จำนำข้าว ป่วนตลาดส่งออก ต้นทุนพุ่งพ่ายคู่แข่ง
เอกชนประเมิณตลาดส่งออกข้าว เหลือแค่ 6.5 ล้านตัน โวยนโยบายจำนำทำต้นทุนสูงเกินกลไกตลาด ถูกอินเดีย-เวียดนาม แซงหน้า จี้รัฐทบทวน
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมประเมินการส่งออกข้าวปี 2555 ว่า จะเหลือเพียง 6.5 ล้านตัน ในกรณีเลวร้ายที่สุด ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 ถึง 38.1% จากปริมาณ 10.5 ล้านตัน โดยการส่งออกข้าวแต่ละชนิด แบ่งเป็นข้าวขาวปริมาณ 3 ล้านตัน ลดลง 32% ข้าวนึ่ง 1 ล้านตัน ลดลง 70.8% ข้าวหอมมะลิ 2 ล้านตัน ลดลง 9.9% อื่นๆ 0.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.7%
อย่างไรก็ตาม การประเมินของกระทรวงเกษตรสหรัฐ คาดว่าไทยจะส่งออกได้ในปีนี้ปริมาณ 7 ล้านตัน
สาเหตุที่ทำให้ปริมาณส่งออกข้าวของไทยลดลง มาจากการส่งออกข้าวของอินเดีย ที่คาดว่าจะอนุญาตให้เอกชนส่งออกข้าวได้ต่อเนื่อง หลังจากที่ได้อนุมัติให้ส่งออกก่อนหน้านี้แล้ว 2 ล้านตัน นางสาวกอบสุขระบุ
นอกจากนี้ เวียดนามยังหันมาทำตลาดข้าวหอมมะลิ โดยกำหนดเป้าหมายส่งออกเพิ่มเป็น 8 แสนตัน จากก่อนหน้านี้ ส่งออกเพียง 4 แสนตัน ส่วนกัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตันในปี 2558 บราซิลและอุรุกวัย เข้ามาทำตลาดข้าวนึ่ง มีเป้าหมายตลาดที่แอฟริกาเช่นเดียวกับไทย ขณะที่พม่าเริ่มผลิตข้าวนึ่งและส่งออกไปรัสเซียแล้ว เช่นเดียวกับปากีสถาน ที่ตั้งเป้าส่งออกเพิ่มขึ้นหลังจากที่ผลผลิตในประเทศมีส่วนเกินอยู่
ชี้นโยบายจำนำทำตลาดข้าวพัง
ส่วนมูลค่าการส่งออกข้าวปี 2555 คาดว่าจะลดลงเช่นกัน ซึ่งโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 ไม่ได้ทำให้ราคาข้าวสูงได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ของสมาคมเป็นการประเมินจากการส่งออกข้าวในส่วนเอกชนเท่านั้น ไม่รวมการระบายสต็อกของรัฐบาล หรือการขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และเป็นการประเมินในกรณีที่เลวร้ายที่สุด
ก่อนหน้านี้ ที่ไทยส่งออกข้าวได้ราคา 500-600 ดอลลาร์ต่อตัน เป็นกรณีเฉพาะที่นำมาเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้ หากเดินหน้านโยบายเช่นนี้ต่อไป ไทยจะเสียตลาดส่งออกมากขึ้น และอยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างโปร่งใสในเรื่องการระบายข้าว ซึ่งสมาคมได้ทำหนังสือเข้าไปหารือกับรัฐบาลแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด นางกอบสุขกล่าว
วอนรัฐทบทวนนโยบายด่วน
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออกอยากให้รัฐบาลทบทวนการดูแลราคาข้าวในประเทศ ซึ่งอาจเปลี่ยนมาใช้โครงการประกันรายได้แทน โดยกำหนดรายได้ที่ต้องการให้ชาวนาได้รับ และชดเชยส่วนต่างให้ชาวนาเทียบกับราคาตลาด เพราะเป็นวิธีที่ไม่ทำลายกลไกตลาด และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ตลาดโลกเปลี่ยนไปแล้ว หากรัฐบาลยังคงนโยบายรับจำนำต่อไป ยอดการส่งออกของไทยจะลดลงไปอีก
หากประเมินราคารับจำนำเทียบกับราคาส่งออก ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 1.5 หมื่นบาท คิดเป็นราคาส่งออก (เอฟโอบี) ตันละ 800 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบันราคาตลาดเฉลี่ยสูงกว่าตันละ 500 ดอลลาร์เล็กน้อย ไทยก็เสียส่วนแบ่งตลาดไปจำนวนมากแล้ว เพราะข้าวของประเทศคู่แข่ง อย่างเวียดนามและอินเดีย มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 400 ดอลลาร์เท่านั้น หากยังเดินหน้าผลักดันราคาข้าวให้สูงต่อไป ก็จะทำให้การส่งออกข้าวได้รับความเสียหายมากขึ้น เพราะผู้ส่งออกจะขายข้าวไม่ได้
ไทยเป็นผู้ปลูกข้าวแค่ 7% ของโลก แม้จะเป็นผู้ขายที่ติด 1 ใน 3 ของโลก จะเห็นว่าไทยไม่สามารถกำหนดราคาตลาด ควบคุมตลาดได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือให้ตลาดเดินได้ ดังนั้น รัฐบาลควรทบทวนนโยบายรับจำนำข้าวเสียใหม่ นายชูเกียรติกล่าว
เวียดนามชิงตลาดหอมมะลิ
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ อุปนายกสมาคม และประธานบริษัทอุทัย โปรดิวส์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 1,000 ดอลลาร์ เป็นราคาที่สูงกว่าคู่แข่งมาก และหากทำให้ราคาเป็นไปตามสัดส่วนโครงการรับจำนำ ก็จะมีราคาอยู่ที่ตันละ 1.3 พันดอลลาร์ เทียบกับเวียดนามที่ตันละ 700 ดอลลาร์
เมื่อปี 2554 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิ ที่ตลาดฮ่องกง ลดลงจาก 85% เหลือ 50% ส่วนใหญ่สูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับเวียดนาม ที่หันมาเป็นผู้ผลิตและผู้ค้าข้าวหอมมะลิเองมากขึ้น โดยกว้านซื้อจากกัมพูชา ขณะที่ตลาดสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณลดลง โดยขณะนี้ ส่งออกได้ ไม่ถึง 3 แสนตัน เทียบกับปีก่อนที่ส่งออกมากกว่า 3.5 แสนตัน หรือลดลง 18.3% มาอยู่ที่ 2.9 แสนตันเท่านั้น
ทิศทางตลาดในขณะนี้ ราคาอยู่ในระดับไม่สูง ข้าวที่รัฐบาลเก็บไว้ จะยิ่งทำให้การส่งออกข้าวยากขึ้น หากรัฐบาลระบายข้าว ก็จะขาดทุนมหาศาลไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท แม้ว่าก่อนหน้านี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ จะประกาศไม่ขายข้าวต่ำกว่าต้นทุนก็ตาม นายเจริญกล่าว
ส่วนนายวรพงษ์ พิชญ์พงศา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด กล่าวว่า ปัญหาของรัฐบาลขณะนี้ คือ รัฐเป็นผู้เก็บข้าวไว้ทั้งหมด แต่รัฐบาลขายไม่ให้ขาดทุนก็เพียงพอแล้ว ถือเป็นการวัดความสามารถของรัฐบาลที่จะทำอย่างไร ไม่ให้ต้องขายข้าวต่ำกว่าต้นทุนที่รับซื้อมา
กิตติรัตน์เมินทบทวนเชื่อตลาดมุ่งมาไทย
ทางด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ยืนยันว่า รัฐบาลจะไม่ทบทวนนโยบายโครงการรับจำนำข้าว เพราะมั่นใจว่าสถานการณ์ตลาดข้าวโลก ขึ้นอยู่กับการจัดหา และความต้องการที่มีอยู่ ไม่ได้ทิ้งห่างกันมาก ทำให้ความต้องการตลาดข้าวของไทย จะยังมีอยู่
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยน้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตหายไปจากตลาดจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นการย้ำว่าไทยมีอำนาจต่อรองอยู่ และมั่นใจคุณภาพข้าวของไทยที่สอดรับกับราคา ทำให้ไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าคู่แข่งจะขายข้าวออกไปก่อนปริมาณเท่าใด เพราะในที่สุดแล้ว ตลาดต้องหันมาซื้อข้าวของไทย เพื่อป้อนปริมาณความต้องการที่ยังเหลืออยู่
ส่วนการพิจารณาเปิดโครงการรับจำนำนาปรังปี 2555 ต่อไปหรือไม่นั้น นายกิตติรัตน์ขอไม่แสดงความเห็นก่อนคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จะรอหารือในที่ประชุมก่อน เช่นเดียวกับการคาดการณ์ปริมาณส่งออกข้าวของปีนี้ เชื่อว่าจะไม่ต่ำถึง 6.5 ล้านตันอย่างแน่นอน และไม่เชื่อว่าการส่งออกข้าวของอินเดีย จะทำให้การส่งออกข้าวของไทยได้รับผลกระทบ
อุปสงค์ อุปทานตลาดข้าวของโลกมันมีอยู่พอๆ กัน ความต้องการกับจำนวนขายที่ไม่ต่างกันมาก และซ้ำยังมีปัญหาน้ำท่วมทำให้ข้าวหายไปอีก ตอนนี้เอกชนยังไม่รู้อำนาจต่อรองของตัวเองอีก เรามั่นใจคุณภาพข้าวของเรา ใครขายไปก่อน ขายราคาเท่าใดก็ช่างแต่สุดท้ายไทยจะขายได้ในราคาที่เหมาะสมอย่างแน่นอน นายกิตติรัตน์กล่าว
ชี้ 2 ปัจจัยฉุดตลาดข้าวนิ่ง
นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์การค้าข้าวขณะนี้ตลาดเงียบมาก เกิดจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ ผู้ส่งออกไม่กล้ารับออเดอร์ เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงจากการรับจำนำเกรงว่ารับแล้วไม่สามารถจัดหาข้าวเพื่อส่งมอบได้ และผู้บริโภคกักตุนข้าวไว้เป็นปริมาณมากในช่วงวิกฤติน้ำท่วม เพราะเกรงว่าจะเกิดการขาดแคลน ซึ่งสต็อกในครัวเรือนส่วนนี้ คาดว่าจะบริโภคหมดภายในสิ้นเดือน ก.พ.
ผู้ส่งออกไม่กล้ารับเพราะราคาสูงแข่งไม่ได้ สต็อกครัวเรือนก็มาก ตลาดข้าวจึงไม่เคลื่อนไหว ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ จะเลวร้ายหนักกว่าเดิม เพราะ มี.ค.-เม.ย.นี้ข้าวนาปรังจะเข้าสู่ตลาดอีกและข้าวนาปรังเพื่อชดเชยนาปีจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางจะมากขึ้น มีการประมาณการเพาะปลูกไปที่ 16 ล้านไร่ เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐก็จะแบกสต็อกเยอะ ขาดทุนก็เยอะมากขึ้น นายนิพนธ์กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวว่า รัฐบาลควรกระตุ้นตลาดด้วยการระบายข้าวให้ผู้ส่งออก แต่ต้องกระจายให้ผู้ส่งออกหลายราย เพื่อให้ผู้ส่งออกซื้อข้าวเก่าจากสต็อกรัฐจำนวนหนึ่ง และให้ไปไล่ซื้อข้าวใหม่ในท้องตลาด เพื่อนำไปผสมส่งออกให้กับลูกค้า
ตีโจทย์ผิดแบกสต็อกไปปีหน้า 8 ล้านตัน
กระทรวงพาณิชย์ตีโจทย์ผิด อย่าไปฝันจะขายได้ราคาจำนำที่ 800 ดอลลาร์ต่อตัน ต้องอยู่กับความจริงบ้าง ประมาณการผลผลิตก็บอกชัด ผลผลิตข้าวโลกเพิ่ม อินโดนีเซียก็ดี เวียดนามก็ดี แล้วปริมาณค้าข้าวโลกก็ลดลงจากปี 2553/2554 เศรษฐกิจโลกก็แย่กำลังซื้อหด แล้วราคาข้าวจะดี จะแพงขึ้นได้อย่างไร ข้อมูลที่ใช้ประมาณการผิดทั้งหมด นายนิพนธ์กล่าว
นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย ยังแสดงความกังวลต่อการบริหารข้าวของไทย และเห็นว่า ปีนี้ไทยอาจเสียแชมป์ส่งออกให้กับเวียดนาม ที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นและตั้งเป้าส่งออกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเวียดนามจะส่งออกได้ประมาณ 7.8 ล้านตันในปีนี้
ปีนี้การส่งออกลดลง และเวียดนามมีโอกาสแซงหน้า แต่ปีหน้าจะหนักกว่านี้เพราะข้าวขายไม่ออก รัฐจะแบกโอเวอร์สต็อกข้าวปีไปยังปีหน้าประมาณ 8 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งสต็อกจะกดทับราคาหนักยิ่งกว่าปีนี้ ถึงตรงนั้นจะดูไม่จืด และเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 100 ปีที่ไทยจะแบกสต็อกมากขนาดนี้ ถ้ารัฐบาลยังไม่ทบทวนแนวคิดในการบริหารจัดการข้าว นายนิพนธ์กล่าว