31 เครือข่ายประชาชนรอเก้อ ทวงถามนายกฯเลิกแผนแม่บทโลกร้อน
31 เครือข่ายประชาชน เดินหน้าผลักเลิกแผนแม่บทโลกร้อน-แผนพัฒนาภาคใต้ แจงขาดการมีส่วนร่วม ไร้ทิศทาง แก้ปัญหาไม่ได้ ยกโทษภาคอุตสาหกรรม-โยนบาปเกษตรกรรายย่อย บั่นทอนสิทธิชุมชน เสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารชาติ ซ้ำสร้างภาระผูกพันระยะยาวกว่าหมื่นล้าน
วันที่ 1 ธ.ค.53 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล 31 เครือข่ายภาคประชาชน นำโดย คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.) ราว 700 คน ไปยื่นหนังสือและขอเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความชัดเจนในการยกเลิกร่างแผนแม่บทเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2553- 2562 และจัดให้มีกระบวนการการจัดทำแผนฯ ขึ้นใหม่โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีทิศทางที่ชัดเจนรอบด้านในการแก้ปัญหาโลกร้อน
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ประธานมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายฯได้ยื่นหนังสือให้กับนายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อให้ยกเลิกแผนแม่บทฯดังกล่าว ซึ่งร่างขึ้นโดยสำนักงานแผนและนโยบายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. เนื่องจากกระบวนการขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม เนื้อหาไม่ตอบโจทย์โลกร้อน และมีแนวโน้มสร้างความเดือนร้อนให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่อาจให้ความชัดเจนในการตอบต่อข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ทำให้จะต้องเดินทางมาขอเข้าพบนายกฯอีกครั้งหนึ่ง
“เจ้าหน้าแจ้งว่านายกฯ ติดภารกิจไม่สามารถมาพบได้ และขอให้เครือข่ายฯเข้าพบคนอื่นแทน จึงแจ้งความประสงค์ขอพบนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีตัวแทนรัฐบาลออกมาพบดังที่ได้ตกลงไว้แต่ประการใด” น.ส.เพ็ญโฉม ระบุ
นายพฤ โอ่โดเชา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า นึกว่านายอภิสิทธิ์จะเป็นนายกรุ่นใหม่ที่เข้าใจประชาชน เอาประชาชน ชาวบ้าน และประเทศชาติเป็นที่ตั้ง แต่ก็ไม่เห็นต่างจากนายกคนอื่นๆที่ไม่กระตือรือล้นจะมาพูดคุยกับประชาชน ไม่ใช่ว่าจู่ๆชาวบ้านก็มา แต่มาเพราะได้ยื่นหนังสือมา 1 เดือนแล้ว ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญของภัยธรรมชาติที่เป็นผลมาจากปัญหาโลกร้อน ต้องเอาเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน ไม่ใช่มุ่งแต่จะหาคะแนนเสียงเพื่อการเลือกตั้งสมัยหน้า
นางกัญญา ปันกิติ สมาชิก คปท. กล่าวว่าท่าทีของรัฐบาลแสดงว่าจะเดินหน้าแผนแม่บทโลกร้อนรวมทั้งแผนพัฒนาภาคใต้
“รัฐบาลบิดเบือนมาตลอด เวทีรับฟังความเห็นที่สุราษฎร์ก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้ตั้งใจรับฟังชาวบ้าน เลยนำมาสู่การล้มเวที ทำหนังสือบอกว่าจะรับฟัง แต่ไม่ยอมยกเลิกแผนแม่บท เพราะกลัวเสียผลประโยชน์”
ทั้งนี้ 31 เครือข่ายภาคประชาชน อาทิ คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประจวบคีรีขันธ์ และ คปท.ได้ระบุว่าจากการศึกษาร่างแผนแม่บทดังกล่าว มีปัญหาหลายส่วน อาทิ 1.ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ว่าจ้างสถาบันวิชาการแห่งหนึ่งรวบรวมข้อมูลซึ่งไม่รอบด้าน และแม้ว่ารัฐบาลจะจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชน แต่ก็เป็นไปอย่างรวบรัดโดยไม่ก่อประโยชน์อันใด
2.แผนงานและโครงการที่กำหนดไว้ไม่สามารถรองรับวิกฤตการณ์โลกร้อนได้ตรงจุด แต่กลับสร้างภาระรัฐบาลกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ความกระจัดกระจายไร้ทิศทางไม่สอดคล้องกับสาเหตุปัญหา ได้แก่ ไม่ได้ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นตัวการหลักปล่อยกาซเรือนกระจกถึงร้อยละ 73 และ 3.ขาดการจัดการเชิงองค์รวมสำหรับภาคเกษตร ละเลยกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณมากอันเป็นตัวการสำคัญปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ แต่กลับไปเน้นการปล่อยกาซในภาคเกษตรขนาดย่อยที่ทำเพื่อความอยู่รอด
ร่างแผนดังกล่าวยังไม่ได้พูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การป้องกันไม่ให้บรรษัทข้ามชาติผูกขาดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และสิ่งมีชีวิต เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวและการแก้ปัญหาโลกร้อนของเกษตรกรรายย่อย ในประเด็นความมั่นคงทางอาหารก็มีมิติคับแคบไม่ได้รับประกันการเข้าถึงอาหารของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้เคารพสิทธิเกษตรกรและชุมชน แต่ให้ความสำคัญกับพืชส่งออก สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรม(GMO)ซึ่งจะเปิดช่องให้เกิดการเข้ามาผูกขาดการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยบรรษัทการเกษตรขนาดใหญ่ อันเป็นเรื่องอันตรายระยะยาวสำหรับสังคมเกษตรอย่างประเทศไทย
ขาดความรอบด้านและบั่นทอนสิทธิชุมชนในการจัดการป่าไม้ เน้นแต่การจัดการป่าในแง่แหล่งกักเก็บคาร์บอนเพื่อค้าขายเครดิตในตลาดคาร์บอน ไม่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคุ้มครองคุณค่าระบบนิเวศความหลากหลายทางชีวภาพและฐานทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิต แผนงานบางอย่างอาจซ้ำเติมความขัดแย้งกับชาวบ้านในเขตป่า เช่น โครงการศึกษาผลกระทบจากการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ โครงการพัฒนาระบบการตรวจสอบและติดตามการปริมาณการดูดซับคาร์บอนจากการสูญ เสียพื้นที่ป่าในอุทยานทั่วประเทศ โครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (REDD) เป็นต้น
การขาดการให้ความสำคัญกับกลุ่มอ่อนไหวหรือมีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบโลกร้อน เช่น เกษตรกรรายย่อย ประมงรายย่อย ชนเผ่า ประชาชนที่อยู่ในป่า ตัวอย่างชุมชนประมงชายฝั่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหลากหลายรุนแรงจากภัยพิบัติที่จะเกิดจากความแปรปรวนภูมิอากาศ ควรมองให้เชื่อมโยงตั้งแต่นโยบายและแผนงานเกี่ยวกับการประมง การท่องเที่ยว การขยายตัวของพื้นที่เมืองในพื้นที่ชายฝั่งทะเล การขยายการลงทุนภาคพลังงานและอุตสาหกรรมหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของพื้นที่ชายฝั่งทั้งหมดของภูมิภาคนี้ .