ฟังเหตุผล ปมขัดแย้ง คณะกรรมการไตรภาคี โรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่
ไขปมขัดแย้งภายในคณะกรรมการไตรภาคี ศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ ภาคประชาชนยื่นลาออก หลังพบพิรุธในกระบวนการทำงานที่ขาดความชอบธรรม หลังประธานคณะกรรมการไตรภาคียุติการประชุมกลางอากาศ ทั้งที่ไม่มีข้อสรุปการหารือของอนุกรรมการ
สืบเนื่องจาก กรณีที่ปรากฎข้อขัดแย้งระหว่างกรรมการฝ่ายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและฝ่ายภาคประชาชน จนกระทั่งนำไปสู่ การประกาศลาออกของคณะอนุกรรมการชุดที่ 1 ว่าด้วยการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA และสุขภาพ EHIA เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณารายงานไม่ได้นำไปสู่ความถูกต้องตามหลักการประเมินและหลักกฎหมาย แต่มีความเบี่ยงเบนของกรรมการฝ่านการไฟฟ้าฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่จะทำให้การทำงานของกรรมการเป็นประโยชน์สำหรับฝ่ายตน และในส่วนคณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ว่าด้วยการรับฟังความเห็นได้ดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชนตามที่บทบาทหน้าที่ โดยประธานอนุชุด3 ชี้แจงว่ากระบวนการรับฟังความเห็นไม่สามารถทำได้ ด้วยเหตุนี้กรรมการภาคประชาชนจึงเกิดข้อสงสัยและความไม่วางใจต่อบทบาทของอนุกรรมการชุดที่ 3 ว่าการแต่งตั้งอนุกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมานั้นเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่
19 ก.ย.59 ที่ผ่านมาภายหลังการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ครั้งที่ 6 คณะอนุกรรมการในส่วนของภาคประชาชนทั้ง 3 ชุด ได้แก่ อนุกรรมการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม อนุกรรมการการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และอนุกรรมการพิจารณาศักยภาพการทำงานพลังงานหมุนเวียน เดินทางมายังศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงเหตุผลการลาออกของอนุกรรมการและกระบวนการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีที่ขาดความชอบธรรม หลังประธานคณะกรรมการไตรภาคียุติการประชุมกลางอากาศ ทั้งที่ไม่มีข้อสรุปการหารือของอนุกรรมการ รวมถึงกรณีที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ล่ารายชื่อสนับสนุนการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่ได้มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน
นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ หนึ่งในอนุกรรมการชุดที่ 2 ซึ่งศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของจังหวัดกระบี่ เผยถึงการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีที่ผ่านมาว่า เรื่องการทำงานของไตรภาคีที่ประชุมมาแล้ว 6 ครั้ง และอนุกรรมการชุดที่2 9ครั้ง บรรยากาศการทำงานยอมรับว่า ไม่รับความร่วมมือจากส่วนราชการที่มีหน้าที่ในเรื่องของการซัพพอร์ตข้อมูลเลย ต้องวิ่งหากันเอง กว่าจะได้ข้อสรุป ถูกทักท้วง ถูกเตะตัดขาตลอด
ในส่วนของกรรมการไตรภาคี มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ชอบมาพากล การที่กฟผ.ยังคงดำเนินการต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งๆ ที่คณะกรรมการไตรภาคี ยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างล่าสุดเป็นเรื่องที่น่าเกลียดมาก คือ กฟผ.เอาเอกสารไปให้นักเรียน นักศึกษา ที่วิทยาลัยเทคนิคกระบี่เซ็นเพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้า เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะการจะให้สนับสนุนหรือไม่ ต้องให้ข้อมูลรอบด้านก่อน แต่การกระทำครั้งนี้ เป็นการมัดมือชก ซึ่งก็คิดว่าเอกสารเหล่านั้น คงจะนำมาประกอบเรื่องที่จะนำเสนอท่านนายกฯต่อไป
นายกิตติชัย เล่าว่า แม้จะไม่ได้รับความช่วยเหลือในเรื่องของข้อมูลต่างๆ แต่วันนี้ผลการศึกษาออกมาแล้ว ภายในสามปีเราสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้แน่นอน ผู้ประกอบการจำนวนมากตั้งใจจะผลิตไฟฟ้า แต่ปัญหาคือการไฟฟ้าภูมิภาคไม่เปิดรับซื้อ ในเมื่อรัฐบาลไม่รับซื้อก็ไม่อยากลงทุน
ปัจจุบันมีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) และพลังงานชีวภาพ(Biogas) จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว จำนวน 42.05 เมกะวัตต์ กำลังดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจำนวน7.39เมกะวัตต์ กำลังพัฒนาโครงการเพื่อขออนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 92.1เมกะวัตต์ รวมปริมาณกระแสไฟฟ้าที่จะสามารถผลิตเข้าระบบได้ในปัจจุบัน (หากได้รับอนุญาต) จำนวน141.54 เมกะวัตต์ ขณะที่กระบี่มีการใช้ไฟสูงสุดที่ 142.9 เมกะวัตต์ และคาดการณ์ว่าอีก 3 ปีจะเพิ่มขึ้นที่175 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมาในการประชุมของอนุกรรมการมีข้อสรุปแล้ว แต่ที่น่าหวั่นใจ คือ จากการประชุมใหญ่หลายๆ ครั้ง ไม่มีการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม
“การที่จะนับ3ปี จะเริ่มนับหนึ่งไม่ได้ ตราบใดที่การไฟฟ้ายังไม่รับซื้อ ปัญหาที่ว่าระบบสายส่งไม่พอ ถ้าคุณไม่เปิดรับซื้อ สายส่งไม่มี แล้วจะบอกว่ากระบี่ผลิตไฟฟ้า พลังงานทดแทนไม่ได้ ก็ไม่ถูก”
ในประเด็นการใช้พลังงานทดแทน กิตติชัย อธิบายว่านอกจากผลผลิตจากปาล์ม ไม้ยาง ไอโอแก๊ส ไบโอแมส ของเสียจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม วันนี้หลายโรงต้องเผาทิ้งไปเพราะมีล้นเกิน ทั้งยังไม่สามารถนำเอาไปผลิตเป็นไฟฟ้าได้ ถึงผลิตก็ไม่สามารถขายได้ ก็เลยต้องเผาทิ้ง ซึ่งเป็นมูลค่าที่น่าเสียดายในแง่ธุรกิจ ตอนนี้จังหวัดข้างเคียงกระบี่ล้วนแต่มีสวนปาล์ม ถ้าผลักดันกระบี่ได้ ก็สามารถจะผลิตในจังหวัดอื่นๆ ได้ เรามีทรัพยากรส่วนนี้เหลือเฝือ กระบี่มีพื้นที่ปลูกปาล์ม 1.4 ล้านไร่ มีต้นปาล์ม ประมาณ 20ล้านต้น ในแต่ละปีเกษตรกรต้องเอาต้นปาล์มลงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านต้นต่อปี ตอนนี้กำลังจะมีค่า เพราะต่อไปสามารถใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ นักวิจัยญี่ปุ่นเห็นเขาตกใจว่าเรามีวัตถุดิบมากขนาดนี้ทำไมไม่เอามาใช้ประโยชน์
กิตติชัย เผยถึงข้อเรียกร้องจากอนุกรรมการชุดที่ 2 ว่า (1)ให้วิจัยในเรื่องของการใช้พลังงานทดแทนของจังหวัดกระบี่อย่างจริงจัง พร้อมทั้งทำแผนปฏิบัติการ นั่นคือที่ศึกษามาแล้วทำอย่างไร ให้เกิดในภาคปฏิบัติ
(2) ให้มีการศึกษาการใช้พลังงานทดแทนของจังหวัดกระบี่ เพราะในสมัยกำหนดโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ยังไม่ทราบว่าพลังงานทดแทนในจังหวัดกระบี่ มีมากน้อยแค่ไหน และอยู่ๆ ก็กำหนดมา 880 เมกกวัตต์โดยใช่ถ่านหิน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ ต้องเอาฐานพลังงานทดแทนมาวาง และก็เอาโรงไฟฟฟ้าที่จะมาซับพอร์ต หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ หากพลังงานหมุนเวียนสามารถทดแทนได้ 100% (3) เพิ่มระบบสายส่งให้พลังงานทดแทนทันที
ด้านรศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนภาคประชาชน เปิดเผยว่าที่ผ่านมาในการประชุมใหญ่ ไม่เคยได้ฟังภาคประชาชน ฟังแต่กฟผ. ทำงานกันมา 9 เดือน แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปรวมกันได้ เพราะยังมีความขัดแย้งระหว่างกฟผ.กับภาคประชาชน ประเด็นปัญหาที่ว่ามีหลายอย่าง
ประเด็นแรกคือตั้งแต่เริ่มตั้งไตรภาคีคือให้ชะลอการทำ EIA EHIA แต่ปรากฏว่ากฟผ.พยายามลงพื้นที่ เก็บข้อมูล สร้างความขัดแย้งกับขาวบ้าน เพราะชาวบ้านกลัวว่าข้อมูลที่ได้ไปจะไปมีผลต่อการตัดสิน และเปิดประมูลแล้ว ประกาศแล้วว่าได้ผู้รับประมูล เราเลยสงสัยว่าที่ประชุมมา 9 ครั้งได้นำอะไรไปใส่ใน TOR บ้างหรือเปล่า
รศ.ดร.เรณู กล่าวว่า สิ่งที่ท่านประธานอนุกรรมการชุดที่ 1 พลเรือเอก วัลลภ เกิดผล กังวลที่สุดคือ การเดินเรือขนถ่านหินเข้าช่องแหลมหิน ตรงนั้นเป็นพื้นที่ของหญ้าทะเล ที่สำคัญมันเชื่อมต่อกับป่าชายเลน ที่ผ่านมาสำนักความหลากหลายของ กระทรวงทรัพย์ฯ ได้ออกจดหมายมาถึงผู้ทำรายงานว่าตรงนี้มีความสำคัญจะกระทบระบบนิเวศ ที่ประชุมเลยมีมติกันว่า ให้ไปวัดความขุ่นของน้ำ เมื่อลงไปทำกัน ตกลงอย่างดีว่าจะมีทั้งฝ่ายกฟผ. นักวิขาการ ภาคประชาชน
"วันแรกที่วัดเป็นข้อมูลพื้นที่ฐาน ผ่านไปด้วยดี วันต่อมาที่ทดลองวิ่งเรือ ปรากฏความผิดปกติ เรือมาในลักษณะหัวจม ท้ายลอยเพื่อให้ใบผัดไม่จมมาก แล้วเเล่นเรือช้าจนมองไม่ออกว่า แล่นอยู่ เมื่อสอบถามทางกัปตันเรือ เขาก็บอกว่า ขับเร็วไม่ได้เดี๋ยวตะกอนฟุ้ง เพราะเบื้องบนสั่งมา"
“อันนี้สร้างความขัดแย้ง ไม่ไว้วางใจในภาคประชาชน และในที่สุดเมื่อลองวัดดู ก็พบว่าจะกระทบความขุ่น ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล 17-30% ในพื้นที่ดังกล่าวมีหญ้าทะเลกว่า 11 ชนิดจาก 12 ชนิดที่พบทั่วไทย ซึ่งพวกหญ้าใบยาวเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์วัยอ่อน และใบสั้นเป็นอาหารของเต่าทะเลและพะยูน เราศึกษา EIA ไปทำไม เมื่อการศึกษาเราไม่เอาผลการศึกษาไป” รศ.ดร.เรณูกล่าวและว่า ที่ตั้งตรงนั้นไม่เหมาะสม เพราะเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาแรมซ่า
รศ.ดร.เรณู เล่าว่าช่วงที่เป็นอนุกรรมการ ทางกฟผ.เอาบริษัทที่ปรึกษามาเล่ารายละเอียด พอเราถามว่า เรื่องผลกระทบที่มีผลต่อชุมชน เขาบอกว่าไม่ได้ศึกษาที่ชุมชนจริง แต่เอาข้อมูล ทุติยภูมิมา ซึ่งนั้นไม่ใช่ค่าพื้นฐานที่จะเอามาเปรียบเทียบก่อนโครงการและหลัง มิหน่ำซ้ำในจุดอื่นๆ ไม่มีค่า base lineเลย คำถามคือเราจะเดินซ้ำรอยของเหมืองทองหรือ ที่ต่อให้ประชาชนเจ็บป่วยก็สรุปไม่ได้ ว่าเกิดจากอะไร เพราะไม่มีค่าก่อนการดำเนินการ แต่ถ้ามีวัดค่าก่อนดำเนินการ ว่าผลกระทบเราเห็นอยู่เเล้ว จะเกิดที่ไหน แล้วกำหนดจุดว่าเราจะมามอนิเตอร์ ตามจุดต่างๆ แบบนั้นจะช่วยสรุปได้
ดังนั้นสิ่งที่กฟผ.สรุปว่า สามารถสร้างได้ไม่ส่งกระทบ มันไม่ตรงไปตามหลักวิชาการ ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทั้งยังละเมิดสิทธิชุมชน ไม่มีการเชิญชุมชนมาประชุม เป็นแบบนี้จะจบได้อย่างไร ต้องย้อนกลับไปทำใหม่ เพราะถ้าคุณจะอยู่กับชาวบ้านอีก 20-30 ปี ทำอย่างไรที่ว่าจะอยู่ร่วมกับกระบี่ที่เขาจะ Go Green
“วันนี้ ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า แต่คัดค้านถ่านหิน”
ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หนึ่งในอนุกรรมการชุดที่ 1 กล่าวว่า กรรมการชุดหนึ่งพยายามถอนสภาพรายงาน EIA ของกฟผ.และไปเริ่มกระบวนการใหม่ แต่กฟผ.ไม่ยอมถอน ทำให้กรรมการฝั่งภาคประชาชนเลยตัดสินใจลาออก นอกจากนี้ในที่ประชุมยังไม่เปิดโอกาสให้เสนอข้อมูลจากฝั่งประชาชน โดยประธานคณะกรรมการไตรภาคี พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ อ้างว่าไม่ตรงกับหน้าที่ของอนุชุดหนึ่ง รวมไปถึงการประชุมแบบรวบรัด โดยอ้างว่า เวลาไม่มีเเล้ว และแจกฟอร์ม ให้เขียนมาส่งว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไรแบบเดียวกันทั้งที่ประชุม โดยที่ พลเอก สกนธ์ บอกว่า จะไปสรุปให้ท่านนายกฟังเอง
ดร.เดชรัต กล่าวว่า เมื่อถามถึงข้อสรุปในที่ประชุม พล.อ.สกนธ์ บอกว่า สรุปว่ายังไม่มีข้อสรุป แต่มีความเห็นของกรรมการแต่ละคนมาว่ามีความเห็นอย่างไร และจะแจ้งให้ทราบภายหลัง
เมื่อถามว่าอันนี้เรียกว่าเป็นมติไหม พล.อ.สกนธ์ บอกไม่มีมติ ระหว่างนี้ก็จะไม่มีการประชุมอีกแล้ว จากนี้จะไปรายงานท่านนายก และก็จะดูว่าจะมีการสั่งการ ดำเนินการอย่างไร นั่นหมายความว่า การทำงานหลังจากนี้เสมือนยุติชั่วคราว
ในส่วนของกรรมการชุดหนึ่งที่ลาออกไป พลเรือเอก วัลลภ กรุณาขอว่าให้มารับรองรายงานการประชุมไปก่อน "ผมเห็นว่า เป็นสิ่งที่เราต้องทำอย่างไรถึงแม้ว่าเราทำมาถึงจุดนี้ ก็ต้องไปรับรองสิ่งที่ทำกันมา แต่จากนี้คงต้องรอว่านายกฯจะมีคำสั่งอะไรลงมา ถึงตอนนั้นคงมีคำตอบว่าจะเดินหน้าทำงานไปทางไหน"
ด้าน นายอธิราษฎร ดำดี หนึ่งในอนุกรรมการชุดที่2 ยืนยันไม่เชื่อความเป็นกลางของคณะกรรมการ ทุกครั้งที่มีการประชุมก็จะประชุมแบบรวบรัดตลอด นั่นหมายความว่ามีการดำเนินการไม่เป็นกลาง พยายามตัดบทประชาชน เวลาอยู่ในคณะกรรมการ หากเรามีข้อสงสัยเรื่องที่เป็นสิ่งแวดล้อม สงสัยว่าเรื่องพลังงานหมุนเวียนไปถึงไหน ก็จะไม่ทราบ เวลามาตอบในที่ประชุมกรรมการ ประชุมรวบรัดตลอด ทั้งนี้อย่างพบว่ามีการลงพื้นที่แบบลับๆ ของท่านประธาน เพื่อเข้าไปล็อบบี้ผู้นำในพื้นที่ เรื่องต่างๆ เหล่านี้สะท้อนความเป็นเป็นธรรมในการทำงาน"
นายอธิราษฎรกล่าวด้วยว่า วันนี้กระบี่มีเรือหัวโทง ภูมิปัญญาท้องถิ่นกว่า 100 ปี ของชาวบ้านที่ใช้ประกอบอาชีพ แต่ไม่นานมานี้มีเรือหัวทิ่ม ที่พยายามโกงเรือการตรวจระดับความขุ่นของน้ำ สุดท้ายเรือหัวทิ่มจะเป็นของใคร ถ้าหากกระบวนการนี้ดำเนินไปจนมีการสร้างโรงไฟฟ้า เรือหัวทิ่มนี้จะเป็นผลงานของนายกฯ
“ ผมรู้สึกเสียใจมาก ในขณะที่เราบอกว่า เราย้ายการต่อสู้บนถนนมาคุยกันในห้องประชุม ด้วยตัวเลขวิชาการ ทุกคนทุกฝ่าย พยายามหาว่าเราจะเปลี่ยนทิศทางให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ พลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน เรามีทางออก เรื่องชีวมวล กระบี่มีมาก มีผู้ประกอบการพัฒนาในระดับที่สามารถเทียบเท่ากับเชื้อเพลิงถ่านหิน แต่ว่าเรื่องเหล่านี้ ทุกคนปฏิเสธที่จะพูดถึง เรามองทุกอย่างในรูปเดิมๆ เราก็จะแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ ถ้าหากว่าทุกอย่างเป็นแบบนี้ ผมเชื่อว่าจะมีคนออกมาต่อสู้บนท้องถนนอีกแน่นอน”
