13 ก.พ.ได้สภาเกษตรระดับหมู่บ้าน - กรมชลฯเตรียมโอนโครงการน้ำเล็กให้ อปท.
กษ.แจงคืบหน้าเลือกสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายกฯมอบนโยบาย 11 ม.ค. ด้านกรมชลฯเดินหน้าแผนระบบจัดการน้ำ 60 ล้านไร่ ทุ่ม 1.7 ล้านล้านบาท 8 พันกว่าโครงการ เตรียมถ่ายโอนโครงการชลประทานขนาดเล็กให้ อปท.
วันที่ 5 ม.ค. 54 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) แถลงความคืบหน้าการดำเนินการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติว่าขณะนี้ กษ.จัดทำแผนการดำเนินงานจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว กำลังเดินหน้าให้ได้มาซึ่งสภาเกษตรกรชุดแรก โดยการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นฐานในการเลือกประธานสภาเกษตรกรจังหวัด 76 คนเป็นผู้เลือกตัวแทนองค์กรเกษตรกรด้านพืช สัตว์ และประมง 16 คน รวมเป็น 92 คน เพื่อคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านเกษตรกรอีก 7 คน รวมเป็นสภาเกษตรกรแห่งชาติทั้งสิ้น 99 คน ตามกฎหมายกำหนด
รมว.กษ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำบัญชีรายชื่อเกษตรกรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 3 ชุด ชุดแรกเป็นข้อมูลการขึ้นทะเบียนครัวเรือนถึงวันที่ 28 พ.ย. 53 ทั้งสิ้น 20,138,606 ราย ชุดที่ 2 เป็นบัญชีเพิ่มเติมที่ได้จากการขยายเวลาขึ้นทะเบียนอีก 26,379 ครัวเรือน ซึ่งจะมีการตรวจสอบและติดประกาศบัญชีทั้ง 2 ชุด ภายใน 18 ม.ค.นี้ ณ ที่เลือกตั้งผู้แทนแต่ละหมู่บ้านเพื่อให้เกษตรกรตรวจสอบ หากมีข้อคัดค้านหรือเพิ่มชื่อจะถูกประกาศเป็นบัญชีชุดที่ 3 โดยทั้งหมดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 27 ม.ค. 54 เพื่อใช้รายชื่อดังกล่าวเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้านซึ่งกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 13 ก.พ.54
“รัฐบาลกำหนดจัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานจัดตั้งสภาเกษตรฯ ในวันที่ 11 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
โดยจะมีการชี้แจงการดำเนินการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติแก่นายกรัฐมนตรี พร้อมมอบนโยบายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัดทั่วประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจกระบวนการและการประสานงานต่างๆที่จะนำไปสู่การมีสภาเกษตรกรแห่งชาติชุดแรกของประเทศตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553
นายธีระ ยังเปิดเผยถึงการดำเนินการพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เต็มศักยภาพ 60 ล้านไร่ ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการตั้งแต่ 18 ธ.ค. 50 และได้มอบหมายให้กรมชลประทานจัดทำแผนพัฒนาการชลประทานระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ (กรอบน้ำ 60 ล้านไร่) และแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงาน 4 ภาคทำงานเป็นลำดับขั้น ล่าสุดได้นำเสนอผลผลการดำเนินงานในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา
โดยมีกรอบคือเน้นยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่ชลประทานและพัฒนาการใช้น้ำภายในลุ่มน้ำภายใต้ 4 แนวทางได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทาน, การพัฒนาแหล่งน้ำ ให้มีน้ำต้นทุนอย่างเพียงพอและขยายพื้นที่ส่งน้ำเพิ่มขึ้น, การเพิ่มศักยภาพโครงการข่ายน้ำหรือการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำและระหว่างประเทศ และการบรรเทาภัยจากน้ำ เน้นเรื่องน้ำท่วม ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมุ่งไปที่พื้นที่ซึ่งมีทั้งสภาวะน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำก่อน จึงจะพิจารณาแนวทางการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำภายในประเทศเป็นลำดับถัดไป
รมว.กษ. กล่าวว่าขณะนี้ 8,789 โครงการที่ดำเนินการตามกรอบการพัฒนาชลประทานดังกล่าว ทำให้มีปริมาณน้ำใช้ที่ควบคุมเพิ่มเติมได้ประมาณ 5.7 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) โดยมีแหล่งน้ำที่กักเก็บได้เพิ่มประมาณ 2.6 ล้านลบ.ม. ได้พื้นที่ชลประทาน 34.04 ล้านไร่ โดยใช้วงเงินลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท และหากสามารถดำเนินการได้ตามแผนการพัฒนาทั้งหมดจะทำให้ประเทศไทยมีแหล่งเก็บกักน้ำ 102,973 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณร้อยละ 52 ของปริมาณน้ำของประเทศ มีพื้นที่ชลประทาน 62.4 ล้านไร่ จากเดิมที่มีพื้นที่ชลประทานทั้งประเทศเพียง 28.4 ล้านไร่
สำหรับแผนงานจะดำเนินการภายใต้กรอบโครงการ 3 ประเภท 1.โครงการชลประทานขนาดเล็กที่จะต้องมีการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.โครงการที่มีศักยภาพและไม่มีอุปสรรคที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายแล้ว 3.โครงการชลประทานในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ต้องศึกษาในเชิงลึก โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่และระดับลุ่มน้ำ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน .