ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
วันที่ 13 กันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
2. มอบหมายสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำกราบบังคมทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2564
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2559 โดย สศช. ได้จัดทำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2539) โดยหลักการสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ประกอบด้วย (1) ยึดหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” (2) ยึด “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” (3) ยึด “วิสัยทัศน์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” มาเป็นกรอบของวิสัยทัศน์ประเทศไทยในแผนพํฒนาฯ ฉบับที่ 12 (4) ยึด “เป้าหมายอนาคตประเทศไทยปี 2579” เป็นกรอบการกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุใน 5 ปีแรก และเป้าหมายในระดับย่อยลงมา ควบคู่กับกรอบเป้าหมายที่ยั่งยืน และ (5) ยึดหลักการนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจังใน 5 ปี
วัตถุประสงค์และเป้าหมายการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ประกอบด้วย (1) เพื่อวางรากฐานให้คนไทยเป็นคนมีสุขภาวะและสุขภาพที่ดี ตลอดจนเป็นคนเก่งที่มีทักษะความรู้ความสามารถและพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (2) เพื่อให้คนไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ผู้ด้อยโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ (3) เพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง แข่งขันได้ มีเสถียรภาพ และมีความยั่งยืน (4) เพื่อรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ (5) เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีการทำงานเชิงบูรณาการ (6) เพื่อให้มีการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และ (7) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายรวม ประกอบด้วย (1) คนไทยมีคุณลักษณะเป็นคนไทยที่สมบูรณ์ (2) ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความยากจนลดลง (3) ระบบเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ (4) ทุนทางธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมสามารถสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (5) มีความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตยและเพิ่มความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อประเทศไทย และ (6) มีระบบบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ กระจายอำนาจ และมีส่วนร่วมจากประชาชน
ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ มี 10 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ 2) ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 3) ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 4) ยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 5) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคั่งและยั่งยืน 6) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในสังคมไทย 7) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ 8) ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม 9) ยุทธศาสตร์การพัฒนาภค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ และ 10) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา