เบื้องหลังศาล รธน.ชี้ ม.9 พ.ร.บ.ฮั้วขัด รธน.! ผลักความผิดให้ผู้บริหาร เอกชน
“…เป็นการสันนิษฐานความผิดทางอาญาที่กว้างยิ่งกว่าการสันนิษฐานให้ต้องร่วมรับผิดกับนิติบุคคลเสียอีก ทั้งยังเป็นการสันนิษฐานความผิดของบุคคลดังกล่าวโดยไม่มีความเกี่ยวพันกันอย่างมีเหตุอันชอบธรรม ระหว่างข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขแห่งข้อสันนิษฐาน กับข้อเท็จจริงที่ถูกสันนิษฐาน อันเป็นหลักการพื้นฐานของการกำหนดข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งด้วย ซึ่งมีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไปยังหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารนิติบุคคลในเรื่องนั้นทั้งหมดทุกคน…”
สาธารณชนอาจทราบกันไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัย 8 ต่อ 1 เสียง ให้มาตรา 9 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘พ.ร.บ.ฮั้วฯ’ ขัดกับมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557
เนื่องจากเห็นว่าตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ฮั้วฯ ได้นำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้ผู้แทนนิติบุคคลต้องรับโทษทางอาญาด้วย อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม และจึงขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557
(อ่านประกอบ : ศาล รธน.วินิจฉัย ม.9 พ.ร.บ.ฮั้วฯขัด รธน.ชั่วคราวฯ-ผู้บริหารไม่ต้องรับผิดชอบ)
สำหรับมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ฮั้วฯ ระบุว่า ในกรณีที่การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลใด ให้ถือว่าหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลในเรื่องนั้น เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดนั้น
ส่วนมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณี ‘ฉบับเต็ม’ แล้ว สรุปได้ดังนี้
กรณีนี้เริ่มต้นจากที่นางสุรางค์ พรหมศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท เฟรซิเนียส เมดิคอล แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 2 ในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ยื่นฟ้องบริษัท เฟรซิเนียสฯ และนางสุรางค์ เป็นจำเลย ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วฯ ตามมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 9 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 91
อย่างไรก็ดีจำเลยทั้ง 2 ราย ได้ให้การปฏิเสธ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 45 โดยโต้แย้งว่า พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 9 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 และมาตรา 5 เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าว เป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่มีผลเป็นการสันนิษฐานความผิดของจำเลยที่ 2 โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของจำเลยก่อน เป็นการนำเอาการกระทำผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลยที่ 2 มีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา โดยสันนิษฐานว่า ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ก็ให้หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้มีอำนาจ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนในการกระทำผิดดังกล่าว โดยโจทก์ไม่ต้องพิสูจน์ถึงการกระทำผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้มีอำนาจ หรือผู้บริหารของนิติบุคคล
บทบัญญัตินี้จึงเป็นการสันนิษฐานความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไขมิใช่สันนิษฐานข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพียงบางข้อ หลังจากที่โจทก์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหา และขัดกับหลักนิติธรรมที่โจทก์ในคดีอาญาต้องมีภาระการพิสูจน์ถึงการกระทำผิดของจำเลยให้ครบองค์ประกอบความผิด นอกจากนี้บทบัญญัติมาตราดังกล่าวยังเป็นการนำบุคคลเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาให้ต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งทำให้บุคคลดังกล่าวอาจถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ โดยไม่มีพยานหลักฐานตามสมควรเบื้องต้นว่า บุคคลนั้นได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา
ศาลอาญาเห็นว่า คำโต้แย้งของจำเลยที่ 2 เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ต่อมาสำนักงานศาลยุติธรรมขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาส่งคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ประเด็นสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยคือ มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ฮั้วฯ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 4 และมาตรา 5 หรือไม่ ?
