สถานการณ์ยาพารา-คีโตโคนาโซลทั่วโลก มาตรการต่อไปที่ไทยต้อง...รีบทำ
"ต้องเน้นย้ำว่ายาพาราเซตามอลเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่ปลอดภัยที่สุด หากใช้ถูกขนาด ถูกวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความแตกตื่นแล้วเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่อันตรายกว่า" ผศ.นพ.พิสนธ์ จงตระกูล
ปัญหาโรคตับเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญปัญหาหนึ่งของไทย เกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นเกิดจากโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบ เกิดจากพฤติกรรมด้านสุขภาพ เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารอะฟราทอกซิน หรือเกิดจากยา
โรคตับที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการใช้ยา ส่วนหนึ่งมาจากพิษของตัวยาโดยตรงและหรือเกิดร่วมกับการมีทะเบียนตำรับยาที่ไม่เหมาะสม เช่น ยาไม่มีความปลอดภัยในการใช้ ยามีขนาดแรงมากเกินไป มียาสูตรผสมที่ไม่เหมาะสม มีฉลากยาที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือสับสนในการใช้ยา
นอกจากนี้อาจเกิดจากาการได้รับปริมาณยาเกินกำหนด เนื่องจากความไม่ตั้งใจหรือการได้รับยาซ้ำซ้อน จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อจัดการปัญหาจากยา
นายธนพล ดอกแก้ว ประธานเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ อดีตร่างกายเขาปกติแข็งแรง สามารถทำงานได้ ขณะที่ชีวิตหลังเลิกงาน หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ดื่มเหล้า พอเริ่มสางเมาก็ปวดหัว สิ่งแรกเขาเริ่ม ก็คือ กินยาพารา และกินอย่างนั้นเรื่อยมา
จนเริ่มร่างกาย ธนพล ดื้อยา เขาก็ข้ามมากินยาอีกสูตร ก่อนที่ไตจะวาย ค่าตับขึ้น
"หมอถามผมว่า ทำอะไรมา ซึ่งตอนนั้นเราก็กินยาลดความอ้วน ยาลดไขมัน ไม่รู้เลยทำลายไต ประชาชนคนใช้แรงงานกลุ่มคนที่ใช้เยอะ กินทุกวัน กินเยอะ เราไม่รู้ว่าตัวไหนมีพิษต่อตับ เพราะยิ่งยาหาซื้อง่าย มักมีพิษร้ายที่สุด ยิ่งในมุมของผู้ป่วย ใช้ยาเยอะ เจ็บปวดจากบาดแผลบ้าง เป็นหวัด ยาพาราหาซื้อง่าย มีแบรนด์เยอะมากมาย อนาคตถ้าไม่ถูกคุมหรือคนจ่ายยาไม่ระมัดระวัง ผู้ป่วยจะมากขึ้น ก็กระทบภาพรวมเศรษฐกิจทันที"
ประธานเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ บอกว่า คนทั่วๆ ไปไม่รู้เลยตัวยาพวกนี้ มีผลกระทบกับตับ และเวลาเลือกยาก็เอาที่ซื้อหาง่ายที่สุด บางร้านมีเภสัช บางร้านไม่มี กลุ่มยาตัวที่สำคัญที่สุด "ตระกูลพาราเด็ก" ที่หวานทานง่าย บางทีเด็กไม่ได้เป็นหวัด แต่พ่อแม่กลัวลูกจะเป็นเลยไปซื้อยาให้ลูกทานกันไว้ก่อน ก็ส่งผลต่อตับเด็ก
"มีสถิติบอกเด็กเป็นตั้งแต่ 6 ขวบคิดดูว่ากว่าจะอายุ 20 ตายไปก่อน” ธนพล ให้ข้อมูล และว่า กระทรวงสาธารณสุข และ อย. ต้องควบคุมจริงจังเพื่อจะลดจำนวนผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง เพราะเมื่อไรก็ตามที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ก็จะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ
ขอจ่ายยาพาราไม่เกินครั้งละ 10 เม็ด
ด้าน รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานมูลนิธิรักษ์ตับ ชี้ว่า อาการไข้โดยทั่วไปเมื่อรับประทานยาพาราเซตามอลแล้ว ไข้ควรจะหายใน 1-2 วัน แต่ถ้ามีไข้เรื้อรังนานกว่านั้น ควรต้องมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เนื่องจากเคยพบว่า บางรายเป็นไข้จากมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีไข้เป็นเดือน กินยาพาราเซตามอลเป็นเดือนมาพบเเพทย์ก็พบตับวายจากยาก่อนจะรู้ว่าเป็นมะเร็งเสียอีก
นอกจากนี้อยากจะขอให้บุคลากรสุขภาพทุกสาขา สั่งจ่ายยาพาราเซตามอลไม่เกินครั้งละ 10 เม็ด ถ้ามีแล้วก็ไม่ควรให้ไปอีก ในบ้านไม่ควรมีพาราเซตามอลเกิน 20 เม็ด
รศ.พญ.วัฒนา บอกว่า ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญมากของร่างกาย เป็นตัวสร้างสารอาหาร ซ่อม และสร้างภูมิต้านทานที่สำคัญ ในขณะเดียวกันตับก็สามารถทำลายได้ด้วย ถ้าเราเป็นตักอักเสบ หมายความว่า ตับเริ่มบกพร่อง เราจะกลายเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับ
"ต้องยอมรับประเทศเรามีการติดเชื้อไวรัสตักอักเสบมากเป็นอันดับ 1 ซึ่งส่วนหนึ่งของผู้ป่วยมาจากยา ซึ่งมักจะเกิดจากการที่คนไข้ที่เป็นโรคอื่นๆ อยู่เเล้วด้วย เวลาทานยาพาราเข้าไปแล้วเป็นพิษ การที่เราจะกินยาขนาดสูงๆ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้หายป่วยเร็ว ก็ว่าทานพาราเพราะคงไม่เป็นไร เป็นการทำลายตับโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น พวกปวดฟัน เราไม่หาคุณหมอ ก็หายาแก้ปวดทาน ประเด็นต่อมาคนไข้ กินมาต่อเนื่องไม่รู้ตัว โดยเฉพาะกลุ่มที่ดื่มแอลกอฮอล์ต้องตระหนักให้มาก เพราะส่วนมาเมื่อปวดหัวเเล้ว ไปกินยาปรากฏเป็นพิษ"
ทั้งนี้ สำหรับคนที่เป็นโรคตับเรื้อรังอย่างไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ต้องรับประทานยาพาราไม่กินวันละ 2 กรัมหรือ 4 เม็ด การคำนวนการกินยาพาราแบบง่ายๆ ให้คำนวนดังนี้
คือ เอาน้ำหนักตัวเราคูณด้วย 10 มากสุดไม่เกิน 15 ก็จะได้ปริมาณที่เหมาะสม
"อีกปัจจัยหนึ่งอย่าง พ่อแม่เมื่ออายุเยอะขึ้น ไปสวนไร่นา ก็ปวดเมื่อย เลยสั่งลูกหลานหาซื้อยาพารามาให้ ปวดนิดหน่อยก็กิน ถามว่าไม่กินได้ไหม ก็จะไม่ยอม ซึ่งลักษณะของคนไข้ที่เจอมีพฤติกรรมการกินพาราก็เป็นอย่างนี้ อย่าลืมว่ายาพาราเป็นสารเคมี นั่นหมายความว่า เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะต้องถูกทำลายผ่านกระบวนการภายใน"
รศ.พญ.วัฒนา อธิบายอีกถึงอาการไข้ ไม่สบายนั้น มีต้นเหตุ ซึ่งการกินยาพาราแค่บรรเทา ยาพาราต้องไปกำจัดที่ตับ ถ้ากินเยอะ มีโอกาสที่ตับวายเฉียบพลัน ถ้าตับวายรักษาทันไม่ทัน กลายตับอักเสบ และตับแข็ง ซึ่งแบบนั้นให้ทำใจไว้เลยว่า "มะเร็ง" มาแน่นอน
อังกฤษกำหนดชัด พาราห้ามแต่งสีอื่นนอกจากสีขาว
ทั้งนี้ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบยา (กพย.) รายงานว่า ในปี 2558 มีผู้ป่วยจากยาพาราเซตามอลรวม 960 ราย เกิดจากอุบัติเหตุ 90 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีถึง 74 ราย สะท้อนปัญหาการใช้ยาจากขนาดยาไม่เหมาะสม
กพย.ระบุชัดว่า หลายประเทศได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงได้มีมาตรการจัดการปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาพาราฯในรูปแบบต่างๆ กัน โดยมาตรการจัดการความเสี่ยงที่ทั่วโลกใช้มี 2 มาตรการด้วยกัน
