ทนายสิ่งแวดล้อม เล็งยื่นอุทธรณ์ หลังศาลปค. ยกฟ้องคดีท่าเรือบ้านโพธิ์ รุกลำน้ำบางปะกง
ศาลปกครองระยอง พิพากษายกฟ้อง “คดีฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตท่าเรือบ้านโพธิ์” บริษัท อีสเทิร์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด ด้านตุลาการเสียงข้างน้อย มีความเห็นแย้งยันต้องจัดทำ EHIA ก่อน
เมื่อวันที่ 20 กันยายน ศาลปกครองระยอง มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.11/25 56 คดีหมายเลขแดงที่ ส.13/2559 คดีพิพาทระหว่าง นายสมบัติ รัตนโยธิน ที่ 1 กับพวกรวม 16 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กรณีการก่อสร้างท่าเทียบเรือล่วงล้ำลำน้ำบางปะกง โดยไม่ได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ในคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนใบอนุญาตเลขที่ 1/2555 ถึง 6/2555 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2555 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (บริษัท อีสเทิร์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด) ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (พิเศษ) ท่าจอดเรือ รวม 6 ฉบับ ใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร และคำสั่งต่ออายุใบอนุญาตรวม 35ฉบับ ซึ่งศาลฯ ได้พิพากษายกฟ้อง
นายสุรชัย ตรงงาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวถึงคดีฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตท่าเรือบ้านโพธิ์ และใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโกดังสินค้าของบริษัท อิสเทริ์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด บริเวณริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากศาลมีคำพิพาษายกฟ้อง เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อไป
"คำพิพากษาที่ออกมา มีแง่ดีที่ว่า รายละเอียดแทบทุกประเด็นทำให้ข้อโต้แย้ง ได้รับการวินิจฉัย โดยเฉพาะตุลาการบางท่านมีความเห็นแย้ง" ทนายสิ่งแวดล้อม กล่าว และว่า คดีนี้สะท้อนให้เห็นช่องว่างทางกฎหมาย เกี่ยวกับเรื่อง การรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ว่ามีการหลบเลี่ยงได้ง่าย เชื่อว่าจะนำมาสู่การปรับแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้อง และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต
นายสุรชัย กล่าวถึงในคำพิพากษาศาลปกครองระยอง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 มีตุลาการศาลปกครอง 1 ท่านมีความเห็นแย้ง โดยเห็นว่า การจัดทำท่าเรือต้องมองภาพรวม และเห็นว่า เป็นโครงการที่เข้าข่ายส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ
สำหรับคำพิพากษากรณีการก่อสร้างท่าเทียบเรือล่วงล้ำลำน้ำบางปะกง นายนิทัศน์ จูงยืนยง ตุลาการศาลปกครองระยอง องค์คณะที่ 3 ได้มีความเห็นแย้งเฉพาะในประเด็นการออกใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ 6 ท่า เพื่อใช้ในการขนถ่ายสินค้าประเภทเกษตรกรรม ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศเดียวกัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 ซึ่งกำหนดประเภทโครงการหรือกิขการท่าเทียบเรือที่มีความยาวหน้าท่าที่เรือเข้าเทียบได้ตั้งแต่ 300 เมตร ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสนอในขั้นตอนขออนุญาต การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คือผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 ออกใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยแยกออกเป็นรายท่า จำนวน 6 ใบอนุญาต และไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการอนุญาตตามประกาศดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
คนแปดริ้วชงถอนใบอนุญาตสร้างท่าเรือ 6 ท่า บางปะกง ชี้ส่อเลี่ยงอีไอเอ