เบื้องหลังคดีบรรจุ พนง.ส่วนตำบล อ.เมือง-สารคามฯฉาว ก่อนผู้ว่าฯไล่ออกยกเข่ง
พลิกปูมเบื้องลึก-ฉากหลัง คดีบรรจุพนักงานส่วนตำบลฉาว จ.มหาสารคาม ประกาศชื่อคนสอบได้ไม่ตรงคะแนนสอบจริง ก.อบต. ไม่ยอมสอบข้อเท็จจริง กระทั่งรองผู้ว่าฯลุยเอง สรุปมั่วคะแนนยกเข่ง ก่อนผู้ว่าฯเซ็นคำสั่งไล่ออกยกกระบิ เตรียมให้ชดใช้ค่าเสียหายคืนด้วย
คืบหน้าไปอีกขั้น !
สำหรับกรณีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ อ.เมือง จ.มหาสารคาม รวม 32 ราย ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทุจริตในการสอบแข่งขันบรรจุพนักงานส่วนตำบล โดยมีการประกาศผลคะแนนสอบไม่ตรงกับคะแนนที่แท้จริง กระทั่งนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายในจังหวัด และส่งรายงานการสอบข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนต่อด้วย
ล่าสุด นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้เซ็นคำสั่ง ‘ไล่ออก’ นายก อบต. ทั้ง 32 ที่เข้าไปมีส่วนพัวพันกับกรณีนี้ทั้งหมดแล้ว
(อ่านประกอบ : สอบปมเรียกเงินด้วย! ผู้ว่าฯสารคามไล่ออก 32 นายก อบต.คดีสอบบรรจุ พนง.)
อย่างไรก็ดีเรื่องดังกล่าวยังไม่จบแค่นี้ ?
นายเสฐียรพงศ์ มากศิริ รองผู้ว่าฯมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ในจำนวนนายก อบต. ทั้ง 32 ราย พบว่ามีพฤติกรรมไปในทางทุจริตทั้งหมด และมีพยานหลักฐานอย่างชัดเจน โดยในจำนวนนี้มีอยู่ 8 ราย ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่มีผลอะไร เพราะต้องถูกลงโทษทางวินัยย้อนหลังทั้งหมด นอกจากนี้เตรียมขยายผลนอกเหนือจากนายก อบต. แล้ว จะดูว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ และจะส่งข้อมูลให้กับ ป.ป.ช. ต่อไป
ขณะเดียวกันเตรียมจะให้พนักงานส่วนตำบลที่สอบเข้าโดยทุจริต ต้องชดใช้เงินคืนให้แก่ราชการทั้งหมดด้วย โดยจะคิดความเสียหายตั้งแต่เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการ ค่ารถ และค่าจิปาถะอื่น ๆ ที่เบิกจากราชการไป ต้องคืนทั้งหมด โดยตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวม แต่เบื้องต้นคือคนละหลายแสนบาทเลยทีเดียว
แต่เรื่องคงยังไม่จบแค่ขั้นนี้ เพราะนายก อบต. ทั้ง 32 ราย เตรียมจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกดังกล่าว นี่ยังไม่นับบรรดาพนักงานส่วนตำบลที่สอบเข้าโดยทุจริตจำนวนหลายร้อยราย ซึ่งถูกไล่ออกจากตำแหน่งไปแล้ว ได้รวมตัวยื่นเรื่องต่อศาลปกครองขอให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ปัจจุบันเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลฯ
ส่วนประเด็นการกล่าวหาว่า มี ‘ผู้ใหญ่’ หรือนายก อบต. บางแห่งเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้สอบได้นั้น นายเสฐียรพงศ์ ระบุว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของศูนย์ดำรงธรรมภายในจังหวัด คงต้องรอรายละเอียดอีกครั้ง
ทั้งหมดคือข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการจัดสอบบรรจุพนักงานส่วนตำบลในพื้นที่ อ.เมือง จ.มหาสารคาม ที่สร้างความ ‘ฉาว’ ไปทั้งประเทศ
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริงกันอีกครั้ง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปเหตุการณ์ให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้
ในปี 2557 คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) จังหวัดมหาสารคาม จัดสอบแข่งขันบรรจุพนักงานส่วนตำบลของ อบต. 32 แห่ง รวมทั้งสิ้น 207 อัตรา อย่างไรก็ดีมีผู้มาร้องเรียนต่อสำนักข่าวอิศราว่า ในการจัดสอบแข่งขันดังกล่าว อบต. ทั้ง 32 แห่ง ประกาศรายชื่อผู้สอบได้และผลคะแนน ไม่ตรงกับผู้ตรวจผลสอบ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยเฉพาะบาง อบต. มีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.อบต.มหาสารคาม เป็นหนึ่งในคณะกรรมการดำเนินการสอบครั้งนี้ด้วย ?
ต่อมา ก.อบต.มหาสารคาม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น โดยมีนายยุทธเดช พลอยสังวาล เลขานุการ ก.อบต.มหาสารคาม (ขณะนั้น ปัจจุบันถูกพักงานตามคำสั่งหัวหน้า คสช.) เป็นประธานฯ ทว่าได้มีการส่งรายงานผลการสอบสวนล่าช้า ส่งผลให้ที่ประชุม ก.อบต.มหาสารคาม ยุติการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีนี้
ทั้งที่เลขาฯ ก.อบต.มหาสารคาม เป็นถึงประธานคณะกรรมการสอบสวนฯ แต่ไฉนถึงไม่รู้กรอบเวลาว่าควรต้องรายงานผลการสอบเมื่อไหร่ นอกจากนี้ ยังไม่มีการเรียกอธิการบดีหรือผู้ที่เกี่ยวข้องใน มรภ.กาฬสินธุ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสอบสวนอีกด้วย ?
อย่างไรก็ดีช่วงเวลานั้น มีการร้องเรียนเรื่องนี้ต่อศูนย์ดำรงธรรม จ.มหาสารคาม ให้เข้าไปตรวจสอบด้วย โดยศูนย์ดำรงธรรม ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯมหาสารคาม ให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดใหม่ ซึ่งผู้ว่าฯ ได้แต่งตั้งให้รองผู้ว่าฯ เป็นผู้รับผิดชอบ
ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดในจังหวัดว่า มีผู้เกี่ยวข้องใน ก.อบต.มหาสารคาม หลายคน พยายามต่อสายตรงคุยกับ ‘บิ๊ก’ ในจังหวัด เพื่อให้ยุติเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่เป็นผล ?
กระทั่งช่วงปี 2558 รองผู้ว่าฯ ได้สรุปผลการสอบข้อเท็จจริง และนำรายงานดังกล่าวมาส่งให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวนต่อไป (ปัจจุบันมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว) โดยผลสรุปดังกล่าวแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
1.กรณีการสอบแข่งขันในปี 2557 มีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาฬสินธุ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานกลางในการจัดสอบ แบ่งเป็น
มรภ.กาฬสินธุ์ จัดสอบให้กับ อบต. 19 แห่ง มีผู้สมัครสอบ 1,421 คน มีผู้สอบได้ 422 คน ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบล 167 คน
เบื้องต้น คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบกับคะแนนของ มรภ.กาฬสินธุ์ พบว่า มีผู้สอบผ่านซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนตำบลเพียง 1 คน และคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) มีมติเพิกถอนคำสั่งบรรจุพนักงานส่วนตำบลทั้ง 19 แห่ง และให้ประกาศผลคะแนนใหม่ตามผลคะแนนของ มรภ.กาฬสินธุ์ แล้ว
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสอบให้กับ อบต. 12 แห่ง มีผู้สมัครสอบ 510 คน มีผู้สอบได้ 236 คน และมีการบรรจุพนักงานส่วนตำบลไปแล้ว 101 คน
ขณะที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบพบว่า ข้อมูลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้สอบผ่านซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเพียง 4 คน
สำหรับกรณีนี้ ได้รายงานผลการสอบสวนไปยัง ก.อบต.กลาง กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่กับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และรายงานไปยัง รมว.ยุติธรรม (พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา) ในฐานะรองประธาน คตช. พิจารณาลงโทษทางปกครองกับผู้บริหาร อบต. ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
2.กรณีการสอบแข่งขันในปี 2556 มี มรภ.กาฬสินธุ์ เป็นหน่วยงานกลางในการจัดสอบ จำนวน 10 แห่ง
