ม.คอร์เนลล์ จับมือ ม.ท้องถิ่น พัฒนา 3 โครงการเศรษฐกิจชุมชนไทย
ม.คอร์เนลล์ สหรัฐ จับมือ สนง.เศรษฐกิจฐานชีวภาพ- ม.เกษตรศาสตร์ สกลฯ-เทคโนพระจอมเกล้าธนบุรี วิจัยเชิงพัฒนาท่องเที่ยวนิเวศน์ห้วยแร้ง ตราด- ผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ ปราจีนฯ- ผ้าย้อมคราม สกล
วันที่ 17 ม.ค.55 ที่โรงแรมทีเคพาเลส กรุงเทพฯ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา จัดสัมมนา “แนวทางการพัฒนาด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากทรัพยากรชีวภาพของชุมชนท้องถิ่น” โดยนำเสนอกรณีศึกษาเบื้องต้นจากปฏิบัติการกับชุมชน 3-16 ม.ค.55 ที่ผ่านมา
นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้ประสานงานในโครงการระหว่างประเทศไทยและมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าโครงการอยู่ภายใต้โครงการ SMART (The Student Multidisciplinary Applied Research Team Program) ของคอร์เนลล์ ที่ต้องการให้นักศึกษานำความรู้จากห้องเรียนไปปฏิบัติจริงในลักษณะวิจัยร่วมช่วยแก้ปัญหาชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเหมาะสมกับความต้องการท้องถิ่น
ทั้งนี้ในประเทศไทย มี 3 พื้นที่ศึกษาได้แก่ (1)โครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชน ต.ห้วยแร้ง อ.เมือง จ.ตราด (2)โครงการผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ชุมชน ต.ดงบัง อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี (3)โครงการผ้าย้อมครามชุมชน ต.กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร และ สพภ.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือ ซึ่งภายหลังจบโครงการ หน่วยงานต่างๆก็จะยังคงช่วยสนับสนุนจนกว่าโครงการของชุมชนท้องถิ่น จะสามารถดำเนินงานได้ด้วยตนเอง
คณะทำงานยังร่วมมือกับศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ประเมินผลการดำเนินงานเบื้องต้นโดย ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่าภาพรวมพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่อยากจะให้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพระดับชุมชนดำเนินต่อไป เพราะช่วยเพิ่มรายได้และเป็นการประกอบธุรกิจเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยชาวบ้านกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ชุมชน จ.ตราด ส่วนใหญ่เห็นว่าลำห้วยมีความสมบูรณ์ยามค่ำคืนมีหิ่งห้อยมากมาย อากาศดี ปลอดมลพิษ
“ชาวบ้านส่วนใหญ่อยากให้โครงการพัฒนาต่างๆที่ลงพื้นที่ ต.ห้วยแร้ง คำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ ต้องการการพัฒนาที่ทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้อยากให้มีการสอนภาษาอังกฤษให้เพื่อเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ” ดร.นพดล กล่าว
สำหรับโครงการผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ชุมชน ปราจีนบุรี ชาวบ้านส่วนใหญ่พอใจที่ช่วยเพิ่มรายได้ซึ่งเป็นการทำธุรกิจชุมชนโดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาทำเป็นสินค้าชุมชน เช่น เครื่องจักสาน ถ่านไม้ไผ่ สบู่ และผลิตภัณฑ์ดับกลิ่น ชาวบ้านส่วนใหญ่มองว่าการประชาสัมพันธ์และเป้าหมายของโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนชัดเจนเข้าใจง่ายเป็นรูปธรรม แต่ต้องการความช่วยเหลือด้านการตลาด ช่องทางจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพราะที่ผ่านมารัฐนำงบมาให้ผลิตแต่ไม่มีการช่วยเหลือด้านตลาด ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตออกมาขายไม่ออก และชาวบ้านบางส่วนไม่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ยังอยากให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะมีป่าไม้ไผ่ชุมชนบ้านโนนหินผึ้งเป็นแหล่งปลูกพืชสมุนไพร และมีอุทยานธรรมชาติเพื่อการเรียนรู้
ส่วนโครงการย้อมผ้าครามในพื้นที่สกลนคร ก็พบว่า ชาวบ้านต้องการให้ดำเนินการต่อไป เพราะหลังเข้าร่วมโครางการรายได้สูงขึ้น
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวอีกว่า ผลการประเมินเบื้องต้นพบว่าโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของ สพภ. เป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมเพราะเป็นไปตามหลักการพัฒนาประเทศที่เพิ่มความสุขให้ชาวบ้านและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน .
ที่มาภาพ : http://www.osotho.com/th/content/indexdetail.php?ContentID=1339&myGroupID=10