ผจก.โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ยันส่งแผนแม่บททัน 26 ก.ย.
สจล.เปิดเวทีรับฟังความเห็นครั้งสุดท้าย โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านตัวแทนชุมชนวัดเทวราชกุญชรร้องเรียนกทม.เหตุพื้นที่ชุมชนกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ ทั้งๆที่มีเอกสารสิทธิ์ สัญญาเช่า โฉนดเป็นหลักฐาน
วันที่ 9 กันยายน 2559 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และม.ขอนแก่น ที่ปรึษาการการสำรวจออกแบบแผนแม่บทโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะ 57 กิโลเมตร และระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร “จัดงานประชุมเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ” ณ ห้องอรุณอัมรินทร์ ชั้นล่าง หอประชุมกองทัพเรือ ถ.อรุณอัมรินทร์
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการ และโฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า คณะทำงานได้รับฟังความคิดเห็นใน 34 ชุมชน ซึ่งมีความเห็นที่หลากหลาย และมี 1 ชุมชนที่ยังมีปัญหาในเรื่องพื้นที่ คือ ชุมชนวัดเทวราชกุญชร ซึ่งขอบเขตที่ดินไม่ตรงกับกรมที่ดินทำให้เป็นพื้นที่สาธารณะอยู่ในพื้นที่นำร่อง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ชาวบ้านจึงมายื่นหนังสือร้องเรียนขอให้คณะทำงานและกทม ไปตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งกทม ได้รับเรื่องตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดิน รวมทั้งชุมชนวังหลัง เขตบางกอกใหญ่ จะต้องหารือกับกทม. ว่า การออกแบบพื้นที่ควรเป็นเช่นไรจึงจะเหมาะสม ทั้งนี้จะนำความคิดเห็นแต่ละชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุงแบบต่อไป
ด้านรศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำ กล่าวว่า คณะทำงานจะส่งแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาตามกำหนดวันที่ 26 กันยายนนี้ และขอยืนยันถึงกรณีเสาทางเดินที่จะสร้างลงในแม่น้ำเจ้าพระยา จะไม่มีผลกระทบต่อระดับน้ำ ส่วนงบประมาณดำเนินโครงการที่ใช้ถึง 1.4 หมื่นล้านบาท จากการประมาณเบื้องต้นไม่ได้ใช้งบมากขนาดนั้น ขณะนี้กำลังการประเมินการใช้งบตามความเป็นจริง
ขณะที่นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า หลังจากคณะทำงานโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเสนอแบบโครงการมาในวันที่ 26 กันยายนนี้ กทม. จะมาพิจารณาว่า ยังมีชุมชนใดบ้างที่จะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อออกแบบให้เหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งประเมินงบฯ ที่จะต้องใช้ในการดำเนินโครงการ หลังจากนั้นเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติงบจากคณะรัฐมนตรี โดยตามแผนงานคาดว่าจะใช้เวลา 18 เดือน ในการก่อสร้างตามแผนโครงการ กทม.จะไปตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ของชุมชนวัดเทวราชกุญชร หากมีเอกสารสิทธิ์ชัดเจนก็จะไม่อยู่ในพื้นที่นำร่องโครงการ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ตัวแทนชุมชนวัดเทวราชกุญชร ได้เดินทางมายื่นหนังสือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับชุมชนวัดเทวราชกุญชรว่า ทางชุมชนได้ร่วมกับสจล.เพื่อเขียนแผนแม่บทในการทำทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เมื่ออาทิตย์ที่แล้วทางกรุงเทพฯ กลับลอยแพชุมชนและต้องการให้พื้นชุมชนเป็นพื้นที่สาธารณะ คือบริเวณหลังเขื่อนกั้นน้ำของวัดเทวราชกุญชร กำลังจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับชุมชนป้อมมหากาฬ ทั้งๆ ที่คนในชุมชนมีเอกสารสิทธิ สัญญาเช่า และโฉนดที่ดินเป็นหลักฐานในการแสดงตัวตน ซึ่งชาวบ้านที่เดือดร้อนเป็นบ้านหลังแนวกั้นน้ำจำนวน 33 หลัง
ด้านนายยศพล บุญสม ผู้ประสานงานสมัชชาแม่น้ำ กล่าวถึงโครงการเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาว่า เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนไม่มีการรับรู้ที่แท้จริง ยืนยันได้จากเสียงตอบรับของหลายชุมชน และในกระบวนการยังมีการดำเนินงานแบบรวบรัด โดยเฉพาะในตัวแม่บทไม่ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของใคร และไม่ได้ระบุว่า ทำไมถึงทำโครงการนี้ ทั้งเชิงเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ทำแล้วมีประโยชน์อะไรบ้าง
"เห็นได้จากวันนี้ที่บางชุมชนก็ไม่รับรู้ ขณะเดียวกันรูปแบบ ก็มีสิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าการดูแล รวมไปถึงเรื่องการดำเนินชีวิตของคนแต่ละชุมชน ทำให้ตอนนี้ชุมชนอยู่ในตำแหน่งของผู้ถูกกระทำแทน และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งไปอีกในภายหน้า"
อย่างไรก็ตาม สำหรับบรรยากาศการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครั้งนี้ ผู้สื่อรายงานว่า ในการประชุมตัวแทนชุมชนต่างๆ และกลุ่มสมัชชาแม่น้ำ เครือข่ายคนรักเจ้าพระยาได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้เหตุผลว่าการจัดทำแผนแม่บทยังรับฟังความคิดเห็นไม่รอบด้าน หวั่นว่า จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์