เปิดข้อสังเกตศาลปกครอง 2 ฉบับ ที่มีต่อร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
การมองเพียงมุมเดียวว่า การใช้สิทธิจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า แล้วไปจำกัดสิทธิประชาชนในการฟ้องคดีต่อศาล กลับตัดโอกาสของประชาชนในการตรวจสอบฝ่ายปกครอง ศาลปกครองได้ดำเนินนโยบายเร่งรัดจัดการคดีให้มีความรวดเร็วขึ้นในทุกด้านอยู่แล้ว ความกังวลขั้นตอนการพิจารณาคดีศาลเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความล่าช้า และจะกระทบกระเทือนต่อบริการสาธารณะนั้น จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาอีกต่อไป
ศาลปกครอง ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ติดตามร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. … เหตุเพราะเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของศาลปกครองที่เกี่ยวกับการพัสดุและสัญญาทางปกครอง
จนกระทั่ง ร่างพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ศาลปกครองได้พบสิ่งที่น่ากังวลใจหลายประการ แม้ต่อมาจะขอเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ เพื่อแสดงข้อกังวลของศาลปกครอง แต่ได้ถูกปฏิเสธ
นี่จึงเป็นที่มา หนังสือข้อสังเกตต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว 2 ฉบับ ลงนามโดยนายปิยะ ปะตังหา ประธานศาลปกครองสูงสุด
5 สิงหาคม 2559
เรื่อง ข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ......
ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักงานศาลปกครองได้ขออนุญาตให้ผู้แทนศาลปกครอง (นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และนายประสาท พงษ์สุวรรณ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด) เข้าร่วมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... เกี่ยวกับผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ..... ซึ่งสำนักงานศาลปกครองได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ วุฒิสภาให้จัดทำข้อสังเกตเป็นหนังสือมายังท่านเพื่อประกอบการพิจารณาใน เบื้องต้นความละเอียดทราบแล้วนั้น
ศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลาการที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานของรัฐได้ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... แล้ว เห็นพ้องด้วยในหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับกรณีการประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างตาม ร่างมาตรา 67 วรรคสอง การห้ามอุทธรณ์การประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างตามร่างมาตรา 113(2) และกลไกการระงับข้อพิพาทในคดีการจัดซ้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐตาม ร่างมาตรา 117 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวนั้นมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ศาลปกครองจึงขอเสนอข้อสังเกต ดังต่อไปนี้
1. ร่างมาตรา 67 วรรคสอง ที่บัญญัติให้อำนาจแก่หน่วยงานของรัฐในการประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น ศาลปกครองเห็นพ้องด้วยว่า การประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครองที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม การประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวถือว่า เป็นการใช้อำนาจทางปกครองใน การออกคำสั่งทางปกครองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายและเข้าข่ายเป็นการกระทำละเมิดต่อเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างได้ซึ่งโดยหลักนิติรัฐ เอกชนผู้ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือการออกคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐได้การกำจัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอำนาจบทบัญญัติของกฎหมายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
ดังนั้น การที่บทบัญญัติในวรรคสองของร่างมาตรา 67 ที่บัญญัติว่า “การยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างตามวรรคหนึ่ง...ผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกยกเลิกนั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากหน่วยงานของรัฐไม่ได้” จึงเป็นการบัญญัติกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ในการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำของฝ่ายปกครอง
2. ร่างมาตรา 113(2) ซึ่งมีเนื้อหาที่บัญญัติให้การยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างตามร่างมาตรา 67 ไม่สามารถอุทธรณ์ได้นั้น ยังอาจพิจารณาได้ว่าร่างมาตรานี้ประสงค์จะห้ามมิให้ฟ้องคดีเพื่อขอเพิกถอน การประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นว่านั้น ย่อมถือเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของบุคคลในการฟ้องคดีเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน
3. ร่างมาตรา 117 วรรคห้า ที่บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ซึ่งไม่พอใจคำวินิจฉัยหรือการยุติเรื่องของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สามารถใช้สิทธิทางศาลได้เฉพาะการฟ้องขอให้หน่วยงานขอ รัฐชดใช้ค่าเสียหายนั้น ศาลปกครองเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลปกครองตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของผลการคัดเลือกผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น หากร่างมาตรา 117 วรรคห้า บัญญัติไว้เพื่อจำกัดสิทธิการฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนผลการคัดเลือกผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้าง ย่อมขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไป
ในการนี้ ศาลปกครองขอชี้แจงเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมว่า การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในปัจจุบัน แม้ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีดังกล่าว แต่คำพิพากษาของศาลปกครองก็หาได้มีผลกระทบต่อสัญญาที่ได้มีการจัดทำขึ้นแล้วแต่อย่างใด
อนึ่ง การจัดตั้งศาลปกครองมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนพร้อมๆ กับการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ โดยศาลปกครองจะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองและมีอำนาจสั่ง เพิกถอนการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะช่วยระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขภายหลัง
สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุนั้น ศาลปกครองเป็นองค์กรที่สามารถตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายที่มีมูลค่าสูงแก่รัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องหากในภายหลังมีการจัดทำสัญญากันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ การกำหนดให้ศาลปกครองตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่เริ่มกระบวนการยังเป็นขั้นตอนที่สามารถจำกัดขอบเขตความรับผิดของเจ้าหน้าที่ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ เพราะหากตรวจสอบพบความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในภายหลังแล้วเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุอาจถูกร้องเรียนว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งอาจถูกดำเนินคดีอาญาเป็นความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ และแม้เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวจะปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตก็ตาม แต่หากปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ผู้นั้นก็อาจต้องรับผิดทางละเมิดและทางวินัย
ศาลปกครองจึงขอส่งข้อสังเกตดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจำทำบริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็ยังคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รักษาระบบกฎหมายและระบบศาลของประเทศภายใต้หลักนิติรัฐตามรัฐธรรมนูญในการนี้ศาลปกครองได้มีหนังสือแจ้งข้อสังเกตดังกล่าวไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอธิบดีกรมบัญชีกลางด้วยแล้ว
ล่าสุด วันที่ 15 กันยายน 2559 นายปิยะ ปะตังหา ประธานศาลปกครองสูงสุด ส่งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. … อีกครั้ง
ใจความในหนังสือระบุ
ตามหนังสือที่อ้างอิง (1) ศาลปกครองได้ส่งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. … ไปยังประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. … และตามหนังสือที่อ้างอิงถึง (2) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. … ได้เชิญผู้แทนศาลปกครอง (นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และนายประสาท พงษ์สุวรรณ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด) เข้าร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. … ในวันพฤหัสบดี ที่ 1 กันยายน 2559 เวลา 13.30 นาฬิกา
หลังจากรับฟังการชี้แจงของผู้แทนศาลปกครอง และความเห็นของคณะกรรมาธิการผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายโกมล จิรชัยสุทธิกุล) ประธานคณะกรรมาธิการ ฯ ได้แจ้งให้ทราบว่า จะนำความคิดเห็นของศาลปกครองไปพิจารณาประกอบเมื่อถึงมาตราเกี่ยวข้อง และหากศาลปกครองจะมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเป็นประการใด ก็ขอให้ส่งข้อสังเกตมายังคณะกรรมาธิการ ฯ ในภายหลังได้นั้น
ศาลปกครองขอเรียนว่า ศาลปกครองเห็นพ้องด้วยในหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. … ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกรอบการปฏิบัติงานของหน่วยงานของภาครัฐจากหลักธรรมาภิบาล โดยมุ่งเน้นความโปร่งใส เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการป้องกันปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อย่างไรก็ดี ศาลปกครองขอเรียนยืนยันข้อสังเกตอีกครั้งหนึ่ง โดยมีประเด็นที่จะต้องพิจารณา 4 ประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 เรื่องขอบเขตการใช้บังคับกฎหมาย
ศาลปกครองเห็นว่า ขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายฉบับนี้ตามคำนิยาม “หน่วยงานของรัฐ” ตามร่างมาตรา 4 ให้ครอบคลุมถึงหน่วยงานธุรการของศาล มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานสังกัดรัฐสภาหรือในกำกับของรัฐสภา หน่วยงานอิสระของรัฐ ราชการส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมหน่วยงานดังกล่าวสามารถออกระเบียบเกี่ยวกับการพัสดุได้ด้วยตนเอง การบัญญัติให้อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ โดยเฉพาะภายใต้อำนาจของคณะกรรมการรวม 5 ชุด ซึ่งประกอบไปด้วยราชการส่วนกลางทั้งสิ้น จึงกระทบต่อความเป็นอิสระและความคล่องตัวขององค์กรต่าง ๆ ดังกล่าว และอาจกระทบต่อหลักความเป็นอิสระตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่าน่าจะเขียนกฎหมายให้ใช้กับราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่น และให้หน่วยงานอื่นของรัฐสามารถออกระเบียบเกี่ยวกับการพัสดุได้ด้วยตนเอง โดยมิต้องมีหลักเกณฑ์ที่มีหลักประกันใด ๆ ตามที่บัญญัติในกฎหมายนี้
ในประเด็นนี้ศาลปกครองจึงขอเสนอให้ตัดส่วนที่กล่าวถึงหน่วยงานธุรการของศาลออกจากนิยาม “หน่วยงานของรัฐ” และไม่เห็นพ้องด้วยหากจะแก้ไขเพียงเพิ่มเติมข้อยกเว้นให้ออกระเบียบใช้เองไว้ในร่างมาตรา 6 เนื่องจากยังอยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการกำกับนโยบายการจัดการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
ประเด็นที่ 2 กรณีมาตรา 67 วรรคสอง แห่งร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …
ศาลปกครองเห็นว่า ร่างมาตรา 67 วรรคสอง ที่บัญญัติให้อำนาจแก่หน่วยงานของรัฐในการประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยถือเป็นเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครองที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมายนั้น ศาลปกครองเห็นด้วยในหลักการ แต่การที่ร่างมาตรา 67 วรรคหนึ่ง(1) ถึง (4) กำหนดเหตุที่ใช้เพื่อยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างไว้เพียง 4 อนุมาตรา จะทำให้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองที่จะใช้เอกสิทธิ์เพื่อยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างจำกัดและไม่มีความยืดหยุ่น
การยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจการปกครองในการออกคำสั่งทางปกครองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายและเข้าข่ายเป็นการกระทำละเมิดต่อเอกชนผู้ยื่นข้องเสนอในการจัดซื้อจัดจ้าง และเอกชนผู้ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือการออกคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานรัฐได้ การจำกัดสิทธิของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองจะกระทำมิได้
ดังนั้น การที่บทบัญญัติในวรรคสองของร่างมาตรา 67 ที่บัญญัติว่า “การยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างตามวรรคหนึ่ง … ผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกยกเลิกนั้น จะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากหน่วยงานของรัฐไม่ได้ ” จึงเป็นการบัญญัติกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจาการกระทำของฝ่ายปกครอง
และที่กรรมาธิการผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า เป็นการห้ามมิให้เรียกร้องค่าเสียหายเพราะกรณีดังกล่าวเป็นความผิดของผู้ที่เข้ายื่นข้อเสนอเองนั้น ก็เห็นว่า ไม่ใช่ทุกอนุมาตราที่เป็นกรณีดังกล่าว และถึงอย่างไรก็ตาม ก็เป็นกรณีที่ศาลปกครองจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า มีการกระทำละเมิดของหน่วยงานของรัฐหรือไม่ และต้องชำระค่าเสียหายหรือไม่ กรณีจึงไม่อาจเขียนเป็นบทบัญญัติที่ตัดสิทธิไว้อย่างเด็ดขาดตามที่ปรากฏในร่างมาตรา 67 วรรคสองได้
นอกจากนี้ หากมีพิจารณาถ้อยคำในวรรคสองของร่างมาตรา 67 อาจแปลความได้ว่าเฉพาะหน่วยงานของรัฐเท่านั้นที่ไม่จำเป็นต้องรับผิด แต่หากเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่กระทำหรืองดเว้นกระทำการใดในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และกระทำหรืองดเว้นกระทำการนั้นเป็นกรณีที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวและเมื่อกฎหมายไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐต่อศาลปกครองได้ ก็จะทำให้ประชาชนมุ่งไปใช้สิทธิในทางแพ่งหรือทางอาญาเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟ้องคดีอาญา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติติหน้าที่โดยตรงของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ศาลปกครองจึงเห็นว่า มาตรานี้ควรเขียนแต่เพียงว่าการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเอกสิทธิ์ของหน่วยงานของรัฐที่จะต้องกระทำอย่างรอบคอบและชอบด้วยกฎหมาย ส่วนค่าเสียหายจะเป็นกรณีที่ศาลเป็นผู้พิจารณาว่าจะต้องมีการชดใช้หรือไม่ ซึ่งตามรูปเรื่องไม่อาจยกเว้นความรับผิดเป็นการทั่วไปได้
ประเด็นที่ 3 กรณีมาตรา 113 วรรคหนึ่ง (2) แห่งร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ…
ศาลปกครองขอเรียนว่า การบัญญัติให้การยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างตามร่างมาตรา 67 เป็นเรื่องที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้ตามร่างมาตรา 113 วรรคหนึ่ง (2) นั้น อาจพิจารณาได้ว่าร่างมาตรานี้ประสงค์จะห้ามมิให้ฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนการประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นว่านั้นย่อมถือเป็นบทบัญญัติที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของประชาชนในการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองด้วยเช่นกัน
ซึ่งกรณีนี้ กรรมาธิการผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงว่า แม้กฎหมายจะกำหนดห้ามการอุทธรณ์ดังกล่าวก็ไม่มีผลเป็นการห้ามมิให้มีการฟ้องเพิกถอนการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง ศาลปกครองจึงไม่ขัดข้องที่จะคงร่างมาตรา 113 วรรคหนึ่ง (2) นี้ไว้ แต่ขอให้มีการบันทึกความเห็นของกรรมาธิการฯ ไว้เป็นหลักฐานเพื่อประกอบการใช้กฎหมายฉบับนี้ต่อไป
ประเด็นที่ 4 กรณีมาตรา 117 วรรคห้า แห่งร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ...
ศาลปกครองขอเรียนว่า ร่างมาตรา 117 วรรคห้า ที่บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ซึ่งไม่พอใจคำวินิจฉัยหรือการยุติเรื่องของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สามารถใช้สิทธิทางศาลได้เฉพาะการฟ้องขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าเสียหายนั้น เป็นบทบัญญัติทีมีเนื้อหาเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลปกครองตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการคัดเลือกผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้าง
บทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นการจำกัดสิทธิการฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนผลการคัดเลือกผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไป และหากพิจารณาร่างดังกล่าวแล้ว ยังเห็นว่า เป็นการจำกัดสิทธิฟ้องกรณีอื่นนอกจากการฟ้องเรียกค่าเสียหาย
อย่างไรก็ดี จากคำชี้แจงของกรรมาธิการผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งชี้แจงว่าแม้กฏหมายจะกำหนดแต่เพียงให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องให้หน่วยงานทางปกครองชดใช้ค่าเสียหาย ก็มิได้ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องเพิกถอนคำสั่งตัดสินการจัดซื้อจัดจ้างหรือคำสั่งที่ไม่ชอบของหน่วยงานในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ตามปกติ ศาลปกครองจึงขอให้มีการบันทึกความเห็นของกรรมาธิการฯ เช่นว่านั้นไว้เป็นหลักฐาน เพราะเมื่อพิจารณาจากวรรคห้าดังกล่าวยังน่าจะตีความว่าเป็นบทบัญญัติตัดสิทธิ
ในการนี้ ศาลปกครองขอเรียนเป็นข้อมูลเพิ่มเติมว่า การฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในปัจจุบัน แม้ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการตัดสินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คำพิพากษาของศาลปกครองก็หาได้มีผลกระทบต่อสัญญาที่ได้มีการจัดทำขึ้นแล้วแต่อย่างใด
ศาลปกครองจึงเห็นควรให้ตัดบทบัญญัติของร่างมาตรา 117 วรรคห้าออก
อนึ่ง การจัดตั้งศาลปกครองมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนพร้อม ๆ กับการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยศาลปกครองจะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองและมีอำนาจสั่งเพิกถอนการกระทำที่ไม่ชอบกฎหมาย ซึ่งช่วยป้องกันมิให้เกิดความเสียหายที่มูลค่าสูงแก่รัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ อีกทั้งหากเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปโดยชอบด้วยกฎหมายแลว ศาลปกครองจะเป็นผู้รับรองความชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว เพื่อเป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่จากการถูกฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาต่อไป
ดังนั้น การมองเพียงมุมเดียวว่า การใช้สิทธิดังกล่าวจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า แล้วไปจำกัดสิทธิของประชาชนในการฟ้องคดีต่อศาลกลับจะมีผลเป็นการตัดโอกาสของประชาชนในการตรวจสอบฝ่ายปกครองนั้น ศาลปกครองได้ดำเนินนโยบายเร่งรัดจัดการคดีให้มีความรวดเร็วขึ้นในทุกด้านอยู่แล้ว ความกังวลว่าขั้นตอนการพิจารณาคดีศาลเพิ่มขึ้นมาจะทำให้เกิดความล่าช้าและจะกระทบกระเทือนต่อบริการสาธารณะนั้น จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาอีกต่อไป
ทั้งนี้ ศาลปกครอง ไม่ได้เป็นหน่วยงานเดียวที่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ข้อมูลจากนายบุญทิพย์ ชูโชคนาค ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ระบุว่า มีถึง 14 หน่วยงานที่เสนอความคิดเห็นเข้ามา จาก 63 หน่วยงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นักนิติศาสตร์จี้รัฐถอนร่างกม.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ้นสนช. หวั่นทำปท.ถอยหลังไปยุคจอมพลสฤษดิ์