‘โฮมแคร์’ เรียกบริการคนดูแลผู้ป่วยที่บ้านผ่านแอพฯ อีกธุรกิจรับสังคมสูงวัย
“การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เข้ากับบริบทของคนเอเชียที่เราให้ความสำคัญในเรื่องความกตัญญู เราไม่ได้เกิดมากับวัฒนธรรมที่จะส่งพ่อแม่ไปอยู่ สถานดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) หรือมี Nursing Home เยอะๆ ได้มาตรฐาน เหมือนญี่ปุ่น”
การเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาที่ตามมาก็คือเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน (ต้องการการดูแลบ้าง ไม่ตลอดเวลา) กับผู้สูงอายุติดเตียง (ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนดูแลตลอด 24 ชั่วโมง) กำลังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในงานวิจัย “พร้อมรับสังคมสูงวัย: วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว กับทางเลือกระยะท้ายของชีวิต” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ พบว่า ในปี 2560 จะมีผู้สูงอายุติดบ้าน/ติดเตียง ทั้งสองกลุ่มรวมกันกว่า 3.7 แสนคน และในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2580 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 แสนคน
ขณะที่ผู้สูงอายุติดบ้านนั้น ต้องการการดูแลโดยเฉลี่ยประมาณ 100 ชั่วโมง/เดือน โดยในปี 60 จะมีความต้องการผู้ดูแลสำหรับผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียงรวมกันประมาณ 2.5 แสนคน และในปี 2580 ความต้องการผู้ดูแลเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 6 แสนคน
"สังคมสูงวัย" ที่หลายคนมองมีแต่เรื่องราวแย่ๆ นั้น ยังมีมุมมองมีโอกาสของการเกิดอาชีพ และเกิดธุรกิจใหม่ๆ ได้ด้วยเช่นกัน ทั้งกิจการผู้ตรวจสอบคุณภาพสถานให้บริการ บริการรถรับ-ส่งผู้สูงอายุหรือผู้พิการ บริการดูแลระยะยาวและ day care ตัวแทนขายวัสดุ อุปกรณ์สำหรับผู้รับประโยชน์ ตลาดสินค้า(สำหรับผู้สูงอายุ) มือสอง บริการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้โดยผู้สูงอายุ เป็นต้น
'หมอตั้ม' นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ อายุรแพทย์ด้านผู้สูงอายุ วัย 33 ปี หนึ่งในผู้ที่มองเห็นช่องทางการดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่บ้านว่า กำลังเป็นกระแสที่จะกลับมา ซึ่งเกิดขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยี
ย้อนไปเมื่อปี 2013 ขณะที่หมอตั้มศึกษาเรื่องเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ อยู่ที่นิวยอร์ก เขาได้เห็นความก้าวหน้าของการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เห็นคนไข้ที่เจ็บป่วยโรคเรื้อรัง หรือมีภาวะพึ่งพิง ไม่จำเป็นต้องถูกส่งไปอยู่ Nursing home ทุกราย และลูกหลานก็ไม่ต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลเต็มเวลา
กลับมาเมืองไทย หมอตั้ม ก่อตั้ง Health at Home ขึ้น เพราะมองเห็นว่า โฮมแคร์กำลังจะกลับมา "ที่สหรัฐอเมริกาจะไม่มีการสร้างโรงพยาบาลใหม่แล้ว เพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่พยายามส่งคนไข้กลับบ้าน และส่งหมอ พยาบาลไปดูแลที่บ้าน ใช้ระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ในการมอนิเตอร์ สามารถลดค่าใช้จ่ายภาครัฐได้”
พร้อมกันนี้ เขายังเห็นว่า การดูแลผู้ป่วยที่บ้านนั้นเข้ากันได้ดีกับบริบทของคนเอเชียที่เราให้ความสำคัญในเรื่องความกตัญญู "เราไม่ได้เกิดมากับวัฒนธรรมที่จะส่งพ่อแม่ไปอยู่ สถานดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) หรือมี Nursing Home เยอะๆ ได้มาตรฐาน เหมือนญี่ปุ่น”
ธุรกิจ Health at Home ของหมอตั้ม จึงเกิดขึ้นด้วยคอนเซ็ปทำให้บ้านเป็นโรงพยาบาล จะส่งผู้ดูแลไปบริการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ขณะที่เครื่องมือดูแลผู้ป่วยต่างๆ นั้น เขาจะคอยให้คำแนะนำกับครอบครัวที่มาใช้บริการ
