ชัดๆ ผลสอบ สตง. งานปรับปรุงสะพานเทียบเครื่องบินดอนเมือง 409 ล.-ส่อล็อคผลิตภัณฑ์?
"..ขอให้ท่านในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดการดำเนินการโครงการจ้างปรังปรุงสะพานเทียบเครื่องบิน อาคารเทียบเครื่องบิน Pier North, Pier 2, Pier 3 และ Pier 4 จำนวน 33 ชุด ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่ากับเงินงบประมาณและการลงทุนมากที่สุด.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดในหนังสือ สำนักงานการตรวจเงินแผ๋นดิน (สตง.) ที่แจ้งถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแล บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ติดตามกำกับดูแลอย่างให้ชิด การดำเนินการโครงการจ้างปรังปรุงสะพานเทียบเครื่องบิน อาคารเทียบเครื่องบิน Pier North, Pier 2, Pier 3 และ Pier 4 จำนวน 33 ชุด ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่ากับเงินงบประมาณและการลงทุนมากที่สุด และให้แจ้งผลลการดำเนินการให้ สตง.ทราบ ภายใน 30 วัน
------------------------
เรื่อง การจ้างปรับปรุงสะพานเทียบเครื่องบิน อาคารเทียบเครื่องบิน จำนวน 33 ชุด ณ ท่าอากาศยานดอนเมืองของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ด้วย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับข้อมูลว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการจ้างปรับปรุงสะพานเทียบเครื่องบิน อาคารเทียบเครื่องบิน Pier North, Pier 2, Pier 3 และ Pier 4 จำนวน 33 ชุด โดยจะดำเนินการโดยวิธีพิเศษจากผู้รับจ้างรายเดิมที่เคยเป็นคู่สัญญากับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในงานจ้างปรับปรงสะพานเทียบเครื่องบิน อาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 5 (Pier 5) จำนวน 12 ชุด ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยวิธีพิเศษ สัญญาเลขที่ 7Cl4-5800001 และงานจ้างเหมาเอกชนให้บริการแรงงานภายนอก ควบคุม ตรวจสอบและซ่อมบำรุงระบบสะพานเทียบเครื่องบิน อาคารเทียบเครื่องบิน Pier North, Pier 2, Pier 3 และ Pier 4 ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง สัญญาเลขที่ 7CS4-591010
นอกจากนี้ ยังทราบข้อมูลว่า บริษัท ที.เอส. เทคนิคคอล แอนด์ ซัพพลาย (2000) จำกัด ได้เคยเสนอผลการศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาและอุปสรรค โครงการปรับปรุงระบบสะพานเทียบเครื่องบิน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยได้ทำการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างการดำเนินการจ้างปรับปรุงสะพานเทียบเครื่องบินของเดิม ซึ่งมีอายุการใช้งานนานถึง 29 ปี กับการซื้อสะพานเทียบเครื่องบินของใหม่ จำนวน 33 สะพาน โดยใช้ราคาจากใบเสนอราคาระบบสะพานเทียบเครื่องบินยี่ห้อ BUKAKA เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ซึ่งทั้งสองวิธีการใช้งบประมาณที่เท่ากัน
จากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น พบว่า
1. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับจัดสรรงบลงทุนเพื่อการดำเนินงานปกติ ปี 2559 (เพิ่มเติม) ของท่าอากาศยานดอนเมือง ในหมวดเครื่องจักรอุปกรณ์ วงเงิน 409,724,600 บาท ตามแผนงบประมาณปี 2559 สำหรับโครงการปรับปรุงสะพานเทียบเครื่องบิน อาคารเทียบเครื่องบิน Pier North, Pier 2, Pier 3 และ Pier 4 จำนวน 33 ชุด ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยขอปรับปรุง ดังนี้
- เปลี่ยนระบบควบคุมให้เป็นระบบ Programmable Logic Controller (PLC) ควบคุมการทำงานขณะขับสะพานเข้าเทียบอากาศยานได้อย่างแม่นยำ รองรับการทำงานแบบ Pre-Positioning และรองรับการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายในอนาคต
- เปลี่ยนอุปกรณ์ขับเคลื่อนใหม่ทั้งหมด เช่น ล้อขับเคลื่อน (Wheel Carriage), การยกขึ้นลงของกันสาด (Canopy), ลูกล้อซองสะพานเทียบ(Tunnel Roller) เป็นต้น
- ปรบปรุงอุโมงค์หรือซอง (Tunnel) ที่ผุกร่อน พร้อมทั้งทาสี ตกแต่งภายใน พร้อมทั้งเปลี่ยนพรมใหม่ (ทดแทน)
2. ปัจจุบันบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการจ้างเหมาเอกชนให้บริการแรงงานภายนอก ควบคุม ตรวจสอบและซ่อมบำรุงระบบสะพานเทียบเครื่องบิน อาคารเทียบเครื่องบิน Pier North, Pier 2, Pier 3 และ Pier 4 ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะเวลา 10 เดือน วงเงินตามสัญญา 4,121,773,19 บาท ตามสัญญาเลขที่ 7 CS4-591010 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2558
โดยมีสาระสำคัญของสัญญาสรุปได้ว่า การตรวจสอบ ซ่อมบำรุงรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด หากมีอุปกรณ์ชำรุดจะต้องดำเนินการตรวจสอบพร้อมสรุปผลการชำรุดและเบิกพัสดุซ่อมแซม โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน)เป็นผู้จัดหาพัสดุซ่อม แต่หากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถจัดหาพัสดุซ่อมได้ก็จะแจ้งให้ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา โดยพัสดุซ่อมต้องเป็นผลิตภัณฑ์ของแท้และใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ จากบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทตัวแทนจำหน่ายของผู้ผลิตอุปกรณ์นั้น
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องจัดพนักงานเป็นพนักงานช่าง จำนวน 3 คน สำหรับปฏิบัติงานเฉพาะในวันทำการของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เวลา 08.00 – 17.00 น. เพื่อทำงาน ซ่อมบำรุงรักษาล่วงหน้าประจำ 3 เดือน ด้วย
3. จากการตรวจสอบสังเกตการณ์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พบว่า สะพานเทียเครื่องบินทั้ง 33 สะพานที่จะทำการปรับปรุงนั้น มีการใช้งาน ณ บริเวณอาคารเทียบเครื่องบิน Pier North, Pier 2, Pier 3 และ Pier 4 ตามปกติ และเจ้าหน้าที่ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งให้ทราบว่าปัจจุบันยังไม่มีการอนุมัติร่างขอบเขตของงาน (TOR) แต่อย่างใด
แต่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางแล้ว และหากจะต้องดำเนินการจัดจ้าง ก็จำเป็นต้องดำเนินการโดยวิธีพิเศษ เนื่องจากจำเป็นต้องให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายของ Jetway เป็นผู้ดำเนินการ
4. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือที่ ทอท. 80/2559 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2559 ถึง ป.ป.ท. ชี้แจงกรณีโครงการปรับปรุงสะพานเทียบเครื่องบิน อาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 5 ณ ท่าอากาศยานดอนเมืองว่า ปัจจุบันบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีสะพานเทียบเครื่องบินติดตั้งอยู่ 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Jetway , Rampway Bukaka และ Shinmawa แต่ผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งใช้งานที่อาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 5 ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นผลิตภัณฑ์ของ Jetway
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการและเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อีกทั้งให้มีการแข่งขันการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์เข้าร่วมเสนอราคา จึงขอให้ท่านในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดการดำเนินการโครงการจ้างปรังปรุงสะพานเทียบเครื่องบิน อาคารเทียบเครื่องบิน Pier North, Pier 2, Pier 3 และ Pier 4 จำนวน 33 ชุด ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่ากับเงินงบประมาณและการลงทุนมากที่สุด และให้แจ้งผลลการดำเนินการให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบ
พร้อมสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องซึ่งรับรองสำเนาถูกต้อง เพื่อพิจารณาประกอบการตรวจสอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2552 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ บริษัท ที.เอส. เทคนิคคอล แอนด์ ซัพพลาย (2000) จำกัด เป็นผู้เข้าร้องเรียนต่อ สตง. เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการจ้างปรับปรุงสะพานเทียบเครื่องบิน อาคารเทียบเครื่องบิน Pier North, Pier 2, Pier 3 และ Pier 4 จำนวน 33 ชุด ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ตามแผนงบประมาณปี 2559 วงเงิน 409 ล้านบาท ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยอ้างว่า ได้ทำการศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาและอุปสรรคโครงการนี้ โดยเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างการดำเนินงานจ้างปรับปรุงสะพานเทียบเครื่องบิน จำนวน 33 สะพาน และจัดซื้อเปลี่ยนของใหม่ เป็นจำนวน 33 สะพาน พบว่าทั้งสองวิธีใช้งบประมาณเท่ากัน แต่การจัดซื้อใหม่จะเป็นประโยชน์มากกว่าเนื่องจากได้ของใหม่และมีการรับประกันหลังการขาย ทั้งยังสามารถดำเนินการโดยวิธีประกวดราคาได้ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ แต่ควรเปิดกว้างให้บริษัทเอกชนราย อื่นๆ เข้าร่วมเสนอราคาด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการระบุข้อมูลว่า โครงการปรับปรุงสะพานเทียบเครื่องบินอาคารเทียบเครื่องบิน ท่าอากาศยานดอนเมือง จำนวนเงิน 75 ล้านบาท โครงการจ้างเอกชนให้บริการแรงงานภายนอกควบคุมตรวจสอบและซ่อมบำรุงรักษาสะพานเครื่องบิน อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ท่าอากาศยานดอนเมือง วงเงิน 5 ล้านบาท และโครงการซ่อมบำรุงสะพานเทียบเครื่องบิน 33 ชุด วงเงินจัดจ้าง 400 กว่าล้านบาท ทั้ง 3 โครงการ มีบริษัทรายเดียวได้รับการประมูลไปทั้งหมด โดยที่ทาง ทอท.ไม่ได้มีการเปิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมด้วยวิธีการจัดจ้างแบบวิธีประมูล แต่ใช้วิธีพิเศษ
ขณะที่ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานบอร์ด ทอท. เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ขณะนี้ ทอท.ยังไม่มีการอนุมัติให้เอกชนรายใดเข้ามาดำเนินโครงการดังกล่าว อยู่ระหว่างการทบทวนและพิจารณาให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น แต่ได้รับรายงานจากผู้บริหาร ทอท.ว่า เหตุผลที่เลือกวิธีการปรับปรุงเพราะมีราคาที่ถูกกว่าการจัดซื้อใหม่ และยืนยันว่าจะดูแลและตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของ ทอท. จะไม่ยอมให้มีการใช้เงินงบประมาณในการจัดหาของที่ไม่ดีหรือไม่ได้คุณภาพเข้ามาอย่างแน่นอน
ส่วน นายเพชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ชี้แจงว่า โครงการนี้ยังไม่ได้มีการอนุมัติให้เอกชนรายใดเข้ามาดำเนินการ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนโครงการ และหาข้อมูลเพื่อสรุปเปรียบเทียบแนวทางการจัดซื้อสะพานเทียบเครื่องบินใหม่กับการปรับปรุงหรือซ่อม ซึ่งในเบื้องต้นการปรับปรุงมีราคา 409.7 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าการซื้อใหม่ซึ่งมีราคา 660 ล้านบาท
น่าสนใจว่า ภายหลังจากที่สตง. ตรวจสอบพบข้อมูลใหม่ เกี่ยวกับกระบวนการว่าจ้างเอกชนเข้ามารับงานนี้ โดยวิธีการพิเศษ ที่เจ้าหน้าที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ ระบุว่า หากจะต้องดำเนินการจัดจ้าง ก็จำเป็นต้องดำเนินการโดยวิธีพิเศษ เนื่องจากจำเป็นต้องให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายของ Jetway เป็นผู้ดำเนินการ
ขณะที่ ปัจจุบันบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีสะพานเทียบเครื่องบินติดตั้งอยู่ 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Jetway , Rampway Bukaka และ Shinmawa แต่ผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งใช้งานที่อาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 5 ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นผลิตภัณฑ์ของ Jetway
นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานบอร์ด ทอท. ร่วมถึง นายเพชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง จะชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็นนี้ต่อสาธารณชนอย่างไร ?
และที่สำคัญที่สุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม จะเคลียร์ข้อเท็จจริงกรณีนี้ ออกมาในลักษณะใด?