เพื่อนแนะเพื่อน! ดูชัด ๆ คำชม-ข้อกังวลเวทีโลกถึงไทย จี้เลิกจำกัดเสรีภาพ?
“…การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่มีนัยต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การยกเลิกพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร การยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ยกเลิกการกักกันตัวบุคคลตามอำเภอใจ และยกเลิกการปรับทัศนคติ รวมถึงการออกหรือแก้ไขกฎหมายบางฉบับ เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และการให้สถานะทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย…”
สาธารณะชนอาจทราบกันไปแล้วว่า ประเทศไทยได้ส่งคณะผู้แทนฯไปประชุมและรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ตามกลไกของ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2
โดยในเวทีดังกล่าวหลายประเทศต่างแสดงความชื่นชมไทย ในประเด็นการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ดำเนินการได้อย่างเข้มงวด
แต่อีกหลายประเทศก็ยังแสดงข้อกังวล เกี่ยวกับการใช้อำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการใช้คำสั่ง คสช. การเรียกคนไปปรับทัศนคติ การกักตัวคนตามอำเภอใจ รวมถึงให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร เป็นต้น
(อ่านประกอบ : เวทีโลกจี้ไทย! เลิกคำสั่ง คสช.-ปรับทัศนคติ-กักตัวคนตามใจ-พลเรือนขึ้นศาลทหาร)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปรายละเอียดเกี่ยวกับข้อชื่นชม-ข้อกังวลของหลายประเทศต่อไทย มานำเสนอ ดังนี้
คำชื่นชม
การให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร พิธีสารว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ ตลอดจนการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ทั้งนี้คำชื่นชมส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และประเทศยุโรปบางประเทศ เช่น อิตาลี และสโลวะเกีย
ข้อห่วงกังวล
การใช้โทษประหารชีวิต การดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และที่ 13/2559 กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การขู่คุมคามผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่ม โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และกลุ่มละตินอเมริกา
สำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 สรุปได้คือ การแต่งตั้งเจ้าพนักงานรักษาความสงบ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเข้าตรวจค้นหรือบุกจับกุมบุคคลที่ต้องสงสัยในการบ่อนทำลายความมั่นคง ซ่องสุมอาวุธ การพนัน หรือค้ายาเสพติดได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น และเจ้าพนักงานเหล่านั้นหากปฏิบัติตามหน้าที่ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
(ดูรายละเอียด : http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order3-2558.pdf, http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order13-2559.pdf)
ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยได้ตอบชี้แจงคำถามจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมประเด็นการปราบปรามการค้ามนุษย์ สิทธิแรงงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก สตรี คนชรา การบังคับใช้กฎหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุม สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม กระบวนการประชามติ และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษา
โดยประเทศต่าง ๆ ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ไทยรวม 249 ข้อ โดยคณะผู้แทนไทยได้ตอบรับทันที 181 ข้อ ได้แก่ ประเด็นการเข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง การคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม การคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เช่น การเคารพหลักการเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม เป็นต้น
แต่มีอีก 68 ข้อ ที่คณะผู้แทนไทยขอนำกลับมาพิจารณา โดยต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 3 เดือน ส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เช่น การแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การระงับบังคับใช้โทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ และการยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่มีนัยต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การยกเลิกพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร การยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ยกเลิกการกักกันตัวบุคคลตามอำเภอใจ และยกเลิกการปรับทัศนคติ รวมถึงการออกหรือแก้ไขกฎหมายบางฉบับ เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และการให้สถานะทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย เป็นต้น
ในช่วงท้ายคณะผู้แทนไทยฯ รายงานด้วยว่า การนำเสนอครั้งนี้เป็นไปในรูปแบบ “เพื่อนแนะนำเพื่อน” !
โดยมีการรายงานว่า เป็นไปในบรรยากาศสร้างสรรค์ การแสดงความคิดเห็นทั้งหมดเป็นไปอย่างสุภาพ มิได้เป็นการประณามหรือใช้ถ้อยคำหรือท่าทีรุนแรง โดยมีทั้งการชื่นชมพัฒนาการพร้อมให้ข้อเสนอแนะไทยรักษาอย่างต่อเนื่อง และการแสดงความห่วงกังวลพร้อมให้ข้อเสนอแนะปรับปรุงหรือพิจารณาทบทวนข้อจำกัดด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ โดยประเทศต่าง ๆ ได้พยายามพิจารณาการให้ข้อเสนอแนะอย่างถี่ถ้วนโดยคำนึงถึงบริบทของไทย และความเป็นไปได้ของการดำเนินการ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกระบวนการ UPR ที่เน้นการแนะนำมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ (ดูเอกสารประกอบ)
นับเป็นท่าทีล่าสุดของ ‘เวทีโลก’ ก่อนหน้าที่ไทยจะต้องแจ้งกลับไปยัง UNHCR
ส่วนไทยจะตอบรับคำแนะนำ-ข้อกังวลดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน ต้องรอติดตามการรับรองผลการประชุมในช่วงเดือน ก.ย.นี้ !