กทปส. รุกปรับแผนยุทธศาสตร์ สอดรับยุคดิจิทัลเพื่อก้าวสู่ Thailand 4.0
กทปส. รุกปรับแผนยุทธศาสตร์ สอดรับยุคดิจิทัลเพื่อก้าวสู่ Thailand 4.0 ตั้งเป้าอีก 5 ปีข้างหน้า สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวม ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท
หลายคนอาจยังไม่คุ้นชื่อ “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ” หรือ กทปส. ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. กันมากนัก
แต่สำหรับบทบาทหน้าที่ กทปส. รวมถึงรายได้นับหลายหมื่นล้านต่อปีนั้น สามารถชี้ชะตาให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้เต็มรูปแบบ และก้าวสู่ Thailand 4.0 ได้ไม่ไกลเกินฝัน หากแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 – 2564 นี้ ได้ถูกกำหนดทิศทางและเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน
อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ กทปส. นับเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศชาติก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้ไม่ยากไปนัก แต่เป็นที่น่าเสียดาย! ที่กลับมีน้อยคนนักที่จะเข้าถึง ซึ่งหมายรวมถึงผู้ประกอบการ นักวิจัย นักพัฒนา คณะครูอาจารย์ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะทราบถึงโอกาสที่ กทปส. ได้หยิบยื่นให้นี้ ลองมาศึกษาไปพร้อมๆ กัน…
เคยทราบมั้ย ? ว่าในแต่ละปี กทปส. ได้จัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับเป็นเงินกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ในวงเงินที่สูงนับหลายร้อยล้านต่อปี โดยเป็นอีกภารกิจสำคัญของ กทปส. ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ นักวิจัยและนักพัฒนา คณะครูอาจารย์ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ได้นำเสนอผลงานโครงการต่างๆ รวมถึงงบประมาณที่ต้องการให้สนับสนุนมายัง กทปส. เพื่อขออนุมัติทุกปี รวมถึงอีกกรณีทาง กทปส. จะเป็นผู้กำหนดโครงการและงบประมาณมาให้ หากมีคุณสมบัติและสามารถดำเนินการได้ตามข้อเสนอก็สามารถยื่นเรื่องเข้ามาได้ โดยโครงการนั้นๆ จำเป็นต้องตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์และทิศทางการดำเนินงานของ กทปส. ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายและการประเมินผลงานไว้ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อช่วยกันยกระดับประเทศไทยในด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
ล่าสุด นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการ กทปส. เปิดเผยว่า “ในปีนี้ กทปส. ได้ดำเนินการปรับแผนยุทธศาสตร์ใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 - 2564 โดยจะใช้ แผนแม่บทฯ ฉบับสมบูรณ์เป็นตัวกำหนดทิศทางหรือขอบข่ายวัตถุประสงค์ในการเปิดรับโครงการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางหลักตาม Thailand 4.0 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการในภาคเศรษฐกิจสำคัญหันมาดำเนินธุรกิจด้วยดิจิทัลควบคู่ไปด้วย โดยมุ่งเน้นวัตถุประสงค์หลักๆ 3 ส่วน คือ 1) ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 2) ด้านการพัฒนาบุคลากร รวมถึงผู้เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ทักษะ ที่ทันสมัยและเหมาะกับวิชาชีพของตน และ 3) ด้านการสื่อสารถึงการดำเนินงานของ กทปส. ที่โปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงเกิดประสิทธิภาพ และมีคุณค่าสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างแท้จริง”
โดยในปี 2556 – 2557 ที่ผ่านมา กทปส. รายงานว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้อนุมัติวงเงินกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ให้แก่โครงการต่างๆ ที่นำเสนอเข้ามาเพียง 1 ใน 4 ของวงเงินที่จัดสรรให้ทั้งหมด ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ได้ไม่เต็มที่
จากตัวเลขปี 2556 กทปส. ได้จัดสรรวงเงินกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ในวงเงิน 150 ล้านบาท แต่มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติเพียง 10 โครงการ ในวงเงิน 32 ล้านบาท และในปี 2557 มีวงเงินสูงถึง 600 ล้านบาท แต่มีโครงการฯ ที่ผ่านการอนุมัติเพียง 34 โครงการ ในวงเงิน 159 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโครงการฯ ที่นำเสนอเข้ามาไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน ประกอบกับมีความซ้ำซ้อนกับภารกิจที่สำนักงาน กสทช. และ กทปส. ได้ดำเนินการอยู่แล้ว
นอกจากนี้ หลายโครงการฯ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ทิศทางของภาคกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมในปัจจุบัน ทำให้วงเงินที่จัดสรรไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการจัดทำแผนแม่บทวิจัยและพัฒนาฯ ระยะ 5 ปีในครั้งนี้
อีกแรงหนุนสำคัญ รศ. ดร. มงคล รักษาพัชรวงศ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำแผนแม่บทฯ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ของ กทปส. ในแผนแม่บทฉบับใหม่ที่มีกำหนดใช้ในปี พ.ศ. 2560 – 2564 นี้ ว่า จะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2559 นี้ และคาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2560 โดยแผนแม่บทฯ ฉบับนี้ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ที่มุ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัล รวมถึงมุ่งพัฒนากำลังคน ให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมควบคู่กันไป เพื่อเป้าหมายการก้าวสู่ Thailand 4.0 “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”
โดยแผนยุทธศาสตร์ของกทปส. ในปีพ.ศ. 2560 – 2564 ฉบับร่างเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ 4 ด้านหลักๆ ซึ่งครอบคลุมในมิติของคอนเทนต์ แพลตฟอร์ม การเชื่อมโยงเครือข่าย และแอปพลิเคชั่น ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมถึงกิจการที่เกี่ยวโยงและต่อเนื่อง ประกอบด้วย
1) เรื่อง Financial Technology ส่งเสริมการพัฒนาความรู้และความเข้าใจของประชาชนในการใช้ประโยชน์ ในขณะเดียวกันสร้างความตระหนักรู้ถึงความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศ การศึกษาวิเคราะห์เทคโนโลยีด้านการเงินสมัยใหม่ที่เหมาะสม การพัฒนานวัตกรรมเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจดิจิทัล เข้ากับโครงสร้างของภาครัฐ (อาทิ Any ID) เป็นการเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันของธุรกิจไทยสู่สากล เป็นต้น
2) เรื่อง Smart Healthcare ส่งเสริมการพัฒนาความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนด้านสุขภาพในเชิงป้องกันด้วยรูปแบบเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงสำหรับทุกวัย (ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ระยะไกล เช่น TV Whitespace) การส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการให้บริการด้านสุขภาพร่วมกับการท่องเที่ยว ยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพด้วยระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศด้านสาธารณสุขและฐานข้อมูลผู้ป่วยในรูปแบบ e-hospital เป็นต้น
3) เรื่อง Smart City ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อการบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพคล่องตัว ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตด้วยเทคโนโลยีใหม่ อาทิ Li-Fi (Light Fidelity) และนวัตกรรมด้านอุปกรณ์รับรู้ และการประมวลผลข้อมูลแบบกลุ่มเมฆ เพื่อส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน สังคมที่มีความปลอดภัย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันกระทรวงไอซีที เป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงข้อมูลและบูรณาการการบริการต่างๆ เข้าด้วยกันตามแพลตฟอร์มกลาง โดยขณะนี้ทาง SIPA ได้ตั้งคณะทำงานและกำหนดให้ “จังหวัดภูเก็ต” เป็นจังหวัดนำร่อง เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
4) เรื่อง Smart Agriculture ส่งเสริมการพัฒนาความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ รวมถึงห่วงโซ่อุปสงค์อุปทานด้านการเกษตร ให้แก่เกษตรกร ด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การเกษตรยุคใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีผลผลิตและมูลค่าสูง และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พัฒนาฐานข้อมูลระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ ข้อมูลเกษตรเชิงพื้นที่ (spatial data) การประมวลผลข้อมูลแบบกลุ่มเมฆ และสนับสนุนให้ SMEs ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการให้เข้าถึงฐานองค์ความรู้ (knowledge base) และสามารถแข่งขันได้ทั้งในเวทีระดับภูมิภาคและเวทีระดับโลก
นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการ กทปส. กล่าวปิดท้ายว่า “เป้าหมายในการปรับแผนยุทธศาสตร์ของ กทปส. ในครั้งนี้ เพื่อต้องการเพิ่มจำนวนและคุณภาพของงานวิจัยและพัฒนาที่ได้รับสนับสนุนทางการเงินจาก กทปส. รวมไม่ต่ำกว่า 500 ราย ภายในปี 2560 – 2564 โดยสามารถนำไปใช้งานและสร้างประโยชน์ที่มีความคุ้มค่าได้ไม่ต่ำกว่า 50% และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้ ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือปีละ 8,000 ล้านบาท ทั้งนี้เป้าหมายในระยะยาว เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนและก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้”