ไขปริศนาผลสอบ"บิ๊กซีพี"อินไซเดอร์ช้านาน2ปึ-ใครสั่งทวนหลายตลบ?
“…ขณะเดียวกันหากพิจารณาถึงกระบวนการในการเปรียบเทียบปรับ ‘บิ๊กซีพี-ทรู’ ตามที่ผู้แทน ก.ล.ต. มาชี้แจงนั้น จะเห็นได้ว่า มีการสั่งให้ ‘ทบทวน’ หลายครั้ง ใช้ระยะเวลามานานถึงประมาณ 2 ปีเศษ ... ที่น่าสนใจคือการสั่งทบทวนให้ดำเนินการ 'หลายตลบ' แบบนี้ เกิดขึ้นกับกรณีอื่นด้วยหรือไม่ ? …”
กลายเป็นเรื่องที่ฮือฮาส่งท้ายปี 2558
สำหรับกรณีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีคำสั่งปรับนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ซีพี ออลล์ฯ นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ซีพี ออลล์ฯ และนายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านกฎหมายบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เครือซีพีออลล์) กรณีอาศัยข้อมูลภายใน (Insider) ซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO เป็นเงินรวมประมาณ 33 ล้านบาท
นำไปสู่ฝ่ายผู้บริหารเครือ ‘ซีพี’ ต้องประชุมอย่างเร่งด่วน กระทั่งนายก่อศักดิ์ ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า การซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเครือซีพีเป็นผู้เข้าไปเจรจาเรื่องการซื้อขาย เมื่อตกลงได้แล้ว จึงมีมติให้บริษัท ซีพี ออลล์ เป็นผู้กู้เงินและเป็นผู้ซื้อภายหลัง ซึ่งซีพีออลล์ไม่ได้มีบทบาทในการเข้าไปซื้อเลย แต่เมื่อหลักการ ก.ล.ต.ระบุว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ก็ต้องยอมรับผิด แม้ไม่มีเจตนา หากรู้ว่าผิดก็จะไม่ทำ
“วันนี้ต้องแถลงยืนยันเจตนาบริสุทธิ์และยืนยันว่าบริษัทยังคงมีธรรมาภิบาล หากผู้ลงทุนจะไม่ลงทุนในหุ้นซีพีออลล์ก็คงทำอะไรไม่ได้ แต่คิดว่านักลงทุนน่าจะพิจารณาผลกำไรหรือผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า”
(อ่านประกอบ : เผยพฤติการณ์ผู้บริหารซีพี! ก.ล.ต.สั่งปรับ 33 ล.อินไซเดอร์ซื้อหุ้นแม็คโคร)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร ?
แต่สำนักข่าวอิศราใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 ขอรายงานการตรวจสอบ และบันทึกการประชุมคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเกี่ยวกับกรณีนี้ทั้งหมด ทว่า ก.ล.ต. ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลดังกล่าว อ้างว่า เป็นข้อมูลลับ ส่งผลให้สำนักข่าวอิศราอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
กระทั่งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ วินิจฉัยให้ ก.ล.ต. เปิดเผยรายงานการตรวจสอบ และบันทึกการประชุมคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับฯแล้ว แต่ให้ปกปิดชื่อบุคคลที่ไม่มีส่วนร่วมในการประทำผิดไว้
(อ่านประกอบ : กก.ข้อมูลข่าวสารฯสั่ง ก.ล.ต.ให้ข้อมูล ‘อิศรา’ปมปรับ‘บิ๊กซีพี’อินไซเดอร์หุ้น)
เหตุผลสำคัญที่ทำให้สำนักข่าวอิศรา จำเป็นต้องขอข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวใน ก.ล.ต. ว่า กรณีนี้ดำเนินการล่าช้าผิดปกติ ?
