กรอ.เดินหน้ายุทธศาสตร์ “กรีน อินดัสทรี” เร่งยกระดับรง.เขต 3 ลุ่มน้ำ กว่า 400 แห่ง
กระทรวงอุตสาหกรรมส่งต่อกรมโรงงานฯ ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว พร้อมเผยเป้าหมายยกระดับ 400 โรงงานตาม 3 ลุ่มแม่น้ำให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว
วันที่ 22 กันยายน 2559 ณ ห้อง Eco Town Center ชั้น 6 (ดาดฟ้า) ตึกกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดแถลงข่าวยุทธศาสตร์ “GREEN INDUSTRY 2017” พร้อมแผนและนโยบายเร่งด่วนกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมใน 3 ลุ่มน้ำอุตสาหกรรมสำคัญของไทย ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน - แม่กลอง ลุ่มน้ำตะวันออก เพื่อร่วมเจาะลึกสานต่อการแก้ปัญหาและยกระดับโรงงานไทย พร้อมกับส่งมอบการดำเนินงานให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินงานต่อ
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กล่าวถึงโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ( GREEN INDUSTRY:GI) เริ่มตั้งแต่ปี 2554 โดยวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม (กลุ่มโรงงาน) เพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยโครงการจะมีการกำหนดมาตรฐาน 5 ระดับ คือ
ระดับที่ 1.ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green commitment) หมายถึง องค์กรต้องกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
ระดับที่ 2.ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) หมายถึง การจัดทำแผนงานและนำแผนนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล
ระดับที่ 3.ระบบสีเขียว (Green System) หมายถึง วางแผนงาน นำไปปฏิบัติและติดตามประเมินผล เพื่อทบทวนและรักษาระบบอย่างต่อเนื่อง
ระดับที่ 4.วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) หมายถึง องค์กรจะต้องมีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยเป็นไปตามเกณฑ์ของระดับที่ 3 ทุกข้อ และต้องมีการรายงานการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณ
ระดับที่ 5.เครือข่ายสีเขียว (Green Network) หมายถึงจากการดำเนินในระดับที่ 4 จะมีการสานสัมพันธ์ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยจัดทำรายงานและเผยแพร่สานสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม
นางสาวนิสากร กล่าวถึงจากการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2554- 2559 มีโรงงาน สถานประกอบการรับรองการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ทั้งสิ้นประมาณ 28,049 ราย แบ่งตามระดับได้ว่า ระดับที่ 1 มี 18,182 ราย ระดับที่ 2 มี 5,386 ราย ระดับที่ 3 มี 4,305 ราย ระดับที่ 4 มี 146 ราย และระดับที่ 5 มี 30 ราย
"เมื่อปี 2557 ได้มีแนวคิดจะส่งมอบให้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม หลังมีการจัดทำโครงการมาสักระยะหนึ่งแล้ว ด้วยเหตุว่า ทำไมต้องกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะจากความเหมาะสมทั้งด้านวิชาการ บุคลากร และกระบวนการทำงานที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มโรงงานมากที่สุด จะเข้าใจกระบวนการทำงานของกลุ่มโรงงานมากกว่า พร้อมกับหวังว่าการทำงานโครงการนี้จะขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน"
ด้านนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2560 ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้โรงงาน สถานประกอบการเข้าสู่การรองรับอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางการดำเนินงาน 6 เรื่อง ได้แก่
1.การให้คำแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ลุ่มน้ำตะวันออก ที่อยู่ในพื้นที่หลักในเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
2.การส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการที่สู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชน ได้มีความรู้ความเข้าใจต่ออุตสาหกรรมสีเขียว
3.การศึกษาศักยภาพในการลดปริมาณน้ำในโรงงานอุตสาหกรรม
4.การพัฒนาผลิตภาพสำหรับอุตสาหกรรมมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว
5.การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดสำหรับอุตสาหกรรมระดับรายสาขา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การป้องกันมลพิษของโรงงานควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีที่สะอาด
6.การตรวจประเมินสถานประกอบการที่ขอเทียบระดับหรือเลื่อนระดับสู่อุตสาหกรรมสีเขียว
นายมงคล กล่าวถึงแผนงานยกระดับสถานประกอบการตามลุ่มแม่น้ำว่า จะเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านมลพิษทางสิ่งแวดล้อมไม่ให้กระทบต่อสังคมและอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงงานท่ได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่ 1-5 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4,157 โรงงาน ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง 2,517 โรงงาน ลุ่มน้ำตะวันออก 3,902 โรงงาน ที่อยู่ในพื้นที่หลักในเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และเป้าหมายให้สถานประกอบการไม้น้อยกว่า 100 รายของแต่ละลุ่มน้ำ จะให้มีการยกระดับสูงขึ้น ตุ้งแต่ระดับที่ 2 (GI2) ขึ้นไป
พร้อมกันนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมมุ่งเป้าหมายการดำเนินโครงการภายในปี 2560 จำนวน 400 โรงงาน โดยงบประมาณ 30 ล้านบาท.