ก.เกษตรนัดถกมหาดไทย เตรียมแก้ กม.เจ้าของที่เอาเปรียบชาวนา
กษ.ขานรับนายกฯ ถก มท.-สปก.-สศก.-สมาคมชาวนา แก้ปัญหานายทุนที่ดินขึ้นค่าเช่าหลังชาวนารับเงินประกันรายได้ ระบุส่วนใหญ่สัญญาผิด กม.จึงโดนเอาเปรียบ เตรียมแก้กฎหมายอายุเช่า อัตราค่าเช่า ให้สอดคล้องกับราคาข้าวปัจจุบัน
วันที่ 30 ก.ย.53 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระวงศ์สมุทรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ(รมว.กษ.) เปิดเผยถึงประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรผู้เช่านากรณีเจ้าของที่ปรับเพิ่มค่าเช่าภายหลังที่เกษตรกรได้รับเงินประกันรายได้ จึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ประสานกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯได้สำรวจข้อมูลพบว่า การเช่าส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ไม่มีการทำสัญญาเช่าถูกกฎหมาย หรือสัญญาเช่าไม่สมบูรณ์ มีการเลี่ยงโดยทำเป็นการจ้างดูแลนา ไม่ระบุอัตราค่าเช่า จำนวนปีที่เช่า โดยขนาดเช่านาจะอยู่ระหว่าง 10-60 ไร่ต่อครอบครัว ส่วนราคาค่าเช่าจะขึ้นอยู่กับราคาข้าวเป็นหลัก ส่งผลให้เกษตรกรต้องยอมรับข้อกำหนดต่างๆ จากผู้ให้เช่าและเกิดความเสียเปรียบ ทั้งนี้ผู้ให้เช่าแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ นายทุนใหญ่, นายทุนขนาดกลาง และเจ้าของนาในพื้นที่
สำหรับข้อมูลตัวอย่างอัตราค่าเช่านาปัจจุบัน พบว่า ค่าเช่านาในจังหวัดอ่างทอง สุพรรณบุรี และพิจิตร ที่คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คชก.) กำหนดเป็น 1,218 บาท 1,500 บาท และ 1,000 บาทต่อไร่ต่อฤดูกาล ตามลำดับ ขณะที่อัตราค่าเช่าที่ดินที่เกษตรกรจ่ายจริง คือ 870 – 1,740 บาท 1,305 – 1,740 บาท 1,000 – 2,000 บาทบาทต่อไร่ต่อฤดูกาล ตามลำดับ
นายธีระ กล่าวต่อไปว่า ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ซึ่งมีบทบัญญัติเพื่อควบคุมการเช่าให้เกิดความเป็นธรรมครอบคลุมถึงการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทุกชนิด และมี คชก.ทั้งระดับจังหวัดและตำบล ตนได้มอบหมายให้ นายชวลิตชูขจร รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ประสานงานเชิญผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทยมาร่วมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นฝ่ายเลขานุการ
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการร่วมตาม พ.ร.บ.นี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวง เพื่อให้การปฏิบัติงานตามพ.ร.บ.การเช่าที่ดินฯ เกิดความเหมาะสมและแก้ไขปัญหาการเช่าที่นาให้แก่เกษตรกรได้อย่างแท้จริง
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เช่าและผู้ให้เช่า รมว.กษ.กล่าวว่าเบื้องต้นให้ดำเนินการ 4 มาตรการหลัก คือ 1.กำชับผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คชก.ระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และ คชก.ระดับตำบล ซึ่งมีกำนันเป็นประธาน มีการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินฯอย่างเคร่งครัดและตรวจสอบการทำสัญญาเช่าอย่างถูกต้อง2.รณรงค์ส่งเสริมเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายเช่านาให้เกษตรกร โดยเน้นพื้นที่ที่มีการเช่านามาก เช่น ในเขตชลประทานภาคเหนือตอนล่าง และในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3.ให้มีการศึกษาอัตราค่าเช่านาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่โดยมีการตกลงร่วมกันระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า และ 4.แก้ไขกฎหมายอายุสัญญาเช่าที่นาให้มีความเหมาะสมและแก้ไขกฎหมายการกำหนดค่าเช่านา เพื่อให้สอดคล้องกับราคาข้าวในตลาดของแต่ละปีปัจจุบัน
นายธีระ กล่าวทิ้งท้ายว่า กษ.จะมีการประชุมร่วมกับกระทรวงมหาดไทยถึงมาตรการข้างต้น โดยขณะนี้ได้ทำหนังสือเรียนเชิญปลัดกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมชาวนา สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เข้าร่วมประชุมในวันศุกร์ที่ 3 ธ.ค. เวลา 13.00 น. เพื่อหารือประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นจะสรุปผลการแก้ไขปัญหา เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป.