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีพรรคการเมืองนั้น หากเกิดเหตุขัดข้อง รวบรวมรายชื่อได้ไม่ครบจำนวน จนเป็นเหตุให้กระบวนการทั้งหมดล่าช้า ย่อมส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องราบรื่นในกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่ต้องดำเนินการภายใต้การตัดสินใจของที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้…”
ค่อย ๆ คืบหน้าไปอย่างช้า ๆ !
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แก้ไขเพิ่มเติมประเด็นในส่วนคำถามพ่วงประชามติที่เปิดโอกาสให้ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้มาให้ เพื่อให้ตีความว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วมีสาระสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่
1.ผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองจะต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นสิทธิ์ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา
2.ที่ประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) จำนวนกึ่งหนึ่ง มีสิทธิ์เข้าชื่อยื่นประธานรัฐสภาในการขอให้งดเว้น มาตรา 88 และสามารถเสนอชื่อบุคคลอื่นนอกเหนือในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จากเดิมได้แค่ ส.ส. เข้าชื่อกึ่งหนึ่งจากจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
(อ่านประกอบ : ศาล รธน.ชี้ ส.ว.แห้วเสนอชื่อนายก! แต่มีสิทธิ์เสนอยกเว้นใช้บัญชีพรรค)
คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือ ทำไมต้องให้ ส.ว. ร่วมเข้าชื่อกับ ส.ส. ในการยื่นเรื่องขอให้งดเว้นการเลือกบุคคลในบัญชีพรรคการเมือง และไปเลือกบุคคลภายนอกได้ ?
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม ดังนี้
ประเด็นสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยนั่นคือ กรณีผู้มีสิทธิ์ในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี และผู้มีสิทธิ์เข้าชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาขอให้งดเว้น และสามารถเสนอชื่อบุคคลอื่นนอกเหนือในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี
โดยก่อนที่จะวินิจฉัย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ส่งความเห็นเกี่ยวกับคำถามพ่วงประชามติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วย
โดย สนช. มีความเห็นสรุปได้ว่า กรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ ไม่จำเป็นต้องให้ ส.ส. เข้าชื่อกันเพื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้งดเว้น และสามารถเสนอชื่อบุคคลอื่นนอกเหนือบัญชีพรรคการเมืองให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ให้สิทธิ์ต่อที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้เลย เพราะไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาในการขอยกเว้นขอเสนอชื่อบุคคลนอกบัญชีพรรคการเมือง เนื่องจากท้ายสุดที่ประชุมรัฐสภาจะเป็นผู้เห็นชอบอยู่แล้ว
ส่วน สปท. มีความเห็นสรุปได้ว่า ในคำถามพ่วงประชามติ ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า “ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา” ซึ่งคำว่า “ต้องมาจาก” มีนัยและความหมายในตัวเองว่า ผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นต้องมาจากรัฐสภาเช่นกัน และการให้รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ย่อมมีความหมายต่อเนื่องจากประเด็นเพิ่มเติมของ สปท. และมีความหมายในตัวเองว่า สมาชิกรัฐสภาจะต้องเสนอรายชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีได้ด้วย เพราะถือเป็นกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว
หรือพูดให้ง่ายขึ้นคือ ทั้ง สนช. และ สปท. ต่างมีความเห็นตรงกันว่า ควรจะให้สมาชิกรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) สามารถ ‘เสนอชื่อ’ บุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ว่าจะมาตามบัญชีพรรคการเมือง หรือนอกบัญชีพรรคการเมือง รวมถึงให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย
อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการแบ่งขั้นตอนการเสนอชื่อและการให้ความเห็นชอบออกจากกัน เนื่องจากต้องการให้เสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ เพราะก่อนการเลือกตั้ง ประชาชนได้ทราบรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว ถ้าบุคคลผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เท่ากับว่ากระบวนการทางการเมืองนั้น ได้รับความไว้วางใจประชาชน
ทั้งนี้ในคำถามพ่วงประชามติ เข้าใจได้ว่า ประเด็นเพิ่มเติมประสงค์เฉพาะให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่รวมถึงการเสนอชื่อบุคคล ดังนั้นจึงสอดคล้องและชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้ว
อีกประเด็นศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ‘ไม่สอดคล้อง’ กับผลประชามติ คือ กรณีให้ ส.ส. ไม่เกินกึ่งหนึ่งเข้าชื่อยื่นประธานรัฐสภาขอให้งดเว้น มาตรา 88 และสามารถเสนอชื่อบุคคลอื่นนอกเหนือในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีได้
ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อความในคำถามพ่วงประชามติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับประเด็นคำถามพ่วงประชามติ เนื่องจากการเสนอเพื่อขอยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 นั้น แม้จะไม่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบตัวบุคคลผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีตามถ้อยคำของคำถามพ่วงประชามติก็ตาม แต่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จำเป็นต้องแก้ไขให้สอดคล้องกันทุกส่วนและทุกขั้นตอน ซึ่งรวมถึงขั้นตอนในการเสนอขอยกเว้นดังกล่าวด้วย
เมื่อพิจารณาขั้นตอนในการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ที่ให้ ส.ส. เป็นผู้หน้าที่เสนอชื่อแล้ว หากเกิดกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด การที่กำหนดให้ ส.ส. เป็นองค์กรที่มีสิทธิในการเสนอขอยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีพรรคการเมืองนั้น หากเกิดเหตุขัดข้อง รวบรวมรายชื่อได้ไม่ครบจำนวน จนเป็นเหตุให้กระบวนการทั้งหมดล่าช้า ย่อมส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องราบรื่นในกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่ต้องดำเนินการภายใต้การตัดสินใจของที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้
ดังนั้นเพื่อให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม และมาตรา 272 วรรคสอง ที่มุ่งหมายให้เป็นทางออกกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ จึงจำเป็นต้องให้ ส.ว. ร่วมเป็นผู้เสนอขอยกเว้นดังกล่าวได้ด้วย โดยให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) เข้าชื่อกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพราะในขั้นตอนนี้ ไม่ใช่การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี แต่เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากการเสนอชื่อแล้ว ก่อนที่จะใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรี
ท้ายสุดอีกประเด็นหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยว่า การเริ่มนับระยะเวลา 5 ปีแรกตามคำถามพ่วงประชามตินั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่เปิดการประชุมร่วมรัฐสภาครั้งแรก ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่แค่การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพียงอย่างเดียว
ทั้งหมดคือประเด็นต่าง ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ ก่อนจะส่งให้ทาง กรธ. ปรับแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติต่อไป