1. มาตรการลดจำนวนเม็ดต่อภาชนะบรรจุ การกำหนดปริมาณของพาราเซตามอลในยาสูตรผสม ซึ่งในออสเตรเลีย เริ่มใช้มาตรการนี้เพื่อป้องกันการรับประทานพาราฯเกินขนาด ซึ่งจะทำลายตับและอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในประเทศนิวซีแลนด์ และอังกฤษก็มีมาตรการทำนองนี้เช่นเดียวกัน ล่าสุดแคนาดาก็มีมาตรการลดปริมาณยาพาราฯจาก 500 มิลลิกรัม เหลือ 325 มิลลิกรัม
2. มาตการด้านฉลาก ซึ่งในอังกฤษมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า ในฉลากของยาทุกชนิดที่มียาพาราเป็นส่วนผสม ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา ออกประกาศดำเนินการเกี่ยวกับยาแก้ปวดลดไข้ที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน ล่าสุดเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ.2559 โดยกำหนดเอกสารกำกับยามาตรฐาน เพื่อจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัย มีการปรับปรุงข้อความ 4 ด้านคือ
(1) ฉลากที่ชัดเจนขึ้น เรื่องขนาดห้ามเกิน 4,000 มก. ต่อวันในผู้ใหญ่ใช้ติดต่อกันไม่เกินเวลาที่กำหนด ถ้าแก้ปวด 5 วัน ลดไข้ 3 วัน
(2) แสดงข้อความบนกล่องว่า มีอะเซตามิโนเฟน (พาราเซตามอล) ที่ชัดเจนขนาดใหญ่สีแดง บนตำแหน่งที่กำหนด
(3) การปรับปรุงข้อมูลยาเอกสารกำกับยา
(4) ยาน้ำสำหรับเด็กต้องกำหนดเครื่องมือให้ยาเด็ก ที่ได้มาตรฐานเพื่อให้มั่นใจว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เด็กให้ขนาดยาเด็กที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นเรี่องการแต่งสี ที่อังกฤษกำหนดชัดเจนว่า ยาพาราเซมอลห้ามแต่งสีอื่นนอกจากสีขาว กรณียานั้นสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือกรณีที่ยานั้นอยู่ในรูปแบบของแข็ง
สำหรับสถานการณ์ของยาพาราเซตามอลในประเทศไทยนั้น ทาง กพย. พบว่า ปัจจุบันทะเบียนตำรับยามีมากเกินไป นับตั้งแต่ พ.ศ. 2526 มีการอนุญาตทะเบียนตำรับยามากกว่า 2,600 ทะเบียน ทั้งยังพบอีกว่า ขนาดยาที่อนุญาตสูงเกินมาตรฐานสากล ความแรงของยามีหลายขนาด ทำให้สับสนในการใช้
ทั้งยังพบด้วยว่า กล่องยาและฉลากทำให้สับสน มีลักษณะยาฝาแฝด
โดยในการประชุมของคณะกรรมการยา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2559 ให้แก้เพียง 4 ประเด็น ได้แก่
(1) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนไว้ในฉลากและเอกสารกำกับยาและข้อความของคำเตือน ทั้งยาสูตรเดี่ยวและสูตรผสม ดังนี้
- ห้ามใช้พาราเซามอลเกินขนาดที่แนะนำในฉลากและเอกสารกำกับยา เพราะจะทำให้เป็นพิษต่อตับได้ และไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 5 วัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เพราะจะทำให้ได้รับยาเกินขนาด
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ หากดื่มสุราเป็นประจำ เป็นโรคตับหรือโรคไต
- หากกินยาแล้วเกิดอาการเช่น บวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก ลมพิษ หน้ามืด ผื่นแดง ตุ่มพอง ผิวหนังหลุดลอก ให้หยุดยาแล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
(2) แก้ไขฉลากยา โดยอาศัยช่องทาง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 86 ทวิ เพื่อแก้ไขทะเบียนตำหรับยา ทั้งยาเดี่ยวและยาสูตรผสม
(3) แก้ไขฉลากยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน โดยแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนปุจจุบัน ( ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการใดประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
(4) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตโฆษณาที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบทุกตำรับโดยใช้แสดงชื่อสามัญทางยา ตามชื่อ INN คือ พาราเซตามอล (paracetamol) เท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับยาเกินขนาดจากการใช้ยาซำ้ซ้อนโดยไม่ตั้งใจ
หลายประเทศเข้ม คุมขาย-ใช้ คีโตโคนาโซล
สำหรับ ตัวยา คีโตโคนาโซล ชนิดรับประทาน ซึ่งใช้ในการรักษาเชื้อราตามผิวหนัง กพย. ยืนยันว่า ได้มีการสั่งยกเลิกทะเบียน บริษัทขอยกเลิกทะเบียน ยุติการจำหน่าย ประกาศมาตรการจัดการความเสี่ยงต่างๆ เช่น ควบคุมการจำหน่ายและใช้ (เฉพาะในโรงพยาบาล) จำกัดข้อบ่งใช้ สั่งตรวจตับเมื่อต้องใช้ ออกคำเตือนผู้ประกอบวิชาชีพและต่อประชาชน
โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 ฝรั่งเศสได้มีการร้องขอให้มีการทบทวนการใช้คีโตโคนาโซลในสหภาพยุโรป เนื่องจากเห็นว่า มีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ยาดังกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม 2556 คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ยาสำหรับมนุษย์ ประกาศว่า มีการประเมินความเสี่ยงจากการใช้ยาที่มีคีโตโคนาโซลเป็นส่วนประกอบในการรักษาโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง และติดเชื้อยีสต์ เห็นสมควรเสนอให้สหภาพยุโรประงับการขายยาดังกล่าวชั่วคราว ทั้งนี้จะเสนอให้แต่ละประเทศเห็นชอบและประกาศเป็นกฎหมายอีกครั้ง
มางฝั่งสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ห้ามขายยาชนิดนี้ แต่ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ยาในฉลากเพื่อจำกัดการใช้ยาไม่ควรนำคีโตโคนาโซลเป็นตัวแรกในการรักษาโรคติดเชื้อจากเชื้อรา และยังห้ามให้ยาคีโตโคนาโซลชนิดรับประทานสำหรับการติดเชื้อที่เล็บหรือผิวหนังและได้เพิ่มข้อห้ามใช้ของยา โดยห้ามใช้ในผู้ป่วยตับอักเสบฉีบพลันหรือเรื้อรัง การใช้ยานี้จึงควรมีการชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ยากับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ยา
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา ออกประกาศเมื่อปี 2013 ให้มีการปรับปรุงข้อมูลยาเพิ่มคำเตือน จำกัด บ่งใช้ ต้องมีการตรวจการทำงานของตับ และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ผู้บริโภคและผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพประเทศออสเตรเลีย ได้ให้คำแนะนำต่อบริษัท Janssen-Cilag (Australia) โดยคำปรึกษาขององค์การผลิตภัณฑ์เพื่อการรักษา หรือ ทีจีเอจะยกเลิกการขึ้นทะเบียนและหยุดจำหน่ายคีโตโคนาโซลชนิดรับประทานขนาด 200 มิลลิกรัม (ขณะนั้นรูปแบบยาคีโตโคนาโซลชนิดรับประทานในออสเตรเลียมีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2556 จึงเท่ากับในออสเตรเลียไม่มีการขึ้นทะเบียนคีโตโนโซลชนิดรับประทานอีกต่อไป