จริงหรือไม่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เปิดเผยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้ ดังนี้
คณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ คำชี้แจงของผู้อุทธรณ์ ผู้แทนสำนักงาน ก.ล.ต. และเอกสารที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า
ผู้อุทธรณ์ (สำนักข่าวอิศรา) ได้ติดตามข่าวการตรวจสอบกรณีการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์) ซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชฯ) หรือ MAKRO ซึ่งมีการปรับผู้บริหารซีพีออลล์ กับพวก จำนวนประมาณ 33 ล้านบาท และเรื่องเสร็จเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว แต่ไม่มีการลงโทษผู้กระทำความผิด จนกระทั่งมีการแต่งตั้งเลขาธิการ ก.ล.ต. คนใหม่ จึงมีการลงโทษและออกข่าวเรื่องนี้ ผู้อุทธรณ์จึงต้องการทราบรายงานผลการตรวจสอบ และบันทึกการประชุมคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ซึ่งการขอข้อมูลลักษณะนี้ ก.ล.ต. เคยให้มาแล้ว
ด้านผู้แทน ก.ล.ต. ชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจา พร้อมเอกสารประกอบ สรุปความได้ว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ดำเนินการตรวจสอบตลาดทุน นำผลการตรวจสอบเสนอสำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาเห็นชอบกระบวนการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2556 และนำเสนอขออนุมัติดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้เข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 241 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2557
แต่สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาเห็นว่า ผลการตรวจสอบไม่สามารถดำเนินการผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จึงมีมติให้พิจารณารวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2558 ฝ่ายตรวจสอบตลาดทุนรายงานเพิ่มเติมพร้อมขออนุมัติการออกหนังสือให้ผู้ต้องสงสัยรวม 6 ราย แต่เลขาธิการ ก.ล.ต. ขณะนั้น (นายวรพล โสคติยานุรักษ์) เห็นว่า ควรให้มีการพิจารณาข้อกฏหมายและข้อเท็จจริงให้รอบคอบครบถ้วน และให้หารือที่ปรึกษากฎหมายก่อน จึงมีการส่งเรื่องให้อัยการที่ปรึกษาของสำนักงาน ก.ล.ต. และฝ่ายคดีของสำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาให้ความเห็น
ระหว่างนั้นเลขาธิการ ก.ล.ต. (นายวรพล) พ้นวาระการดำรงตำแหน่ง สำนักงาน ก.ล.ต. โดยรองเลขาธิการ ก.ล.ต. จึงสั่งการแทน โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับการเปรียบเทียบปรับเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2558 และคณะกรรมการเปรียบเทียบได้พิจารณากำหนดค่าปรับเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2558 ซึ่งคณะกรรมการวินัย ก.ล.ต. มีแนวทางดำเนินการว่า ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับการเปรียบเทียบปรับแล้ว จะไม่มีการดำเนินการทางปกครองอีก โดยถือว่าได้รับโทษพอสมควรแล้ว และการดำเนินการมาแล้วเสร็จสมัยเลขาธิการ ก.ล.ต. คนใหม่ (นายรพี สุจริตกุล เข้ารับตำแหน่ง 1 พ.ค. 2558)
ทั้งนี้ผู้แทน ก.ล.ต. ยืนยันว่า ข้อมูลข่าวสารที่สำนักข่าวอิศราขอ 2 รายการ ไม่สามารถให้ได้ เนื่องจาก
หนึ่ง รายงานการตรวจสอบ ซึ่งปรากฏพยานเอกสารและพยานบุคคลภายนอกอยู่ด้วย หากเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนี้ จะทำให้การแสวงหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในลักษณะนี้ยากลำบากยิ่งขึ้น ทำให้รู้เทคนิคแสวงหาพยานหลักฐาน และจะทำให้จับผู้กระทำผิดลักษณะนี้ได้น้อยลง ข้อมูลข่าวสารนี้เปิดเผยได้เฉพาะการวินิจฉัยสั่งการเท่านั้น
สอง บันทึกการประชุมคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ เนื่องจากอัตราการเปรียบเทียบปรับอยู่ที่ 2 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับ แต่ ก.ล.ต. กำหนดแนวทางการเปรียบเทียบค่าปรับไว้ที่ 1.25-1.5 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับ โดยแต่ละรายอาจใช้อัตราที่ไม่เท่ากันตามพฤติการณ์แห่งคดีที่แตกต่างกัน หากผู้อุทธรณ์ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวได้ข้อมูลดังกล่าวไป ก็จะทราบแนวทางการกำหนดค่าปรับ ซึ่งอาจเข้าใจผิดในสาระสำคัญได้ เนื่องจากไม่รู้ฐานในการคำนวณ ข้อมูลข่าวสารในส่วนนี้ ประธานกรรรมการเปรียบเทียบปรับ มีคำสั่งมิให้เปิดเผย
