เผยจุดอ่อนกรมบัญชีกลาง! ‘อิศรา’บุกขอข้อมูล หจก.ลูก‘ปรีชา’คว้างานรัฐ 155 ล.
“…ผู้สื่อข่าวจึงไปที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อยื่นเรื่องขอข้อมูลดังกล่าวที่ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ชั้น 5 ตึกกรมบัญชีกลาง เมื่อไปถึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ โดยได้ขอรายละเอียดจากผู้สื่อข่าวไปสอบถามกับหัวหน้าฝ่าย และขอให้รอประมาณ 5 นาที จึงเดินมาบอกว่า ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ในทันที ต้องลงไปทำเรื่องที่ฝ่ายขอข้อมูลข่าวสารตามขั้นตอนก่อน…”
ปฏิเสธไม่ได้ประเด็นร้อนที่แทบทุกองคาพยพในสังคมกำลังจับตาอยู่ในขณะนี้ หนีไม่พ้นกรณี หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ที่มี ‘ปฐมพล จันทร์โอชา’ บุตรชายคนโตของ ‘พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา’ ปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นหุ้นส่วน
ได้รับงานจากภาครัฐ โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 3 รวม 7 โครงการ วงเงินกว่า 97 ล้านบาท หากรวมทุกหน่วยงานรัฐมีทั้งหมด 11 โครงการ รวมวงเงินเบ็ดเสร็จ 155 ล้านบาท (ระหว่างปลายปี 2557-2559) โดยส่วนใหญ่เป็นการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) และมีบางรายการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์โดยผ่านผู้ให้บริการตลาดกลาง (อีอ๊อกชั่น)
(อ่านประกอบ : เปิดขุมทรัพย์! หจก.‘ปฐมพล จันทร์โอชา’ 11 สัญญา 155.6 ล. - ‘ทัพภาค 3’ 97.6 ล.)
ข้อสังเกตหนึ่ง นอกเหนือจากที่ หจก.คอนเทมโพรารีฯ ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 1.5 ล้านบาท แต่เข้าไปคว้างานจากหน่วยงานรัฐมากถึง 11 โครงการ วงเงิน 155 ล้านบาท จะมีประสิทธิภาพในการทำงานหรือไม่ รวมถึงไปคว้างานจากกองทัพภาคที่ 3 ซึ่ง ‘บิดา’ ของ ‘ปฐมพล’ เคยเป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 อยู่นั้น เหมาะสมหรือไม่แล้ว ?
อีกประการหนึ่งคือ บริษัทเอกชนที่เข้าไปยื่นซอง ซื้อซองเสนอราคาแข่งขันกับ หจก.คอนเทมโพรารีฯ เป็นใครบ้าง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจากเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ซึ่งเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งประเทศ
แต่กลับไม่พบข้อมูลรายละเอียดใด ๆ เนื่องจากเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ระบุว่า ระบบจะแสดงข้อมูลประกาศนับจากวันปัจจุบัน ย้อนหลัง 3 เดือน หากต้องการดูย้อนหลังเกิน 3 เดือน ให้ระบุวันที่ที่ต้องการ ส่วนกรณีต้องการข้อมูลประกาศจัดซื้อจัดจ้างเก่า (ตั้งแต่ ม.ค. 2547 - มี.ค. 2553) ให้ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง
สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของ หจก.คอนเทมโพรารีฯ กับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ นั้น เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2557-ต้นปี 2559 ซึ่งถือว่าเกินระยะเวลาที่จะเปิดเผยบนเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง แต่หากต้องการดูข้อมูลให้ระบุวันที่ย้อนหลัง
ผู้สื่อข่าวได้ลองทำตามที่เว็บไซต์กรมบัญชีกลางระบุไว้ โดยขอดูรายละเอียดในส่วนการประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคา ของโครงการประกวดราคาจ้างต่อเติมอาคาร กองบังคับการ จังหวัดทหารบกพิษณุโลก ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของ จังหวัดทหารบกพิษณุโลก แผนงานเพิ่มเติมระหว่างปีงบประมาณ 2557 ของกองทัพภาคที่ 3 วงเงิน 17,880,000 ทำสัญญาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 57
แม้จะทำตามที่ระบุไว้ แต่ไม่สามารถดูข้อมูลดังกล่าวได้อยู่ดี (ดูภาพประกอบ)
หลังจากนั้นได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อขอรายละเอียดข้อมูลดังกล่าว แต่ไม่มีผู้ใดรับสาย ผู้สื่อข่าวจึงไปที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อยื่นเรื่องขอข้อมูลดังกล่าวที่ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ชั้น 5 ตึกกรมบัญชีกลาง
เมื่อไปถึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ โดยได้ขอรายละเอียดจากผู้สื่อข่าวไปสอบถามกับหัวหน้าฝ่าย และขอให้รอประมาณ 5 นาที จึงเดินมาบอกว่า ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ในทันที ต้องลงไปทำเรื่องที่ฝ่ายขอข้อมูลข่าวสารตามขั้นตอนก่อน
สำนักข่าวอิศราจึงใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 ยื่นต่อฝ่ายขอข้อมูลข่าวสาร เรียนอธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้
1.ร่างขอบเขตของงาน (TOR) ราคากลาง รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ปรากฏชื่อ หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น เข้าไปยื่นซองเสนอราคา และชนะการเสนอราคาด้วยทั้งหมด
2.รายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง และรายชื่อเอกชนที่เข้าร่วมซื้อซองเสนอราคา ยื่นซองเสนอราคาร่วมกับ หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ในทุกโครงการ มีกี่ราย ชื่อว่าอะไรบ้าง
ปัจจุบันฝ่ายข้อมูลข่าวสารของกรมบัญชีกลาง ได้รับเรื่องและออกเลขที่รับแล้ว (ดูเอกสารประกอบ)
(อ่านประกอบ : ‘อิศรา’ขอกรมบัญชีกลางเปิดข้อมูล หจก.ปฐมพล จันทร์โอชา คว้างานรัฐ 155 ล.)
ประเด็นสำคัญในกรณีนี้ และถือเป็น ‘จุดอ่อน’ ของกรมบัญชีกลางคือ การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ‘ค่อนข้างจำกัด’ เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลเฉพาะ 3 เดือนล่าสุดเท่านั้น หากย้อนหลังไกลกว่านั้นจะต้องมาทำเรื่องที่กรมบัญชีกลางเอง ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่า ต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่ถึงจะได้ข้อมูล
ที่ว่าเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ เนื่องจาก หากเกิดเหตุการณ์ความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างขึ้น และต้องการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว ก็ไม่สามารถทำได้อย่างทันท่วงที จำเป็นจะต้องยื่นเรื่องต่อกรมบัญชีกลางเพื่อขอข้อมูลอีก อาจทำให้กระแสความไม่ชอบมาพากลนั้นเงียบหายไป
และแทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการ ‘ช่วย’ หน่วยงานตรวจสอบ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือหน่วยงานอื่น ๆ อีกทางหนึ่ง กลายเป็นว่า ต้องรอข้อมูลตรงนี้เสียก่อน
ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นหลัก ที่กรมบัญชีกลาง รวมถึงรัฐบาล จะต้องดำเนินการแก้ไข-ปรับปรุง
เพื่อให้ภาคประชาชน-สื่อมวลชน ช่วยกันตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สร้างความโปร่งใส และป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ทำยากขึ้นกว่าเดิม !
อ่านประกอบ :