ปัจจุบัน Health at Home มีผู้ใช้บริการกว่า 40 ครอบครัว (บ้าน) แล้ว เคสหนักๆ มีทั้งติดบ้านและติดเตียง ที่ต้องการคนดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้ดูแลที่ลงทะเบียนไว้กับ Health at Home มีถึง 119 คน 90% จะเป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 40 - 50 ปี มีทักษะตั้งแต่ผู้ดูแลคนไข้, ผู้ช่วยเหลือคนไข้, ผู้ช่วยพยาบาล ไปจนถึงพยาบาล ดูแลทั้งเคสอยู่เป็นเพื่อน เคสติดเตียง ทั้งระยะสั้น-ระยะยาว
หมอตั้ม บอกว่า ผู้ดูแลของเขาทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนไว้ จะรับงานผ่านแอพลิเคชั่น Health at Home ในมือถือ คล้ายๆ กับ Uber
"คุณสมบัติผู้ดูแล Health at Home จะเลือกรับเฉพาะคนที่มีประสบการณ์อยู่แล้วก่อน จากนั้นฝึกอบรมให้ครึ่งวัน เช่น ทักษะปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) การดูดเสมหะ การให้อาหารทางสายยาง ก่อนจะมีอาจารย์พยาบาลจัดสอบวัดผลให้อีกครึ่งวัน"
เมื่อสอบผ่านถึงเข้าระบบ โดยมีใบรับรองจาก Health at Home ให้
อายุรแพทย์ด้านผู้สูงอายุ เห็นว่า ปัจจุบันธุรกิจผู้ดูแล เป็นธุรกิจที่ไม่มีมาตรฐานอย่างเป็นทางการรองรับ เราจึงออกแบบเพื่อให้เป็นมาตรฐานในทางปฎิบัติงานได้จริง มีความเชี่ยวชาญใช้ประโยชน์ได้จริง
"การดูแลผู้ป่วย นอกจากการได้คนดีแล้วควรต้องมีระบบที่ดีด้วย จึงต้องสร้างระบบของเราเองในการคัดกรองและพัฒนาบุคลากรผู้ดุแลที่มีคุณภาพไปดูแลผู้ป่วยระยะยาว"
เมื่อถามถึงค่าตอบแทนผู้ดูแลต่อคนนั้น หมอตั้ม คำนวณให้ว่า อยู่ระหว่าง 1.5 -2.5 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ผู้ดูแลและอาการผู้ป่วย บ้านเรายังมองผู้ดูแลผู้ป่วยกับแม่บ้านไม่แตกต่างกัน ฉะนั้น จำเป็นต้องมีมาตรฐานมีกรอบเวลาการทำงานและเวลาพักที่ชัดเจน
ค่าตอบแทนผู้ดูแลผู้ป่วยระยะยาว หรือระยะสุดท้าย ในบ้านเรายังมองผู้ดูแลผู้ป่วยกับแม่บ้านให้ค่าตอบแทนไม่แตกต่างๆ กัน ดังนั้น ตัวมาตรฐานต้องเกิดขึ้น และสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ
ปัจจุบันค่าตอบแทนผู้ดูแลผู้ป่วยเริ่มต้น 1.5 หมื่นบาท ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักอยู่ที่ 1.8-2.5 หมื่นต่อเดือน ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง มีเวลาพัก
โดยเฉลี่ยเฉพาะค่าผู้ดูแลต่อครอบครัวมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท
"ผมอยากโปโมทโฮมแคร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และอยากต่อยอดบริการอื่นๆ อีก เช่น มีหมอไปเยี่ยมที่บ้าน ซึ่งในต่างจังหวัดระบบบริการสาธารสุขของรัฐมีบริการตรงนี้อยู่ แต่ในกรุงเทพฯ แลปริมณฑลยังขาด รวมถึงบริการเจาะเลือด ทำกายภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ใกล้โรงพยาบาลมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อเพื่อเก็บข้อมูลผู้ป่วย เชื่อมกับโรงพยาบาล ปัจจุบันผมกำลังคุยกับบริษัทประกัน เพราะบ้านเรายังไม่มีประกันบริษัทใดเบิกจ่ายโฮมแคร์ได้เลย ทั้งๆ ที่แทบทุกบริษัทอยากเบิกจ่ายโฮมแคร์ อยากให้คนไข้กลับบ้าน เพราะลดเคลมคอร์สลงได้เยอะ”
'หมอตั้ม' ทิ้งท้ายด้วยว่า เรื่อง Palliative care ระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว หรือการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วันนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันมากนักในบ้านเรา ทั้งๆ ที่สังคมไทยมีการเติบโตของกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเรายังขาดการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวอย่างเป็นระบบ
ฉะนั้น การส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ค่าใช้จ่ายการดูแลที่บ้านเฉลี่ยแล้วก็ยังต่ำกว่านอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลครึ่งต่อครึ่ง ในหลายๆ ประเทศมีการเสียชีวิตที่บ้านในสัดส่วนสูง รวมถึงผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการใช้ชีวิตวันสุดท้ายที่บ้าน จะดีไม่น้อยเรามีกลไกสนับสนุนทางการเงินแก่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