เบื้องหลังคดี ‘ท่านมุ้ย’ ล้มละลาย!ติดหนี้ 22 ล. - อ้างค่าจ้างสร้างหนังดัง 270 ล.
เปิดคำพิพากษาศาลคดี‘ท่านมุ้ย’ล้มละลาย ติดหนี้แบงก์ศรีนครปี 39 แค่ 7 ล. ไม่ชำระ โอน 2 ทอดถึง บสส. 22 ล. ปัดหนี้ล้นพ้นตัว อ้างมีเงินฝาก หุ้น สิทธิเรียกร้องค่าจ้างสร้างหนัง ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3’ 270 ล. รับค่าจ้างเสี่ยเจียง 30 ล. ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ฎีกากลับ
กรณีศาลล้มละลายกลางได้พิพากษา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ให้ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ท่านมุ้ย) ลูกหนี้ ล้มละลาย หลังจาก เมื่อ 4 พ.ค.55 ศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อ 4 พ.ค.55 (อ่านประกอบ: ศาลสั่ง 'ท่านมุ้ย' ล้มละลาย! ซ้ำรอยหลายคนดัง)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงคำพิพากษามาเสนอดังนี้
คดีนี้บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จํากัด หรือ บสส. ( SAM ) เจ้าหนี้โจทก์ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นลูกหนี้
โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นหนี้ ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมตามมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 21264/2539 จำนวน 10,096,068.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ของเงินต้น 7 ล้านบาท หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหนี้เดิมได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพ์ย์จำนองออกขายทอดตลาด ได้เงินจำนวน 3,070,000 บาท
ต่อมา 29 มิ.ย.2544 เจ้าหนี้เดิมได้โอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ให้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด และเมื่อ 7 พ.ค.2547 บริษัท บริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ได้โอนกิจการและสิทธิเรียกร้องทั้งหมดที่มีต่อจำเลยให้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จํากัด หรือ บสส. ( SAM ) หรือ โจทก์ คำนวณถึงวันฟ้องคงค้างชำระ จำนวน 22,032,463.32 บาท จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยต่อสู้ว่า การโอนหนี้ระหว่างโจทก์กับ บริษัท บริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ไม่ชอบเนื่องจากการบังคับคดีตามคำพิพากษาเป็นสิทธิเฉพาะตัวของเจ้าหนี้ โจทก์ไม่มีจอำนาจฟ้อง จำเลยมีทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกมีมูลค่ามากกว่าหนี้ของโจทก์ ไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งจำเลยมีธุรกิจรับสร้างภาพยนตร์มีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่
เห็นว่า เมื่อจำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2843 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่ต้องนำพยานมาสืบหักล้างดังกล่าว ซึ่งทางนำสืบของจำเลย จำเลยมีตัวแทนและคุณหญิงกมลา ยุคล ณ อยุธยา ภริยาเป็นจำเลย เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยและภริยามีสินสมรส คือ
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 4,108,688.40 บาท ซึ่งยังไม่พอชำระหนี้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ถือหุ้น ในบริษัท มูนบีม อีควิปปเม้นท์ จำกัด 64,400 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท มูลค่า 6,440,000 บาท และถือหุ้น ในบริษัท พร้อมมิตร โปรดักชั่น จำกัด จำนวน 25,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 2,500,000 บาท นั้น
เห็นว่า การที่จำเลยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด ซึ่งมิได้มีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าของหุ้นดังกล่าวมีจำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับฐานะของบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ว่ามีทรัพย์สินและหนี้สินอย่างไร นำมาเทียบหาอัตราส่วของจำนวนหุ้นที่จำเลยถืออยู่ จำเลยจะอ้างมูลค่าจดทะเบียนเป็นจำนวนราคาทรัพย์สินของจำเลยหาได้ไม่ และทางนำสืบของจำเลยไม่ได้แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่จำเลยถือหุ้นอยู่ทั้งสองบริษัทนั้นมีกำไรขาดทุนหรือมีทรัพย์สินอย่างไร
ที่จำเลยอ้างว่า บริษัท พร้อมมิตร โปรดักชั่น จำกัด มีสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างผลิตภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 ยุทธหัตถี ค่าจ้างรวม 270 ล้านบาท นั้น
เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างบริษัท พร้อมมิตร โปรดักชั่น จำกัด กับ บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งถือว่า บริษัท พร้อมมิตร โปรดักชั่น จำกัด เป็นนิติบุคคล ต่างหากจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและบริษัทย่อมมีเจ้าหนี้และลูกหนี้ของตนเอง เช่นนี้ สิทธิที่เรียกร้องตามสัญญาจ้างสร้างภาพยนตร์ ย่อมเป็นสิทธิของบริษัท หาใช่สิทธิของจำเลยแต่อย่างใดไม่
ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยมีสินสมรสเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 37129 1 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ราคาประเมิน 1,441,500 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 28174 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ราคาประเมิน 758,750 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 33423 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ราคาประเมิน 462,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 23019 ตำบลป่าชาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ราคาประเมิน 3,239,500 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 28052 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ราคาประเมิน 934,500 บาท รวมที่ดิน 6,936,250 บาท ตามหนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาประเวศ นั้น
เห็นว่าเอกสารดังกล่าวได้รับรองเพียงว่า ที่ดินเลขที่ดังกล่าวนั้นมีราคาประเมินเท่าใด ส่วนจำเลยยังมีหน้าที่นำสืบแสดงให้เห็นว่าที่ดินดังกล่าวนั้นเป็นของจำเลยและไม่มีภาระผูกพันจำเลยจะอ้างเพียงหนังสือรับรองราคาประเมินหาได้ไม่
ทั้งในการสืบพยานจำเลยก็ไม่ได้นำโฉนดที่ดินหรือสำเนาโฉนดที่ดินพร้อมรายการสารบัญจดทะเบียนยืนยันว่าที่ดินดังกล่าวไม่มีภาระผูกพันมาแสดงต่อศาลแต่อย่างใด พยานของจำเลยส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนัก
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า จำเลยมีสินสมรสเป็นเครื่องประดับซึ่งบริษัท อรวรรณ คอลเลคชั่น จำกัด ได้ประเมินไว้ ซึ่งมีมูลค่า 13,150,500 บาท เห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นในการประเมินมูลค่าของบริษัทที่ระบุชื่อมาเท่านั้น แต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานอื่นมายืนยันว่าเครื่องเพชรดังกล่าวทั้งหมดเป็นของจำเลยจริง ทั้งบริษัทอรวรรณ คอลเลคชั่น จำกัด ก็ไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความยืนยันถึงเหตุผลในการประเมินราคาทรัพย์สินต่าง ๆ พยานส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักเช่นเดียวกัน
และที่จำเลยอ้างว่ามีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างผลิตภาพยนตร์ระหว่างจำเลยกับนายสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ จำนวน 30 ล้านบาทตามสัญญาว่าจ้าง นั้น
เห็นว่า ตามสัญญาดังกล่าวจำเลยจะได้รับเงินต่อเมื่อได้มีการดำเนินการครบถ้าวนตามสัญญาแล้ว แต่ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยว่า งานที่จำเลยได้ทำไปแล้วนั้นเป็นเพียงการค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์เขียนบทภาพยนตร์ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท เท่านั้น และก็ไม่ปรากฏว่าจำนวนเงินดังกล่าวผู้ว่าจ้างจะต้องชำระหนี้ให้แก่จำเลยอีกเพียงใด
นอกจากนี้เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ ที่จำเลยเป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมตั้งแต่ปี 2534 แล้วจำเลยไม่ชำระหนี้จนกระทั่งเจ้าหนี้เดิมนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ย่อมแสดงให้เห็นถึงการที่จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวอีกด้วย พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาจึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า กรณีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่
เห็นว่า จำเลยเป็นหนี้เจ้าหนี้เดิมตามคำพิพากษาตามยอมตั้งแต่ปี 2539 แต่จำเลยก็มิได้ชำระหนี้ จนกระทั่งเจ้าหนี้เดิมนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้บางส่วน และหลังจากนั้นได้มีการโอนหนี้ต่อมาจนกระทั่งโจทย์เป็นผู้รับโอน จำเลยก็ไม่ได้ชำระหนี้ส่วนที่ขาดหรือติดต่อขอประนอมหนี้แต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไมเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทย์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นควร คดีหมายเลขแดงที่ 14519/2550
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล จาก www.manager.co.th