'เอ็กซ์คลูซีฟ' เปิดหนังสือ สตง. ค้านคิดค่าเสียหายจำนำข้าว 'ปู' แค่20 % วัดใจ 'บิ๊กตู่'
"...สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงมีความเห็นว่า การกำหนดค่าเสียหายความรับผิดทางละเมิดของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรดำเนินการด้วยความรอบครอบระมัดระวังเพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการและเห็นว่าไม่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนเพียงเฉพาะส่วนของตนในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหายทั้งหมด ตามแนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้ได้.."
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่เห็นด้วยผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณารับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลัง ที่คิดค่าเสียหายจากความรับผิดทางละเมิดแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เหลือประมาณ 35,717 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของตัวเลขความเสียหายเดิมที่ต้องเสียกว่า 178,586,365,141.17 บาท และจะทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วยความรอบครอบ ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติที่เสียหายไปเป็นจำนวนเงินหลายแสนล้านบาท จากการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าว ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยนั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในช่วงสายวันที่ 19 ก.ย.2559 สตง.ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อคัดค้านผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณารับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลัง กรณีการคิดค่าเสียหายจากความรับผิดทางละเมิดแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แค่ 20% เป็นทางการแล้ว
โดยระบุรายละเอียดในหนังสือดังนี้
เรื่อง การกำหนดค่าเสียหายความรับผิดทางละเมิดจากกรณีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
กราบเรียน นายกรัฐมนตรี
ตามที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางเพ่ง ได้พิจารณาการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ ตามอำนาจหน้าที่เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย ซึ่งมีการดำเนินการตามขั้นตอนการตรวจสอบสำนวนการสอบสวนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ข้อ 17 นั้น
ต่อมา ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางเพ่ง ได้พิจารณาค่าเสียหายจากความรับผิดทางละเมิดกรณีดังกล่าวแล้ว โดยการที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิกเฉย ละเลย ไม่สั่งการให้ตรวจสอบหรือดำเนินการใด ๆ ตามอำนาจหน้าที่ เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเป็นจำนวนเงิน 178,586.37 ล้านบาท จึงให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหาย คิดเป็นเงิน 35,717.27 ล้านบาท ตามนัยมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงาน ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการไปด้วยความจงใจหรือประมาณเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยสิทธิเรียกชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีดังกล่าว จะมีได้เพียงใดให้คำนึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์ โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้
ประกอบกับกระทรวงการคลัง ได้กำหนดแนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ไว้ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.2/ว66 ลงวันที่ 25 กันยายน 2550 ซึ่งได้กำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่กรณีทุจริตทางการเงินหรือทรัพย์สิน โดยให้ผู้บังคับบัญชาขั้นสูง/ผู้อนุมัติ จะต้องรับผิดร้อยละ 20 ของค่าเสียหายทั้งหมด
กรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการทั้งหมด จึงรับผิดเพียงร้อยละ 20 ของค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีความเห็นว่า แนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.2/ว66 ลงวันที่ 25 กันยายน 2550 เป็นแนวทางในการเรียกค่าสินไหมทดแทนของเจ้าหน้าที่ที่ได้กระทำให้เกิดความเสียหายของส่วนราชการทั่วไปโดยแบ่งตามลักษณะของความเสียหาย ได้แก่
1.) กรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือ ระเบียบ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบ การใช้เงินผิดระเบียบ
2.) กรณีทุจริตทางการเงินหรือทรัพย์สิน เช่น การนำเงินไปใช้ส่วนตัว การเบิกจ่ายเงินโดยทุจริต
3.) กรณีอุบัติเหตุ เช่น การฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการจราจร
ทั้งนี้ ความเสียหายทั้ง 3 ลักษณะดังกล่าวอาจไม่สามารถเทียบเคียงกับความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติได้ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย
นอกจากนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับทราบถึงประเด็นปัญหาและความเสียงสำคัญที่จะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวมาโดยลำดับ จากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือแจ้งเตือนและส่งรายงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวให้แก่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวต่อไป โดยมิได้สั่งการให้มีการทบทวนหรือชะลอโครงการไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่าการบริหารจัดการโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสหรือไม่
นอกจากนี้ การดำเนินโครงการทำให้เกิดผลขาดทุนในวงเงินที่สูงมาก ซึ่งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ได้ดำเนินการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ผ่านมา สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 โดยมีผลขาดทุนสุทธิจำนวนเงิน 536,908.30 ล้านบาท
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงมีความเห็นว่า การกำหนดค่าเสียหายความรับผิดทางละเมิดของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรดำเนินการด้วยความรอบครอบระมัดระวังเพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการ และเห็นว่าไม่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนเพียงเฉพาะส่วนของตนในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหายทั้งหมด ตามแนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้ได้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)
อนึ่ง สำหรับกรณีนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เคยเปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า เรื่องนี้คณะกรรมการพิจารณาไม่ถูกต้องตามหลักการ เนื่องจากอัตราการแบ่งส่วนความรับผิดชอบต่อความเสียหายทางละเมิดตามหนังสือเวียนของกระทรวงการคลังที่ กค 0406.2/ว.66 (หรือเรียกหนังสือ ว.66) แบ่งกลุ่มทำนองว่า ถ้าเป็นกรณีปกติเกิดการทุจริตขึ้น ผู้บังคับบัญชาจะต้องชดใช้ความเสียหาย 20% และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชดใช้ 60-80% เพราะผู้บังคับบัญชาไม่กำกับดูแลจนเกิดการทุจริตขึ้น
แต่สำหรับกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว จนเกิดความเสียหายหลายแสนล้านบาท ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ คนเดียว นอกจากนี้ในช่วงการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นักวิชาการ และสื่อมวลชน ได้ตีแผ่นำเสนอข่าวความไม่ชอบมาพากลในโครงการนี้ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีการสั่งระงับโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีก
“น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องชดใช้ประมาณ 80-100% เพราะถูกชี้มูลความผิดแค่รายเดียว” แหล่งข่าว ระบุ
ดังนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามนี้ สิ่งที่นายมนัส รวมถึงคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องตอบสังคมให้ได้คือ
ไฉนถึงคำนวณค่าความเสียหายออกมาเป็นเงินจำนวนประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีนี้ ของนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว ที่ระบุว่า มีความเสียหายประมาณ 2.8 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ อีกประการหนึ่งคือ การคำนวณค่าความเสียหายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ต้องชดใช้เพียงแค่ 20% หรือประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น ตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ในช่วงโครงการรับจำนำข้าว ทั้ง ป.ป.ช. สตง. รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ นักวิชาการ และสื่อมวลชนจำนวนมาก ได้ตักเตือน มีข้อเสนอแนะ รวมถึงตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในโครงการรับจำนำข้าวมาโดยตลอด นี่ไม่นับเรื่องที่ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ แค่เพียงรายเดียวด้วย ฐานไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการดังกล่าว (ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกาฯ)
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ สาธารณชน คงได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนในเร็วๆ นี้