เบื้องหลัง!ปฏิบัติการเด้งปลัดก.ทรัพย์ฟ้าผ่า! เคลียร์ทางตั้งสนง.คกก.น้ำแห่งชาติ
"... เหตุผลสำคัญที่ทำให้ นายเกษมสันต์ ถูกคำสั่งให้ย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษ น่าจะเป็นเพราะมีความเห็นขัดแย้งกับ รมว.ทส. ในเรื่องการยุบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มารวมกับกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลเรื่องน้ำทั้งระบบ ภายใต้ชื่อว่า 'สำนักงานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ' ซึ่งแนวคิดนี้ นายเกษมสันต์ ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ .."
"เรื่องนี้ต้องไปถามรัฐมนตรีเอง แต่ส่วนตัวก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที ส่วนเรื่องความขัดแย้งคงไม่พูดถึง"
คือ คำยืนยันจากปากของ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ตอบคำถามสื่อมวลชน หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม) มีคำสั่งให้ไปดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2559 ที่ผ่านมา ว่า เป็นเพราะมีความขัดแย้งกับ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. หรือไม่
แม้ นายเกษมสันต์ จะไม่ตอบคำถามข้อนี่ แต่การระบุให้สื่อมวลชนไปถามคำถามนี่ กับ รมว.ทส. เอาเอง ก็คงพอจะทำให้เห็นร่องรอยอะไรบ้างอย่างชัดเจนมากขึ้น
ขณะที่ ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจาก แหล่งข่าวระดับสูงใน ทส.ว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ นายเกษมสันต์ ถูกคำสั่งให้ย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษ น่าจะเป็นเพราะมีความเห็นขัดแย้งกับ รมว.ทส. ในเรื่องการยุบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มารวมกับกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลเรื่องน้ำทั้งระบบ ภายใต้ชื่อว่า 'สำนักงานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ' ซึ่งแนวคิดนี้ นายเกษมสันต์ ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้
ขณะที่ รมว.ทส. เห็นว่าเป็นสำคัญที่ควรต้องดำเนินการ และเป็นนโยบายของรัฐบาล เพราะที่ผ่านมา การบริหารงานของ 2 กรม ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ต่างคนต่างทำงาน เวลามีน้ำท่วม น้ำแล้ง รัฐบาลก็โดนด่าโดนต่อว่าทุกที
จึงจำเป็นที่จะต้องรื้อโครงสร้างการบริหารงานแบบเดิม และสร้างโครงสร้างการทำงานใหม่ที่ดีกว่าขึ้นมาดำเนินการแทน
เมื่อ 'นายเกษมสันต์' แสดงจุดยื่นไม่เห็นด้วยชัดเจนแบบสุดโต่ง และ รมว.ทส. รวมถึงคนในรัฐบาลก็ไม่อยากให้'นายเกษมสันต์' เที่ยวไปพูดที่ไหนอีก ปฏิบัติการเด้งปลัดก.ทรัพย์ฟ้าผ่า เพื่อเคลียร์ทางตั้ง สนง.คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ จะเกิดขึ้น
โดยใช้วิธีการแบบละมุนละม่อม ให้ 'หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล' รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งขอรับโอน นายเกษมสันต์ มาดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสม (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ก็เริ่มดำเนินการไปพร้อมกัน ในรูปแบบการเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจ ม.44 ระบุสาระสำคัญ 2 ส่วนหลัก คือ
1. ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ขึ้นในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ มีฐานะเป็นกรม โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ เป็นหัวหน้าส่วนราชการ
2. ให้ยุบเลิกกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล อยู่ในสังกัดของกรมทรัพยากรน้ำ และสำนักงานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ
พร้อมกับกระแสข่าวที่ดัง ออกมาว่า หลังถูกออกคำสั่งให้ย้ายไปเป็นผู้ตรวจพิเศษ นายเกษมสันต์ ไม่พอใจเอามากๆ และเตรียมที่จะแสดงออกจุดยืนอะไรบางอย่างในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแนวคิดของรัฐบาล ในการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ขึ้นมาดูแลเรื่องน้ำของ ทส.ทั้งระบบ เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น นับว่าเป็นแนวทางการดำเนินงานที่ดี
แต่ในขั้นตอนการดำเนินงานถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนใน ทส. อยู่ 2 ประเด็นหลัก คือ
1. เมื่อจะรวมหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องน้ำทั้งระบบ ทำไมถึงไม่คิดดึงกรมชลประทานเข้ามาร่วมด้วย เพื่อจะทำให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศเป็นระบบแบบบูรณาการมากขึ้น
2. บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็น เลขาธิการคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ปรากฎชื่อของ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ที่เพิ่งถูกโยกย้ายให้ไปเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นหนึ่งในตัวเลือกด้วย
ซึ่งในข้อเท็จจริง แม้ว่า การโยกย้ายนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ไปเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ถูกมองว่า มีสาเหตุมาจากการดำเนินการโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วประเทศ จำนวน 1,689 โครงการ งบประมาณ 818 ล้านบาท ที่ถูกสตง.ตรวจสอบว่า มีการก่อสร้างแบบผิดสเปก ในส่วนของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 (พิษณุโลก) ที่เพิ่งถูกสั่งยกเลิกโครงการไป และกำลังขยายผลการตรวจสอบไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศ
(อ่านประกอบ : โชว์ชัดๆ บันทึกยกเลิกงานแหล่งน้ำ'สทภ.9' 182 ล. กับคำถามที่กรมทรัพย์ฯ ต้องตอบ?)
แต่ถ้าหากพิจารณาในดีจะพบว่า การโยกย้ายนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ไปเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มิใช่การถูกลงโทษอะไร เพราะยังอยู่ในตำแหน่งอธิบดีเท่าเดิม
และถ้าหากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ถูกยุบไปอยู่ในสังกัดของกรมทรัพยากรน้ำ และสำนักงานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ขณะที่ นายสุพจน์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ สถานะของนายสุพจน์จะใหญ่โต โก้หรู กว่าตำแหน่ง 'อธิบดี' เสียอีก
ซึ่งถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ ก็เท่ากับว่าการโยกย้ายตำแหน่งของนายสุพจน์ ครั้งนี้ เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย แม้ว่างานที่เคยทำในช่วงเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ จะมีปัญหากลิ่นไม่ดีมากแค่ไหน ก็ยังคงได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจอยู่เหมือน
ส่วนเหตุผลว่าทำไม ผู้มีอำนาจ ถึงยังคงให้การสนับสนุน นายสุพจน์ ก็เป็นเรื่องที่รับรู้กันดีของคนในทส.ว่า ข้าราชการ ผู้นี้ 'ยอมลงทุน' 'ทุ่มเท' ทำงานให้ 'ผู้ใหญ่' มากมายขนาดไหน
ด้วยเหตุผลข้อสังเกตเหล่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ อะไรที่ทำให้คน ทส.ส่วนใหญ่ ยังไม่เชื่อมั่นว่า ต่อให้มีการจัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ขึ้นมาแล้วจริงๆ จะสามารถช่วยให้การทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศชาติดีขึ้น
เพราะเมื่อต้นทางมีปัญหาแบบนี้แล้ว ปลายทางจะมีปัญหาตามมาแบบไหน แค่หลับตานึกถึงก็เห็นภาพชัดเจนแล้ว