ส่วนประเทศนิวซีแลนด์ มีการประกาศหยุดจำหน่ายโดยบริษัท Janssen-Cilag (New Zealand) หลังได้ติดตามและปรึกษาหารือร่วมกันมาตั้งแต่ 2011 ขณะที่คณะกรรมการยาฮ่องกงได้พิจารณาข้อมูลความเสี่ยงและประโยชน์โดยเฉพาะข้อมูลที่มาจากการประเมินของ EU และได้ประกาศตัดสินใจยกเลิกทะเบียนตำรับยาคีโตโคนาโซล ขนิดรับประทานซึ่งมีทั้งหมด 21 ทะเบียนจากบริษัท
กรณีสิงคโปร์คณะกรรมการด้านความปลอดภัยได้ทบทวนสถานการณ์ โดยระบุว่าบริษัท Janssen ขอยกเลิกทะเบียนโดยสมัครใจในปี พ.ศ. 2556 แต่ยังมียาชื่อสามัญอยู่ 10 ทะเบียน พร้อมทั้งเปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยวงกับประโยชนื จึงกำหนดมาตรการจัดการเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2557 โดยมีข้อแนะนำ 4 ประเด็น เช่น ควรใช้ยานี้เป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษาเมื่อไม่มียาใดใช้ได้แล้ว และจะพิจารณาทบทวนเอกสารกำกับยาและสื่อสารสู่บุคลากร ทั้งโดยจดหมายสู่บุคคลากรสุชภาพและระบุในจดหมายข่าวอาหารไม่พึงประสงค์
ขณะที่หน่วยงานควบคุมด้านยาประเทศมาเลเซียออกมาตรการเข้มงวดให้ใช้ยาคีโตโคนาโซลเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น
หากมาดูสถานการณ์ในประเทศไทย กพย. รายงานว่า บริษัทแจนเซนได้แจ้งยกเลิกทะเบียนตำรับยาอย่างสมัครใจ และเรียกคืนยาจากร้านยา โดยได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวม 3 ฉบับ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แจ้งหยุดจำหน่ายและเรียกคืนยา NiZORAL จากร้านยา วันที่ 26 พฤษภาคม 2557 รายงานเบื้องต้นการเรียกเก็บยาคืนทุกรุ่นการผลิต และได้รับยาจำนวนทั้งสิ้น 28,120 เม็ด เป้นที่เรียบร้อยแล้ว
มีเพียงบริษัทแจนเซนเท่านั้นที่ขอหยุดจำหน่าย และเรียกเก็บยาคืนจากร้านยา ส่วนบริษัทอื่นยังคงขายยานี้ต่อไป (มีทะเบียนยาใช้รับประทานทั้งรุปแบบเม็ดและแคปซูล รวม 89 ทะเบียนตำรับที่ยังคงเหลืออยู่) และยังไม่มีมาตรการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาหรือมาตรการเข้มงวดใดๆ ยังพบมีขายในร้านยา
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล เห็นว่า มาตการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งจัดการ สำหรับกรณียาพาราเซตามอล อย.ต้องทบทวนทะเบียนตำรับยาพาราเซตามอลทั้งหมด และจัดการให้มีการยกเลิกทะเบียนตำรับที่ไม่เหมาะสม ทั้งเรื่องสูตรตำรับ ยาฝาแฝด หรือยาที่ไม่มีประสิทธิผล
พร้อมกันนี้ ได้เสนอให้
1. เพิกถอนทะเบียนยาพาราเซตามอล 300 มิลิกรัม/หลอด ชนิดฉีดเข้ากล้าม เพราะไม่มีประสิทธิผลจริง และมีความเสี่ยงต่อการนำไปใช้ผิดวิธีด้วยการฉีดยาเข้าทางเส้นเลือดดำ
2. เพิกถอนทะเบียนยาพาราเซตามอลชนิด immediate release ที่ไม่ใช่ยาในขนาด 325 หรือ 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูตรยาพาราเซตามอลเดี่ยวชนิด 650 มิลลิกรัมต่อเม็ดเพื่อป้องกันการสับสนกับยาชนิด controlled release