ส่วนกรณีที่ ก.ล.ต. เคยให้ข้อมูลข่าวสารกรณีแกรมมี่ใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้นบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นั้น ก.ล.ต. ได้พิจารณาทบทวนแล้วเห็นว่า การให้ข้อมูลดังกล่าวแก่สื่อมวลชน ทำให้คู่กรณีสามารถนำไปประมวลผลเพื่อใช้ในการต่อสู้คดีในกรณีอื่น ๆ ได้ และหากสำนักข่าวใดได้ข้อมูลไป สำนักข่าวอื่น ๆ ก็ย่อมต้องได้เช่นกัน จึงเห็นควรไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การขอข้อมูลข่าวสารดังกล่าว เป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐในการแสวงหาข้อเท็จจริง มิใช่ข้อมูลทางเทคนิคที่จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตรวจสอบในกรณีอื่น ๆ เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จึงต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ การเปิดเผยจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการตรวจสอบของหน่วยงาน
สำหรับข้อมูลข่าวสารดังกล่าว เป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐในการกำหนดค่าปรับ ซึ่งเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการเปรียบเทียบที่จะกำหนดค่าปรับแตกต่างกันไปตามพฤติการณ์แห่งคดี ภายใต้กรอบอัตราค่าปรับตามที่กฏหมายกำหนด จึงต้องโปร่งใสและตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจได้ การเปิดเผยจึงไม่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ ตามมาตรา 15 (2) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ
ดังนั้นเมื่อพิเคราะห์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์เอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว เห็นว่า ข้อมูลข่าวสารตามอุทธรณ์เปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้ อย่างไรก็ดีเนื่องจากข้อมูลข่าวสารดังกล่าว ปรากฏรายชื่อของบุคคลอื่นที่ไม่ได้กระทำความผิดอยู่ด้วย การเปิดเผยอาจเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร ตามมาตรา 15 (5) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จึงให้ปกปิดไว้
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ จึงวินิจฉัยให้ ก.ล.ต. เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวตามที่สำนักข่าวอิศราขอ โดยปกปิดรายชื่อผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด (ดูเอกสารประกอบ)
นี่คือคำวินิจฉัยฉบับเต็มของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ที่สร้างบรรทัดฐานอีกครั้งในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร โดยเห็นว่า การเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบนั้น คือเรื่องของ ‘ข้อเท็จจริง’ ไม่ใช่ ‘ความเห็น’ ดังนั้นจำเป็นต้องเปิดเผยเพื่อความโปร่งใสของหน่วยงาน
ขณะเดียวกันหากพิจารณาถึงกระบวนการในการเปรียบเทียบปรับ ‘บิ๊กซีพี-ทรู’ ตามที่ผู้แทน ก.ล.ต. มาชี้แจงนั้น จะเห็นได้ว่า มีการสั่งให้ ‘ทบทวน’ หลายครั้ง ใช้ระยะเวลามานานถึงประมาณ 2 ปีเศษ เริ่มตั้งแต่ฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน ตรวจสอบพบเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2556 เสนอขออนุมัติดำเนินการตามกฏหมายเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2557
แต่สำนักงาน ก.ล.ต. มีมติให้พิจารณาหลักฐานเพิ่มเติม กระทั่งมาถึงวันที่ 4 ก.พ. 2558 ฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน ได้ขออนุมัติออกหนังสือผู้ต้องสงสัยรวม 6 ราย แต่เลขาธิการ ก.ล.ต. ขณะนั้น (นายวรพล) ได้ให้หารือฝ่ายกฏหมายเสียก่อน เป็นเวลายาวนานถึงเกือบ 10 เดือน กระทั่งนายวรพลพ้นตำแหน่งไปแล้ว และเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2558 ก.ล.ต. ถึงสั่งการให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าเปรียบเทียบปรับ และพิจารณากำหนดค่าปรับ 2 ธ.ค. 2558
ที่น่าสนใจคือการสั่งทบทวนให้ดำเนินการ 'หลายตลบ' แบบนี้ เกิดขึ้นกับกรณีอื่นด้วยหรือไม่ ?