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า การดำเนินคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด เป็นหลักการที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด เพื่อเป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญา ที่รัฐให้การรับรองแก่บุคคลที่จะไม่ถูกลงโทษทางอาญา จนกว่าจะมีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด และเป็นหลักการที่สำคัญประการหนึ่งของหลักนิติธรรม ซึ่งได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4
สำหรับ พ.ร.บ.ฮั้วฯ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้การจัดหาสินค้าและบริการไม่ว่าด้วยวิธีการจัดซื้อหรือการจัดจ้างหรือวิธีอื่นใดของหน่วยงานรัฐทุกแห่ง ที่ดำเนินการโดยใช้เงินของแผ่นดิน รวมถึงการให้สิทธิในการดำเนินกิจการบางอย่างโดยการให้สัมปทานอนุญาตหรือกรณีอื่นใดในลักษณะเดียวกัน เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงต้องกระทำอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และมีกรแข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของรัฐ
แต่เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมามีการกระทำในลักษณะการสมยอมในการเสนอราคาและมีพฤติการณ์ต่าง ๆ อันทำให้มิได้มีการแข่งขันกันเสนอประโยชน์สูงสุดให้แก่หน่วยงานของรัฐอย่างแท้จริง และเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ จึงมีบทกำหนดการกระทำอันเป็นความผิดและกำหนดโทษทางอาญาไว้ เช่น มาตรา 9 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลใด ให้ถือว่าหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลในเรื่องนั้น เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดนั้น
พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 9 เป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่มีผลเป็นการสันนิษฐานความผิดทางอาญาของจำเลย โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของจำเลยก่อน เป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลยมีความผิด และต้องรับโทษทางอาญา กรณีจึงไม่ใช่เพียงแต่การสันนิษฐานให้หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลเท่านั้น แต่ได้สันนิษฐานให้เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับ ‘บุคคลใดก็ตาม’ ที่กระทำผิดไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่นิติบุคคลด้วย
ซึ่งเป็นการสันนิษฐานความผิดทางอาญาที่กว้างยิ่งกว่าการสันนิษฐานให้ต้องร่วมรับผิดกับนิติบุคคลเสียอีก ทั้งยังเป็นการสันนิษฐานความผิดของบุคคลดังกล่าวโดยไม่มีความเกี่ยวพันกันอย่างมีเหตุอันชอบธรรม ระหว่างข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขแห่งข้อสันนิษฐาน กับข้อเท็จจริงที่ถูกสันนิษฐาน อันเป็นหลักการพื้นฐานของการกำหนดข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งด้วย ซึ่งมีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไปยังหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารนิติบุคคลในเรื่องนั้นทั้งหมดทุกคน
ประกอบกับหลักพื้นฐานว่าด้วยความรับผิดทางอาญานั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 บัญญัติว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำ …” ดังนั้น บุคคลไม่ว่าบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลจะมีความรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อมีการกระทำ ซึ่งรวมถึงการงดเว้น ละเว้น เพิกเฉย หรือการไม่กระทำตามที่พึงกระทำในลักษณะอื่น ๆ ด้วย
เพราะฉะนั้นการที่หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารนิติบุคคล จะต้องเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดด้วย ก็ต่อเมื่อบุคคลเหล่านั้นมีการกระทำ หรืองดเว้นกระทำการที่ตนมีหน้าต้องป้องกันผล หรือควรต้องกระทำด้วย แต่ พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 9 เป็นการสันนิษฐานความผิดของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา โดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข มิใช่การสันนิษฐานข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพียงบางข้อของบุคคลเป็นเงื่อนไข หลังจากที่โจทก์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหา
และยังขัดกับหลักนิติธรรมที่ว่า โจทก์ในคดีอาญาต้องมีภาระการพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดของจำเลยให้ครบองค์ประกอบความผิด นอกจากนี้บทบัญญัติมาตรา 9 ดังกล่าว ยังเป็นการนำบุคคลเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาให้ต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งทำให้บุคคลดังกล่าวอาจถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ โดยไม่มีพยานหลักฐานตามสมควรในเบื้องต้นว่า บุคคลนั้นได้กระทำการหรือมีเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
ดังนั้น พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 9 ที่สันนิษฐานความผิดอาญาของผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กระทำการหรือมีเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้น จึงขัดต่อหลักนิติธรรมและขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4
ศาลรัฐธรรมนูญโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 8 คน วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ฮั้วฯ มาตรา 9 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 1 คน วินิจฉัยว่า ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ดังกล่าว
(อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/079/1.PDF)