โชว์ชัดๆ หนังสือสตง.จี้ คลัง-ไอซีที เลิกกม.เอื้อภาษีสรรพสามิต'ชินคอร์ป'-หาตัวคนช่วย 'แม้ว'
"..หากผลการสอบข้อเท็จจริงพบว่า มีเจ้าหน้าที่ร่วมกันดำเนินการกรณีให้มีการตราพระราชกำหนดทั้งสองฉบับ ประกาศกระทรวงการคลัง และมติครม. เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย หรือกรณีไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ขอให้ดำเนินการทางวินัย ทางแพ่ง และอาญาต่อไปด้วย.."
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงการคลัง ว่า ในช่วงต้นเดือนก.ย.2559 ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึง นาย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการออกกฎหมายและประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวกับการลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต ตามคำพิพากษาฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ในการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 และ พ.ศ.2546 และการออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68) ลงวันที่ 28 ม.ค.2546 โดยให้ลดพิกัดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพาสามิต สำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากอัตราร้อยละ 50 เหลือ ร้อยละ 10 รวมทั้ง มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้นำภาษีสรรพสามิตหักออกจากค่าสัมปทาน ซึ่งเป็นการกีดกันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป จนเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 31,462,511,204.72 บาท
นอกจากนี้ สตง. ยังขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่ามีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ร่วมในการดำเนินการกรณีให้มีการตราพระราชกำหนดทั้งสองฉบับ ประกาศกระทรวงการคลัง และมติครม. จนเป็นเหตุผลให้ บมจ.ทีโอที ได้รับความเสียหายจากการได้รับส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาสัมปทาน ลดลงจำนวน 31,462,511,204.72 บาท ดังกล่าว และกรณีไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ดังกล่าวด้วย ซึ่งหากผลการสอบข้อเท็จจริงพบว่า มีเจ้าหน้าที่ร่วมกันดำเนินการกรณีให้มีการตราพระราชกำหนดทั้งสองฉบับ ประกาศกระทรวงการคลัง และมติครม. เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย หรือกรณีไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ขอให้ดำเนินการทางวินัย ทางแพ่ง และอาญาต่อไปด้วย
ขณะที่ ในหนังสือ สตง.ระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ พบว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาฯ โดยเฉพาะการเสนอเรื่องต่อครม.เพื่อขอยกเลิกเป็นทางการ ทำให้พระราชกำหนดทั้งสองฉบับ ประกาศกระทรวงการคลัง และมติครม. ยังมีผลบังคับใช้อยู่ และอาจทำให้ประเทศชาติเสียหายได้อีก
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า นอกจากการทำหนังสือถึง รมว.กระทรวงการคลัง แล้ว สตง. ยังได้ทำหนังสือรมว.กระทรวงไอซีที ให้ปฏิบัติตาม คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เช่นเดียวกัน (ดูหนังสือประกอบท้ายเรื่อง)
ส่วนแหล่งข่าวจาก สตง. กล่าวยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ในหนังสือ 2 ฉบับ ที่สตง.ทำถึง รมว.กระทรวงการคลัง และรมว.ไอซีที ระบุให้ดำเนินการเรื่องนี้โดยเร่งด่วน และเมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วให้แจ้งผลตอบกลับมาที่ สตง. ด้วย
" ขณะนี้ สตง. อยู่ระหว่างรอฟังผลการดำเนินงานของทั้ง 2 กระทรวง หากยังไม่ดำเนินการอะไรอีก สตง.จะออกมาตรการอื่นมาเพิ่มเติมอีก" แหล่งข่าวจากสตง.ระบุ
@ หนังสือถึง รมว.กระทรวงการคลัง
@ หนังสือถึง รมว.ไอซีที