พบว่า มีการประกาศผลสอบผู้สอบแข่งขันได้ 267 คน บรรจุไปแล้ว 101 คน แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผลคะแนนของ มรภ.กาฬสินธุ์ พบว่า มีผู้สอบผ่านเกณฑ์ได้บรรจุเพียง 85 คน
ขณะที่ อบต.แวงน่าง พบว่า มีการทุจริต ปลอมแปลงเอกสารประกาศผลคะแนนการสอบภาค ก. และภาค ข. โดยการปลอมแปลงลายมือชื่อและดวงตราประทับของ มรภ.กาฬสินธุ์
ซึ่งกรณีนี้มีการร้องศาลปกครองชั้นต้น จ.ขอนแก่น และศาลฯมีคำสั่งให้เพิกถอนบัญชีรายชื่อผู้สอบได้ โดยปัจจุบัน อบต.แวงน่าง ดำเนินการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอยู่
ส่วนอีก 9 แห่ง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ร้องขอผลคะแนนการสอบแข่งขันไปที่ มรภ.กาฬสินธุ์ และ อบต. ทั้ง 9 แห่ง มาดำเนินการตรวจสอบและเปรียบเทียบกันแล้ว ปรากฏว่า มี อบต. จำนวน 8 แห่ง มีผลคะแนนไม่ตรงกัน และบางรายขาดสอบ แต่ปรากฏรายชื่อเป็นผู้สอบได้
กรณีนี้ ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบให้กับ ก.อบต.กลาง กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งบรรจุพนักงานส่วนตำบลของ อบต. ทั้ง 8 แห่ง แล้ว
นี่คือเบื้องลึก-ฉากหลังเกี่ยวกับกรณีการจัดสอบบรรจุพนักงานส่วนตำบล ‘ฉาว’ ในพื้นที่ อ.เมือง จ.มหาสารคาม ที่ส่งผลให้ ‘บิ๊กตู่’ ต้องใช้มาตรา 44 พักงานบรรดานายก อบต. 32 ราย นายยุทธเดช และนายอร่าม ศิริพันธุ์ หัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ที่เป็นหนึ่งในกรรมการผู้จัดสอบการแข่งขันดังกล่าว
ขณะเดียวกันในชั้นการไต่สวนของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการขยายผลเกี่ยวกับการสอบในลักษณะนี้ไปอีกอย่างน้อย 17 จังหวัด รวมมีผู้บริหารท้องถิ่น-ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ เข้าไปพัวพันด้วยอย่างน้อย 73 ราย ด้วย
(อ่านประกอบ : ครบทุกชื่อ! 73 ผู้บริหารท้องถิ่นทั่ว ปท. ถูก ป.ป.ช.สอบปมบรรจุพนักงานฉาว, ซ้ำรอย‘สารคาม’!ท้องถิ่น 73 แห่งทั่ว ปท.พันปมบรรจุพนักงานฉาว-ป.ป.ช. ลุยสอบ)
ดังนั้นต้องรอดูว่า ในจังหวัดอื่น ๆ จะมี ‘จุดจบ’ แบบเดียวกับใน จ.มหาสารคาม หรือไม่ ?
อ่านประกอบ :
รับปาก ปธ. 6 เดือนเสร็จ! ป.ป.ช.สาวลึกเอาผิดปมสอบบรรจุ พนง.สารคามฯฉาว
เบื้องหลัง! ม.44 เชือด‘ขรก.-นายก อบต.’ ยกสารคามฯปมจัดสอบ พนง.ฉาว?
หลายจว.ฉาวซ้ำรอยมหาสารคาม! ป.ป.ช.ขยายผลสอบบรรจุพนง.ท้องถิ่น
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯลุยสอบ 32 นายก อบต.สารคามพันปมจัดสอบฉาวแล้ว
ลากลับบ้านแล้ว! ‘อดีตเลขาฯ ก.อบต. สารคาม’ขอเหตุผล มท.ถูก ม.44 ฟัน
ขอปฏิเสธทุกอย่าง! จุฬาฯตั้ง กก.สอบ ‘อาจารย์’พันปมจัดสอบสารคามฯฉาวแล้ว
เปิดผลสอบบรรจุพนักงาน อบต.มหาสารคามฉาว! ชง ป.ป.ช.-คตช.เชือด
ส่งผลสอบปมบรรจุพนักงาน อบต.ฉาวให้ ป.ป.ช.-ชง คตช.เอาผิดด้วย
ศูนย์ดำรงธรรมสารคามฯปัดฝุ่นบี้สอบ 19 อบต.ฉาวปมบรรจุพนักงาน
นายกอบต.โคกก่อ-สารคามท้าพิสูจน์! ปมสอบฉาว-ถ้าโปร่งใสฟ้องคนร้องแน่
ก.อบต.สารคามยุติหาข้อเท็จจริงปมสอบฉาวแล้ว-อ้างผลคะแนนตรงกัน
ล้วงบทสนทนา! ก.อบต.สารคามโหวต 24 เสียงยุติหาข้อเท็จจริงปมสอบฉาว
เปิดหมด! เอกสารประชุม ก.อบต.สารคามสั่งยุติหาข้อเท็จจริงปมสอบฉาว
โชว์หนังสือบิ๊ก มรภ.กาฬสินธุ์ปัดเอี่ยวทุจริต ปมสอบพนักงานท้องถิ่น อบต.มหาสารคาม
ร้อง“อนุพงษ์”ให้ มท.ลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง ปมสอบ ก.อบต.มหาสารคามฉาว
หลักฐานผู้ทรงคุณวุฒิ-สารคามพันปมจัดสอบฉาว! ก่อนสั่งยุติหาข้อเท็จจริง
ขมวดปมฉาว!จัดสอบท้องถิ่น อบต.-มหาสารคาม คำถามถึงความโปร่งใส ?