สำหรับพฤติการณ์เบื้องต้นของ ‘ผู้บริหารซีพี-ทรู’ ก.ล.ต. ได้ส่งข้อมูลให้สำนักข่าวอิศราไว้ ดังนี้
หนึ่ง นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2556 นายก่อศักดิ์ ได้ซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโครฯ จำนวน 118,300 หุ้น ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงด้านบวกอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น MAKRO ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนเกี่ยวกับธุรกรรมที่ ซีพีออลล์ เจรจาตกลงจะซื้อหุ้น MAKRO ที่บริษัท เอสเอชวี เนเธอร์แลนด์ บี.วี. (SHV) ถืออยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม จำนวน 154,429,500 หุ้น หรือเท่ากับร้อยละ 64.35 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ MAKRO ที่ราคาหุ้นละ 787 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดขณะนั้นอย่างมีนัยสำคัญ
เป็นเหตุให้ซีพีออลล์ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น MAKRO ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นการทั่วไป (Tender Offer) ที่ราคาเดียวกัน อันเป็นข้อมูลที่นายก่อศักดิ์ล่วงรู้มาจากการเป็นรองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารซีพีออลล์ และเข้าร่วมในคณะฝ่ายผู้ซื้อหุ้น MAKRO จาก SHV ก่อนที่ข้อเท็จจริงจะเปิดเผยต่อประชาชนในวันที่ 23 เม.ย. 2558
ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีคำสั่งปรับนายก่อศักดิ์ 30,228,000 บาท
สอง นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2556 นายปิยะวัฒน์ ได้ซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโครฯ จำนวน 5,000 หุ้น ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงด้านบวกอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น MAKRO ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนเกี่ยวกับธุรกรรมที่ซีพีออลล์ เจรจาตกลงซือหุ้น MARKO ที่ SHV ถืออยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม จำนวน 154,429,500 หุ้น หรือเท่ากับร้อยละ 64.35 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ MAKRO ที่ราคาหุ้นละ 787 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดขณะนั้นอย่างมีนัยสำคัญ
เป็นเหตุให้ซีพีออลล์ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น MAKRO ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นการทั่วไป (Tender Offer) ที่ราคาเดียวกัน อันเป็นข้อมูลที่นายปิยะวัฒน์ล่วงรู้มาจากการเป็นกรรมการและกรรมการผู้จัดการซีพีออลล์ ก่อนที่ข้อเท็จจริงจะเปิดเผยต่อประชาชนในวันที่ 23 เม.ย. 2558
ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีคำสั่งปรับนายปิยะวัฒน์ 725,000 บาท
สาม นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2556 นายพิทยา ได้ซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโครฯ จำนวน 7,500 หุ้น ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงด้านบวกอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น MAKRO ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนเกี่ยวกับธุรกรรมที่ซีพีออลล์ เจรจาตกลงซือหุ้น MARKO ที่ SHV ถืออยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม จำนวน 154,429,500 หุ้น หรือเท่ากับร้อยละ 64.35 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ MAKRO ที่ราคาหุ้นละ 787 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดขณะนั้นอย่างมีนัยสำคัญ
เป็นเหตุให้ซีพีออลล์ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น MAKRO ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นการทั่วไป (Tender Offer) ที่ราคาเดียวกัน อันเป็นข้อมูลที่นายพิทยาล่วงรู้มาจากการเป็นกรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารซีพีออลล์ ก่อนที่ข้อเท็จจริงจะเปิดเผยต่อประชาชนในวันที่ 23 เม.ย. 2558
ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีคำสั่งปรับนายพิทยา 979,500 บาท
สี่ นายอธึก อัศวานันท์