3. เพิกถอนยาฝาแฝดที่ทำให้เกิดความสับสน
4. ยกเลิกทะเบียนตำรับยาพาราเซตามอลที่ได้ทะเบียนยา (เฉยๆ) ที่ไม่ได้มีการแบ่งประเภทชัดเจน
ในส่วนของมาตรการด้านฉลากนั้น ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า ต้องมีข้อความระบุว่า “ยานี้มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ” คาดบนฉลากด้วยสีและขนาดตัวอักษรที่เห็นได้ชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้พาราเซตามอลอย่างซ้ำซ้อนของประชาชน และฉลากยาที่ระบุความแรงของยาต้องเป็นภาษาไทยประกอบเสมอ
"ยาน้ำสำหรับเด็กเล็กกับเด็กโต ต้องมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ประชาชนแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้ยาผิด"
ผศ.นพ.พิสนธิ์ เน้นย้ำเป็นพิเศษถึงยาพาราเซตามอลเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่ปลอดภัยที่สุด หากใช้ถูกขนาด ถูกวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความแตกตื่นแล้วเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่อันตรายกว่า และต้องกำชับให้ผู้ขายยาพาราเซตามอลสูตร SR 650 mg (Tylenol 8 Hr) ต้องสื่อสารว่า ต้องใช้ครั้งละ 2 เม็ด ใช้ 1 เม้ดไม่ได้ ร้านยาและสถานพยาบาลทั่วไปยังบอกผู้ใช้กิน 1 เม็ดอยู่ บางแห่งบอกให้ใช้วันละ 3 ครั้ง ซึ่งเป็นอันตรายถ้ากินด้วยช่วงสั้นกว่า 8 ชั่วโมง
มาถึงมาตรการจัดการยาคีโตโคนาโซล ผศ.นพ.พิสนธิ์ เห็นเช่นเดียวกันว่า ควรเพิกถอนทะเบียนตำรับยาคีโตโคนาดซลชนิดรับประทาน เนื่องจากไม่ปลอดภัยและมียาอื่นที่ปลอดภัยกว่า และประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายเกินไป อีกทั้งหลายประเทศได้ระงับหรือพักการจำหน่ายคีโตโคนาโซลชนิดรับประทานแล้ว
กรณีที่ไม่ใช้มาตรการเพิกถอนทะเบียนตำรับยา เขาบอกว่า ก็ต้องมีมาตรการจัดการความเสี่ยง เช่น สถานพยาบาลทุกแห่งไม่ควรมีคีโตโคนาโซลชนิดรับประทานในเภสัชตำรับ ในการรักษาเชื้อราทั่วไป ยกเว้นสถานพยาบาลระดับตติยภูมิที่แพทย์เฉพาะหน่วยต่อมไร้ท่อและหน่วยมะเร็งวิทยาอาจใช้คีโตโคนาโซลในการรักษา
อย.ยันไม่ได้นิ่งนอนใจในการทบทวนยา
ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2559 นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจงว่า อย.มิได้นิ่งนอนใจในการทบทวนยาดังกล่าว โดยที่ผ่านมามีคณะทำงานเฝ้าระวังพิจารณาตำรับยาต่าง ๆ อยู่แล้ว ซึ่งหากยากลุ่มไหนเสี่ยงหรือมีผลกระทบก็จะมีการเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาทันที
ล่าสุด มติจากการประชุมคณะกรรมการยา โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาฉลากและเอกสารกำกับยาได้ทบทวนข้อมูลวิชาการ และเห็นชอบมาตรการจัดการความเสี่ยง คือการปรับปรุงข้อกำหนดการแสดงฉลาก เอกสารกำกับยาและคำเตือนของยาพาราเซตามอล
อ่านประกอบ
แพทย์-เภสัช จี้บริษัทยาเลิกผลิต " คีโตโคนาโซล" ชนิดกิน ชี้มีพิษต่อตับ
ขอบคุณภาพประกอบจาก
http://f.ptcdn.info/924/022/000/1409491457-DSC0431-o.jpg
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_data/201508/31/712654475.jpg
http://3.bp.blogspot.com/-VeTa_Kwg-Nw/UmiSM7hiSkI/AAAAAAAAERQ/kt9JfJPaFBU/s1600/0016.jpg