ฮือฮาพบปลาชนิดใหม่ของโลก! ใกล้แหล่งน้ำ "ป่าพรุโต๊ะแดง"
ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย โดยเฉพาะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการยืนยันอีกครั้งเมื่อมีการค้นพบปลาพันธุ์ใหม่ของโลก ชื่อว่า "ปลาหวีเกศพรุ" ที่บริเวณป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส ในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังจากใช้เวลาตรวจสอบอนุกรมวิธานนาน 16 ปี
ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสประจำโครงงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำ สำนักงานใหญ่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เปิดเผยว่า เพิ่งได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า "ปลา" ซึ่งถูกค้นพบในโครงการสำรวจพันธุ์ปลาในป่าพรุจากแหล่งน้ำคลองปลักปลา ใกล้กับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และคลองรอบๆ พรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส โดยเป็นการทำงานร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2538 นั้น เป็นปลาพรุชนิดใหม่ของโลก ชื่อว่า "ปลาหวีเกศพรุ" ซึ่งได้รับการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pseudeutropius indigens และได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในวารสารนานาชาติ Zootaxa เมื่อปลายปี 2554
สำหรับ "ปลาหวีเกศพรุ" เป็นปลาที่มีลักษณะคล้ายปลาสังกะวาด แต่มีลักษณะเด่นคือ ส่วนหัวเล็ก มีซี่กรองเหงือกจำนวน 33-35 อันที่โครงแรก และมีครีบก้นค่อนข้างยาว มีก้านครีบก้น 37-41 ก้าน ปากเล็ก มีฟันแหลมซี่เล็กๆ จำนวนมาก มีหนวดเส้นยาวเรียว 4 คู่ โดยหนวดยาวเลยครึ่งของลำตัว ถือเป็นปลาหนังขนาดเล็ก มีความยาวลำตัวประมาณ 7 เซ็นติเมตร ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาชนิดนี้เป็นคำภาษาละตินที่หมายความว่า "มีน้อยกว่า" จากลักษณะของจำนวนซี่กรองเหงือกและก้านครีบก้นซึ่งมีน้อยกว่าปลาที่มีรูปร่างคล้ายๆ กัน ชนิดที่พบทางเกาะสุมาตรา และนั่นทำให้เจ้าปลาหวีเกศพรุจัดเป็นปลาชนิดใหม่ของโลก
"ปลาหวีเกศพรุเป็นปลาที่พบน้อย แต่ก็ถูกจับไปขายเป็นปลาสวยงามเป็นครั้งคราวรวมกับปลาพรุชนิดอื่นๆ หรือถูกจับปนไปกับปลาที่กินได้ขนาดเล็กต่างๆ พบอาศัยอยู่ตามบริเวณลำน้ำสาขารอบๆ ป่าพรุโต๊ะแดง และในแม่น้ำโก-ลก นอกจากนั้นยังพบในลำน้ำสาขาของแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำตาปี และอาจพบในแม่น้ำกลันตันของมาเลเซียด้วย"
"ปลาหวีเกศพรุเป็นปลาหนังขนาดเล็กที่ชาวบ้านไม่ค่อยให้ความสนใจนัก มักถูกเรียกรวมๆ ว่าปลาผี หรือปลาก้างพระร่วง แต่อยู่ในวงศ์ปลาสังกะวาด Schilbeidae สกุล Pseudeutropius ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ชนิด โดย 2 ใน 3 พบที่เกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว ได้แก่ ชนิด P. brachypopterus และ P. moolenburghae ส่วนอีกหนึ่งชนิดคือ P. mitchelli พบทางทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ที่ผ่านมามีการศึกษาชีวประวัติของปลาในสกุลนี้น้อยมาก" ดร.ชวลิต กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพแวดล้อมลุ่มน้ำ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันระบบนิเวศพรุกำลังประสบปัญหามาก โดยพรุประกอบด้วยป่าดงดิบชื้นและบึงน้ำขัง มีสังคมพืชและชั้นอินทรียสารที่สะสมมายาวนานอย่างน้อยหมื่นปี และมีลักษณะเฉพาะของพันธุ์พืช สัตว์ป่า และสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ ประเทศไทยเคยมีพื้นที่พรุราว 4 แสนไร่ ส่วนมากอยู่ในภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไป แต่ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ทำให้ป่าพรุดั้งเดิมเสื่อมสภาพจนเหลือไม่ถึง 6 หมื่นไร่ และเหลือพรุดั้งเดิมเพียงแห่งเดียวคือ ป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส นอกจากนั้นก็มีป่าพรุฟื้นตัวที่พรุคันธุลี จ.สุราษฎร์ธานี และป่าพรุซับจำปา จ.ลพบุรี
ป่าพรุที่ยังเหลืออยู่นี้เป็นแหล่งพันธุกรรมของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ปลาอย่างน้อย 29 วงศ์ 101 ชนิด สัตว์น้ำอื่นๆ เช่น กุ้ง ปู มากกว่า 5 ชนิด และหอย 3 ชนิด พรุที่ยังคงมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากที่สุดคือบริเวณพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญระดับโลก หรือ "แรมซาร์ ไซต์" (พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ) พบปลาอย่างน้อย 94 ชนิด จากการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2538 มีปลา 2 ชนิดที่เคยได้รับการรายงานว่าพบเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในปี 2545 คือ ปลาสร้อยนกเขาพรุ หรือ Osteochilus spilurus และปลาพังกับ หรือ Channa melasoma ล่าสุดคือ "ปลาหวีเกศพรุ" ที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ว่าเป็นปลาพรุชนิดใหม่ของโลก แต่น่าเสียดายว่าถูกจัดอยู่ในกลุ่มปลาที่ใกล้สูญพันธุ์มากด้วย
อนึ่ง โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2525 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนาพื้นที่พรุใน จ.นราธิวาส โดยมีที่ตั้งโครงการอยู่ที่ ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้เรียบเรียงจากข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 17 ม.ค.2555 หน้าโฟกัส "สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม"