ค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะนะ...เมื่อการพัฒนาต้องมีคำตอบที่ดีให้ชุมชน
กระแสคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่อย่างที่มีโครงการจะสร้างที่ อ.เทพา จ.สงขลา และ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เท่านั้น
แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดเล็กกว่า และว่ากันว่ามีปัญหามลพิษน้อยกว่า ทั้งยังช่วยขจัดขยะสะสมในท้องถิ่น ก็ปรากฏปัญหาความคิดเห็นของชาวบ้านไม่ลงรอยเช่นกัน
หนึ่งในนั้นคือที่ ต.คู อ.จะนะ จ.สงขลา หนึ่งในสี่อำเภอรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าโรงฟ้าชีวมวลคืออะไร...
คำว่า “ชีวมวล” หรือ Biomass หมายถึงสารอินทรีย์ที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติ สามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้ สารอินทรีย์ที่ว่านี้ก็มาจากซากพืชซากสัตว์ต่างๆ เช่น เศษไม้ ขยะ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น
ฉะนั้น "โรงไฟฟ้าชีวมวล" จึงหมายถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้เศษวัสดุต่างๆ ที่เป็นชีวมวล เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าหรือผลิตไอน้ำ โดยอาจเป็นวัสดุชนิดเดียวกันหรือหลายชนิดรวมกันก็ได้ เช่น โรงน้ำตาล ก็ใช้กากอ้อยที่ได้จากการหีบอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ถ้าเป็นโรงสีก็ใช้แกลบ รวมไปถึงการใช้ก๊าซชีวภาพ หรือ Biogas จากการหมักน้ำเสียที่ได้มาจากกระบวนการผลิตในทางอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งมูลสัตว์จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์
วิธีการผลิตไฟฟ้า เริ่มจากการสูบน้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าสู่เครื่องผลิตไอน้ำ จากนั้นจึงนำชีวมวลต่างๆ ดังกล่าว ลำเลียงเข้าสู่เครื่องบดเพื่อบดให้ละเอียด ก่อนส่งไปเข้าเตาเผาเพื่อให้เกิดความร้อนในระดับสูง ความร้อนที่ได้จะช่วยให้น้ำในเครื่องผลิตไอน้ำกลายสภาพเป็นไอ และไอน้ำแรงดันสูงนี้จะทำหน้าที่หมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีกที ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น
โรงไฟฟ้าชีวมวลนี้ถ้าสร้างดีๆ ควบคุมทุกขั้นตอนอย่างรัดกุม ก็น่าจะก่อผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อย และยังช่วยกำจัดขยะ แต่ปัญหาในหลายๆ พื้นที่ที่มีการก่อสร้างก็คือ ฝุ่นควันและขี้เถ้าจากการเผากลายเป็นแหล่งมลพิษ รวมถึงน้ำเสียจากกระบวนการผลิตอาจไหลลงสู่แหล่งน้ำดีตามธรรมชาติ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุเดช หลีเหร็ม กำนันตำบลคู อ.จะนะ ได้นำชาวบ้านในพื้นที่จำนวนประมาณ 200 คน ในนามของ “กลุ่มรักษ์ถิ่นเกิด ต.คู” ไปรวมตัวกัน ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลคู (อบต.คู) เพื่อรับฟังคำตอบจาก นายสามารถ สะเงะยุนุ่ย นายกอบต.คู จากที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 2 ก.ย.59 ให้อบต.ยกเลิกการอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 25 เมกกะวัตต์ในพื้นที่หมู่ 3 ต.คู
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ หมู่ 3 ของ ต.คู ทำให้ชาวบ้านกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่บ้าน 34 หมู่บ้าน มัสยิด 12 แห่ง โรงเรียน 8 โรง วัด 3 แห่ง โดยในหนังสือที่ยื่นคัดค้านระบุว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะส่งผลกระทบทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีข้อกังวลดังนี้
1.ปัญหาความแตกแยกของชุมชนและสังคมที่แม้จะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่กำลังทำให้เกิดความแตกแยกของชาวบ้าน จนทำให้ชุมชนอ่อนแอและกลายเป็นเครื่องมือของโรงไฟฟ้า
2.การสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น เนื่องจากโรงไฟฟ้าจะนะ (ที่ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว) มีกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 1,460 เมกกะวัตต์ ขณะที่ จ.สงขลามีความต้องการไฟฟ้าเพียง 450 เมกกะวัตต์
3.หากโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้น คาดว่าจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสียจากกระบวนการผลิตถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำสะกอมและไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะกระทบต่อวงจรชีวิตสัตว์และอาชีพประมงของชาวบ้าน รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมที่เกิดจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตจำนวนมาก และต้องมีการถมผิวดินสูงถึง 3 เมตร จนอาจเป็นการกีดขวางทางน้ำหลากจาก อ.นาทวี ที่อยู่ติดกันในช่วงฤดูฝน
4.ปัญหามลพิษทางเสียงจากการก่อสร้างและกระบวนการผลิตไฟฟ้า จะกระทบต่อโรงเรียนในพื้นที่จำนวน 8 แห่ง และปัญหาฝุ่นละอองขี้เถ้าที่เป็นกากของเสียขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ถูกปล่อยออกมาส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจตามมา และเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกาย
5.เกิดปัญหาเศรษฐกิจชุมชน เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ต้องอาศัยน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำจากชลประทาน แต่หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งต้องใช้น้ำดิบมาก ต่อไปน้ำใต้ดินอาจแห้ง กระทบต่อการทำเกษตรกรรม รวมไปถึงปัญหาความร้อนในอากาศที่เกิดจากกระบวนการผลิตและเผาขยะ ส่งผลต่อสุขภาพประชาชนและต้นยางพารา ทำให้น้ำยางปริมาณลดลง กระทบต่อรายได้ครัวเรือน
แกนนำผู้คัดค้านรายหนึ่ง บอกว่า ประเด็นสำคัญของการไม่เห็นด้วย คือที่ตั้งโครงการอยู่ห่างจากโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอที่มีนักเรียนและบุคลากรเกือบ 1,000 คนเพียง 100 เมตรเท่านั้น หากโครงการนี้เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อบุตรหลานชาวจะนะแน่นอน ทั้งเสียงดังรบกวน ควันและมลพิษที่เกิดตามมา รวมถึงการเข้ามาของรถบรรทุกขนาดใหญ่ในการขนส่งเศษไม้เพื่อมาป้อนโรงไฟฟ้า ทั้งที่ อ.จะนะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของ กฟผ.อยู่ในพื้นที่แล้ว และยังมีการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาด 2,200 เมกกะวัตต์อีก แล้วทำไมต้องให้มีโรงไฟฟ้าเอกชนมารบกวนชาวบ้าน
มะโสม (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านหมู่ 5 ต.คู บอกว่า ถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้าจริง ก็จะใกล้กับโรงเรียนมาก หลานๆ ยังเรียนอยู่หลายคน เพราะเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน ถ้าสร้างแล้วจะทำอย่างไร จึงขอค้านไม่ให้สร้าง ซึ่งมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะมองว่าความเสียหายมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ
ด้าน นายสามารถ สะเงะยุนุ่ย นายกอบต.คู ได้ออกมากล่าวกับกลุ่มชาวบ้านที่มาฟังคำตอบว่า ขออยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชน และจะให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อนตัดสินใจเริ่มทำโครงการ
“การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่หมู่ 3 เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ โดยในวันที่ 5 ต.ค.นี้ จะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นที่บ้านทุ่ง หมู่ 5 ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและรวมพลังกันแสดงความเห็นว่า คนส่วนใหญ่ไม่เอา โรงไฟฟ้าก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ประชาชนในพื้นที่จึงต้องร่วมกันแสดงพลังว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับโครงการนี้” นายก อบต.คู กล่าว
หมุดหมายต่อไปในการเคลื่อนไหวคัดค้านคือวันที่ 5 ตุลาฯ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 ชาวบ้าน ต.คู คัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล
2 กำนันสุเดช แกนนำชาวบ้าน
4 นายกอบต.คู (เสื้อเหลือง) กำลังชี้แจงชาวบ้าน