เมื่อวันที่ 12 และ 18 เม.ย. 2556 นายอธึก ได้ซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโครฯ จำนวน 6,000 หุ้น ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงด้านบวกอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น MAKRO ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนเกี่ยวกับธุรกรรมที่ซีพีออลล์ เจรจาตกลงซือหุ้น MARKO ที่ SHV ถืออยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม จำนวน 154,429,500 หุ้น หรือเท่ากับร้อยละ 64.35 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ MAKRO ที่ราคาหุ้นละ 787 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดขณะนั้นอย่างมีนัยสำคัญ
เป็นเหตุให้ซีพีออลล์ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น MAKRO ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นการทั่วไป (Tender Offer) ที่ราคาเดียวกัน อันเป็นข้อมูลที่นายอธึกล่วงรู้มาจากการเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกฎหมายซีพีออลล์ ที่เข้าร่วมในคณะฝ่ายผู้ซื้อหุ้นที่เดินทางไปร่วมเจรจาซื้อหุ้น MAKRO จาก SHV ก่อนที่ข้อเท็จจริงจะเปิดเผยต่อประชาชนในวันที่ 23 เม.ย. 2558
ทั้งนี้ ก.ล.ต.มีคำสั่งปรับนายอธึก 1,407,000 บาท
ห้า น.ส.อารียา อัศวานันท์ (ผู้สนับสนุน)
เมื่อวันที่ 12 และ 18 เม.ย. 2556 น.ส.อารียา ได้ช่วยเหลือสนับสนุนนายอธึก ซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโครฯ ในฐานะที่นายอธึกเข้าร่วมในคณะฝ่ายผู้ซื้อหุ้นที่เดินทางไปร่วมเจรจาซื้อหุ้น MAKRO จาก SHV ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงด้านบวกอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น MAKRO ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนเกี่ยวกับธุรกรรมที่ซีพีออลล์ เจรจาตกลงซือหุ้น MARKO ที่ SHV ถืออยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม จำนวน 154,429,500 หุ้น หรือเท่ากับร้อยละ 64.35 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ MAKRO ที่ราคาหุ้นละ 787 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดขณะนั้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นเหตุให้ซีพีออลล์ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น MAKRO ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นการทั่วไป (Tender Offer) ที่ราคาเดียวกัน
โดย น.ส.อารียา ได้ให้นายอธึก ยืมใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองในการซื้อหุ้น MAKRO เพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่น
ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีคำสั่งปรับ น.ส.อารียา 333,333 บาท
หก นายสมศักดิ์ เจียรวิสิฐกุล (ผู้สนับสนุน)
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2556 นายสมศักดิ์ ได้ช่วยเหลือสนับสนุนนายพิทยา ในการซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโครฯ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงด้านบวกอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น MAKRO ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนเกี่ยวกับธุรกรรมที่ซีพีออลล์ เจรจาตกลงซือหุ้น MARKO ที่ SHV ถืออยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม จำนวน 154,429,500 หุ้น หรือเท่ากับร้อยละ 64.35 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ MAKRO ที่ราคาหุ้นละ 787 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดขณะนั้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นเหตุให้ซีพีออลล์ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น MAKRO ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นการทั่วไป (Tender Offer) ที่ราคาเดียวกัน
โดยนายสมศักดิ์ได้ให้นายพิทยา ยืมใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองในการซื้อหุ้น MAKRO เพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่น
ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีคำสั่งปรับนายสมศักดิ์ 333,333 บาท
รวมเบ็ดเสร็จ 33,339,500 บาท
ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า ไฉนจึงดำเนินการล่าช้านั้น คงต้องรอ ก.ล.ต.เปิดเผยข้อมูล 'ฉบับเต็ม' แก่สำนักข่าวอิศรา ในเร็ว ๆ นี้ !
อ่านประกอบ :
อ้างข้อมูลลับ! ก.ล.ต.ไม่ให้ผลสอบผู้บริหารซีพีอินไซเดอร์ซื้อหุ้นแม็คโคร
ก.ล.ต.ปรับปธ.ซีพีออลล์-รอง ปธ.ทรูฯ-พวก 4 ราย 33 ล.ใช้ข้อมูลวงในซื้อหุ้นแม็คโคร