ทั้งนี้ ทางอนุกรรมการภาคประชาชนทั้งสามชุด ได้เรียกร้อง นายกรัฐมนตรีเร่งกำกับให้การดำเนินการของคณะกรรมไตรภาคีเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการดังนี้
1.พิจารณาแนวทางให้จังหวัดกระบี่พิสูจน์ตัวเองว่าสามารถทำพลังงานหมุนเวียนได้ภายใน 3 ปี ตามข้อตกลงเดิมที่ประชาชนชาวกระบี่มีต่อรัฐบาลโดยเร็ว
2.พิจารณาหาแนวทางที่เป็นขั้นตอนปฏิบัติสำหรับรองรับการทำพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริงได้ตามคำสั่งเพิ่มเติมของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เพื่อให้การทำพลังงานหมุนเวียนสามารถดำเนินการได้จริงภายใต้การสนับสนุนนโยบายและสายส่งของรัฐซึ่งจะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจน
3.หากการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคียังไม่แล้วเสร็จรัฐบาลควรสั่งการให้กฟผ. ยุติการล่ารายชื่อสนับสนุนการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและการกระทำในการสร้างแรงจูงใจสนับสนุนการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่
อนึ่งการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเกิดขึ้น ภายหลังตามที่ ตัวแทนชุมชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเพื่อขอให้ กฟผ. ยุติการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตถึงแบบประเมิน EHIA ที่ สผ. ชี้แจงว่ายังมี 100 กว่าประเด็นที่ กฟผ. ต้องปรับปรุงฉะนั้นจึงไม่ควรเร่งดำเนินการ
การจัดตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าว จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเจรจาอย่างเป็นทางการโดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ตัวแทนจากภาครัฐ คือ กระทรวงพลังงาน กฟผ. และตัวแทนจากรัฐบาล 2) ตัวแทนจากฝ่ายผู้คัดค้านโรงไฟฟ้า เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) นักวิชาการ และ 3) ตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 โดยแต่งตั้งให้ พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมการ
จากวันนั้นมาถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 9 เดือน ที่มีการทำงานศึกษาของอนุกรรมการแต่ละชุด เกิดข้อสงสัยและความวางใจต่อบทบาทของอนุกรรมการทั้ง 3 ชุดรวมถึงประธานคณะกรรมการไตรภาคีถึงความถูกต้อง เที่ยงธรรม ในการดำเนินการให้บรรลุผลตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า นโยบายที่รัฐพยายามดึงการประท้วงบนท้องถนนมาใช้วิธีการพูดคุยในห้องประชุมจะสัมฤทธิ์ผลในทางใด หากไม่สามารถสร้างความชอบธรรมในการทำงาน คาดว่าไม่นานเราคงได้เห็นภาพมวลชนบนท้องถนนอีกก็เป็นไปได้.
อ่านประกอบ
อนุกก.ไตรภาคีภาคปชช.โรงไฟฟ้ากระบี่ ร้องบิ๊กตู่ หลังพบ กฟผ.แอบล่าชื่อสนับสนุน
ภาคปชช.กระบี่ ฉะนโยบายพลังงานรัฐ สกัดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่
นักวิชาการ ชี้พัฒนาพลังงานหมุนเวียน ช่วยสร้างงานให้ท้องถิ่นมากขึ้น
ภาคธุรกิจกระบี่ยันพร้อมใช้พลังหมุนเวียน 100% หวั่นถ่านหินทำท่องเที่ยวเสีย
ขอบคุณภาพประกอบจาก
เฟสบุ๊คประสิทธิ์ชัย หนูนวล
http://krabi.vwander.com/wp-content/uploads/2015/07/krabi-energy1.jpg