ปรับครม.แก้การเมืองแต่กระทบงานใต้ "โกวิท"บ๊ายบาย "ยุทธศักดิ์-สุกำพล"เสียบแทน
ครม.ยิ่งลักษณ์ 2 ที่เพิ่งปรับเปลี่ยนกันไปกว่าสิบตำแหน่งนั้น มีการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวเนื่องกับงานด้านความมั่นคงที่เชื่อมโยงถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเช่นกัน
โดยการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งๆ ที่ทำงานมาเพียงแค่ 5 เดือนเศษ มีตำแหน่งที่เกี่ยวกับงานด้านความมั่นคงหลายตำแหน่ง ได้แก่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ พ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และไม่มีตำแหน่งใดๆ ใน ครม.ใหม่
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทน
ทั้งนี้ พล.ต.อ.โกวิท จัดเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงซึ่งรับผิดชอบงานคาบเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยระหว่างที่ดำรงตำแหน่งก็เคยเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาและเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ โดยเฉพาะตำรวจ
ที่ผ่านมา พล.ต.อ.โกวิท ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยังมีบทบาทให้คำปรึกษาและช่วยเหลืองานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ เนื่องจากความเป็นอดีตตำรวจด้วยกัน แม้ว่า พล.ต.อ.โกวิท จะไม่ได้รับผิดชอบกำกับดูแล ศอ.บต.โดยตรงก็ตาม
การปรับ พล.ต.อ.โกวิท ออกไปจาก ครม.เลยด้วยเหตุผลที่ลือกันว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการทำงานมากนัก จึงย่อมมีผลต่องานภาคใต้ไม่มากก็น้อย เพราะ พล.ต.อ.โกวิท เป็นรัฐมนตรีที่ติดตามปัญหามาตั้งแต่ต้น ทั้งยังได้รับการวางตัวเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นชต. ตามโครงสร้างใหม่ที่เสนอโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ด้วย
รัฐมนตรีใหม่ที่มาแทนตำแหน่งและความรับผิดชอบของ พล.ต.อ.โกวิท คือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ซึ่งเจ้าตัวเพิ่งให้สัมภาษณ์ว่าแม้จะถูกปรับจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ก็ถือเป็นการปรับที่ดี เพราะจะได้ไปนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง โดยนายกฯได้มอบหมายให้กำกับดูแล กอ.รมน. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกระทรวงกลาโหม
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ถูกโยกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วยข้อกล่าวหาซึ่งเป็นที่รู้กันภายในว่า การทำงานที่ผ่านมาโอนอ่อนผ่อนตามผู้บัญชาการเหล่าทัพมากเกินไป และไม่สามารถจัดการเรื่องการบริหารงานบุคคลผ่านการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพลเมื่อปีที่แล้วได้ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.กลาโหมฯ ด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลชุดนี้มีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับกองทัพ เพราะนายทหารที่คุมตำแหน่งสำคัญอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในกองทัพบก เคยมีบทบาทในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 โค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และยังมีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการ "กระชับพื้นที่" เพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.2553 จนมีผู้เสียชีวิตทั้งฝ่ายทหาร ผู้ชุมนุม สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปกว่า 90 ราย
ขณะที่ "คนเสื้อแดง" คือผู้สนับสนุนหลักของพรรคเพี่อไทย แกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่แปรสภาพมาจากพรรคไทยรักไทยกับพรรคพลังประชาชนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ยุบพรรคเมื่อปี 2550 และ 2551 ตามลำดับ โดยกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมหลังการรัฐประหาร
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงต้องการเข้าไปมีบทบาทในการแต่งตั้งนายทหารระดับสูงในกองทัพเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายทหาร และเป้าหมายสำคัญที่สุดคือตั้งคนของตัวเองหรือที่ตัวเองไว้วางใจขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำกองทัพ เพื่อป้องกันการถูกรัฐประหารซ้ำรอยเดิม
ฉะนั้นเมื่อ พล.อ.ยุทธศักดิ์ หรือ "บิ๊กอ๊อด" นายทหารอาชีพที่ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณคือปลัดกระทรวงกลาโหม กลับไปมีความสัมพันธ์อันดีกับบรรดาผู้นำเหล่าทัพ และยังไม่มีวี่แววว่าจะกดดันให้กองทัพยอมแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมฯ เพื่อเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งนายทหารระดับสูงได้ จึงมีความจำเป็นต้องปรับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แล้วสลับเอา พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต จากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาทำหน้าที่แทน
พล.อ.อ.สุกำพล เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และสนิทสนมกับครอบครัวชินวัตรอย่างมาก โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษางานด้านความมั่นคงและการทหารให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ มาตลอด
สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเรืองอำนาจ พล.อ.อ.สุกำพล ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารอากาศ (เสธ.ทอ.) และได้รับการวางตัวจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ทว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกรัฐประหารเสียก่อนเมื่อปี 2549 หลังจากนั้น พล.อ.อ.สุกำพล ซึ่งถูกมองว่าเป็นเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ถูกเด้งเข้ากรุ และไม่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพอีกเลยกระทั่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนสุดท้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ
การก้าวเข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของ พล.อ.อ.สุกำพล จึงถูกมองว่ามีภารกิจสำคัญเรื่องการผลักดันให้แก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมฯ เป็นด้านหลัก ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์รายการวิทยุรายการหนึ่งเมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 19 ม.ค. เจ้าตัวก็ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.กลาโหมฯ เพราะทำให้กองทัพเหมือนเป็น "รัฐอิสระ" เนื่องจากฝ่ายการเมืองไม่สามารถแต่งตั้งนายทหารได้เลย
การปรับย้ายรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านความมั่นคงเที่ยวนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการดำเนินการด้วยเหตุผลทางการเมืองเท่านั้น และย่อมส่งผลกระทบกับความต่อเนื่องของงาน ความเป็นเอกภาพ รวมทั้งสะเทือนถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบันมีบทบาทกับปัญหาภาคใต้น้อยมาก ทั้งๆ ที่ทำงานมากว่า 5 เดือนแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่เคยลงพื้นที่ชายแดนใต้เลยแม้แต่ครั้งเดียว
ที่สำคัญจนถึงขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้ง "องค์กรบริหารใหม่" เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างบูรณาการ ตามที่ กอ.รมน.เสนอโครงสร้าง นชต.เพื่อคุมนโยบาย และให้แม่ทัพภาคที่ 4 มีอำนาจเบ็ดเสร็จควบคุมทุกหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ภายใต้โครงสร้างคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต. ประเด็นนี้ทำให้เกิดปัญหาความอึมครึมในแง่นโยบายสูงสุดว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไร เพราะโครงสร้างใหม่ก็ยังไม่เห็นชอบ ขณะที่โครงสร้างเก่าก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินตามแนวทางที่รัฐบาลประชาธิปัตย์วางไว้หรือไม่
ขณะที่การจัดโครงสร้างความรับผิดชอบของรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังคงลักลั่นและสับสนต่อไป โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานตำรวจ กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานฝ่ายปกครอง กำกับดูแล ศอ.บต. และมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง กำกับดูแล กอ.รมน. สขช. สมช. และกระทรวงกลาโหม ทั้งๆ ที่งานการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องบูรณาการกันทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง
การปรับ ครม.เที่ยวนี้ แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีในฝ่ายความมั่นคง แต่ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะทำให้ภารกิจดับไฟใต้มีความหวังมากขึ้นแต่อย่างใด!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้าย) พล.ต.อ.โกวิท, พล.อ.ยุทธศักดิ์ และ พล.อ.อ.สุกำพล (รวมภาพโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)