ตัวแทนสหกรณ์ฯคลองจั่นร้อง มล.ปนัดดาใช้ม.44 แก้ปัญหา
ตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ฯคลองจั่นร้องรัฐช่วยเร่งแก้ปัญหาก่อนจะล้มละลาย รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอธนาคารภาครัฐช่วยตั้งกองทุนรวม และปล่อยสินเชื่อ ด้านมล.ปนัดดาไม่เห็นด้วยใช้ม.44กดดันการทำงาน
วันที่ 28 กันยายน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการจัดหาแหล่งเงินทุน สนับสนุนการฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ร่วมกับตัวแทนผู้ที่ได้รับความเสียหายสหกรณ์คลองจั่น ณ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์บริการประชาชน
นายศุภกิจ แก้วทรง ตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ฯคลองจั่น กล่าวว่า ต้องการให้รัฐช่วยเร่งรัดประสานดูแลการแก้ไขปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น พร้อมกันนี้ยืนยันว่าแผนฟื้นฟูของสหกรณ์ฯมีความชัดเจนสามารถตอบโจทย์ได้ โดยเฉพาะความสามารถในการชำระเงินกู้คืนให้กับสถาบันการเงินของรัฐที่จะอนุมัติเงินกู้ให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หากล่าช้าเกรงว่า สุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย
นายศุภกิจ กล่าวต่อว่า วันที่ 25 พ.ย.นี้ ศาลจะมีคำพิพากษาคดีเลขที่ 1674/2557 ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์ในคดีกว่า 3,800 ล้านบาท หากศาลมีคำสั่งเป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นก็จะมีรายได้นำมาชำระหนี้แก่สมาชิกและเจ้าหนี้ต่อไป
“พวกผมและสมาชิกได้ติดตามการบริหารงานของคณะกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นให้กลับมามีความแข็งแกร่งเช่นในอดีต"
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมฯได้สอบถามไปยังบอร์ดบริหารธนาคารภาครัฐ แต่ยังไม่ได้คำตอบ ซึ่งแนวทางที่เห็นมีความเป็นไปได้คือ 1.ตั้งกองทุนรวมวงเงิน2หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งจะนำไปช่วยเหลือสหกรณ์คลองจั่น โดยให้ธนาคารกรุงไทยเข้ามาบริหารจัดการในการขายหน่วยลงทุน ซึ่งจะเริ่มในเดือนต.ค.นี้ คาดว่าจะได้วงเงินประมาณ 28 ล้านบาท 2.ให้ธนาคารรัฐ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กับธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อวงเงิน 5,700 ล้านบาท โดยรวมกับการขายทรัพย์สินของสหกรณ์และนาแปรรูปเป็นเงิน ประมาณ 900 ล้านบาท และเงินที่ศาลสั่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดทรัพย์ 3,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 4,200 ล้านบาท หากแนวทางดังกล่าวธนาคารเห็นด้วยและตอบรับกลับมา ก็จะเสนอครม.พิจารณาต่อไปภายในวันที่ 30 ต.ค.นี้ แต่หากไม่เห็นด้วยก็จะต้องมาพูดคุยหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางอื่นต่อไป
นางวรรณภา พิลังกาสา ตัวแทนตัวแทนสหกรณ์ฯคลองจั่น กล่าวว่า ในการประชุมเพื่อหาข้อสรุปแต่ละครั้งทางธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ได้ส่งคนที่ไม่มีสถานะและอำนาจในการตัดสินใจเข้าร่วมประชุมซึ่งดูเหมือนไม่ให้ความสำคัญของเรื่องนี้ ทั้งที่ตามหลักความเป็นจริงในการประชุมนโยบายทางธนาคารควรจะส่งตัวแทนที่สามารถตัดสินใจได้มาเข้าประชุมเพื่อที่จะได้หาข้อสรุป
"ควรส่งคนที่สามารถตัดสินใจได้มาประชุม ไม่ใช่ว่ามาแล้วก็มาบอกว่าติดข้อบังคับหรือผิดระเบียบต่างๆ สมมติว่าถ้าติดขัดตรงนี้อยากให้ทางภาครัฐใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ คือต้องการให้คนทำสั่งการได้โดยไม่มีความผิดอันนี้จะทำให้เรื่องนี้แก้ไขได้เร็วขึ้น"
ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า ยินดีที่จะช่วยประสานและติดตามกรณีเงินสนับสนุนจำนวน 10,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงินของรัฐ ต่อไป
"ยอมรับว่าเรื่องนี้เราหนักใจ ส่วนการเสนอใช้มาตรา 44 คงไม่ใช่อำนาจในส่วนของราชการที่จะใช้มาตราพิเศษมาและเป็นการกดดันการทำงานของข้าราชการพลเรือน แต่พยายามเร่งรัดในส่วนของขั้นตอน "