ป้อมมหากาฬ:อนุรักษ์ประวัติศาสตร์ -อนุรักษ์คน
ที่เราคิดว่าการรื้อครั้งนี้เป็นการสูญเสียแค่เรื่องของอาคารบ้านเรือนเท่านั้น แต่การจะรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ถือเป็นการสูญเสียประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนริมน้ำ เป็นการเสียชุมชนแบบเดิมที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่ง
"ป้อมมหากาฬ" แต่เดิมสร้างขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นป้อมปราการที่ทำหน้าที่ป้องกันกทม.เข้ารื้อย้ายทุบทำลายชุมชนดั่งเดิมตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ใครเคยผ่านไปผ่านมาแถวสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จะเห็น “ป้อมมหากาฬ” ตั้งเด่นเป็นสง่า โดยจุดเริ่มต้นของกำแพงสีขาวทอดยาวไปกว่า 180 เมตร มองข้ามคลองโอ่งอ่างไป ก็คือภูเขาทอง
นอกจากตัวป้อมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานแล้ว เราคงลืมไปไม่ได้ว่า พื้นที่ระหว่างกำแพงจนไปถึงคูเมืองนั้นมีพื้นที่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ นั่นก็คือ “ชุมชนป้อมมหากาฬ”
ปีพ.ศ.2502 ยุคของจอมพลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นต้องการปรับปรุงภูมิทัศน์รัตนโกสินทร์ ต่อเนื่องมาถึงปี พ.ศ.2535 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬให้เป็นที่สาธารณะ และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬต้องเผชิญหน้าและต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 24 ปี เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะที่มีถ้วยรางวัลเป็นพื้นที่อยู่อาศัยเดิมของชาวชุมชนกว่า 100 หลังคาเรือน
ในการต่อสู้ที่ยาวนานและยืดเยื้อ แม้ทางชุมชนจะมีการยื่นข้อเสนอและขอเจรจา แต่กลับไม่ได้รับผลตอบรับมาจากทางกรุงเทพมหานคร ที่ยังคงยืนยันจะรื้อถอนบ้านเรือน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 59 กทม.เข้ารื้อถอนบ้านเรือนในชุมชนป้อมมหากาฬที่ยิมยอมได้แล้ว 16 หลังคาเรือน ส่วนหลังอื่น ๆ ที่เหลือจะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง
ขณะที่คนในชุมชนป้อมแห่งนี้ ยืนยันว่า การรื้อถอนชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้ายนี้ ก็เหมือนเป็นการทำลายรากเหง้าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบในอดีตของประเทศ
“สมบูรณ์ พวงชัยโย” อายุ73 ปี อาชีพพ่อค้าขายน้ำ อาศัยอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬมากกว่า 40 ปี พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ เมื่อถูกถามถึงเหตุการณ์การไล่รื้อที่เกิดขึ้นว่า “ขนาดคนยังอยู่คู่กับป่าได้เลย แล้วทำไมคนจะอยู่ร่วมกับโบราณสถานไม่ได้ ตอนนี้ชุมชนอยู่ด้วยความหวาดกลัวว่าจะโดนรื้อเมื่อไหร่ก็ไม่รู้”
ลุงสมบูรณ์ บอกว่า “ทรายสักเม็ดกทม.ยังไม่เคยมาช่วยทะนุบำรุงเลย บ้านที่จะอนุรักษ์หรือแม้แต่ลอกท่อระบายน้ำเองก็ยังไม่เคยมาช่วยเลย ชาวบ้านต้องระดมทุนออกเองทั้งหมด เพราะกทม.อ้างว่าไม่มีงบฯ แต่พอจะรื้อก็จะมารื้ออย่างเอาเป็นเอาตายอยู่ท่าเดียว”
ส่วนที่กทม.จะให้ย้ายไปอยู่การเคหะแถวมีนบุรี ลุงสมบูรณ์ เห็นว่า เป็นพื้นที่ห่างไกลมาก ทางที่จะออกมาหน้าปากซอยก็ 10 กว่ากิโลเมตรแล้ว ไหนจะเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองก็เป็นไปอย่างยากลำบาก
“วิถีชีวิตเราอยู่แบบนี้มาแต่เกิด อยู่ดี ๆ จะให้มาเปลี่ยนแปลง”
ส่วนทางกทม.ยืนยันว่าสิ่งที่กำลังจะทำสวนสาธารณะนั้น เป็นการพัฒนาเมืองให้สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจะเข้ามาในประเทศไทย ลุงสมบูรณ์ ถามกลับกทม.ว่า ท่านเคยไปถามนักท่องเที่ยวเหล่านั้นหรือไม่ว่า ต้องการมาดูประวัติศาสตร์หรือความเรียบร้อยสวยงามของเมืองสมัยใหม่กันแน่
ประวัติศาสตร์ที่ว่า มิได้หมายถึงตัวป้อมมหากาฬเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่ฝังตัวอย่างแนบแน่นเข้ากับป้อมมหากาฬแห่งนี้เป็นเวลายาวนานหลายชั่วอายุคน
จริงอยู่ว่าคนในชุมชนปัจจุบันอาจไม่ใช่คนที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างของการทำลายประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
“เมื่อคุณเริ่มเหยียบเข้ามาในพื้นที่ชุมชน คุณก็เริ่มเข้ามาในประวัติศาสตร์แล้ว เพราะที่แห่งนี้คือชานพระนคร คนเราจะย้ายออกย้ายเข้ามันบังคับกันไม่ได้ เมืองต้องมีชีวิตมีการโยกย้าย ต้องมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เมืองมีความเป็นประวัติศาสตร์ คนที่อยู่อาศัยจะเป็นตัวที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนผ่านคนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง” กบ หรือ นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ให้มุมมองการพัฒนาเมือง ในฐานะคนธรรมดาสามัญ
ขณะที่นักประวัติศาสตร์ อย่างรองศาสตราจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม มองว่า การที่เราคิดว่าการรื้อครั้งนี้เป็นการสูญเสียแค่เรื่องของอาคารบ้านเรือนเท่านั้น แต่การจะรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ถือเป็นการสูญเสียประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนริมน้ำ เป็นการเสียชุมชนแบบเดิมที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่ง ถ้าเสียไปคนรุ่นหลังจะรู้ได้ไงว่าคนใช้ชีวิตกันยังไง
“ประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ทุกวันนี้ แทบไม่มีคนอยู่เลย เหมือนเป็นภาพนิ่ง ไม่เห็นชีวิตของคน ไม่เห็นวัฒนธรรม ไปดูตามพิพิธภัณฑ์ก็เป็นการจำลองขึ้น แต่ชุมชนป้อมมหากาฬคือของจริงยังมีชีวิตก็ควรรักษาไว้ ถ้าชุมชนป้อมมหากาฬโดนรื้อ ชุมชนอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ก็อาจโดนรื้อ รวมถึง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย” นักประวัติศาสตร์ ให้ความเห็น และทิ้งท้าย “หากเราจะอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ เราก็ต้องอนุรักษ์คนด้วย”
สำหรับคนชุมชนใกล้เคียง “คำตัน สีนา” อาศัยอยู่ในซอยข้างวัดราชนัดดาฯ ก็เห็นว่า การเปลี่ยนชุมชนป้อมมหากาฬเป็นสวนสาธารณะ อาจสร้างปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น เห็นได้จากลานพลับพลาที่เป็นสวนสาธารณะตรงข้ามป้อมมหากาฬ ก็ไม่ค่อยมีคนเข้าใช้บริการ อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมตัวมีทั้งคนจรจัดและคนติดยา
คำตัน บอกว่า “เมื่อสองวันก่อนยังมีเหตุผู้หญิงโดนชิงทรัพย์อยู่ตรงลานนี้เลย ลานที่กทม.ทำเป็นสวนสาธารณะแต่ไม่มีคนใช้ แล้วถ้ายิ่งป้อมมหากาฬเป็นพื้นที่ปิด มีกำแพงขนาดนี้ เกรงว่าจะมีคนใช้เป็นแหล่งมั่วสุม เพิ่มโอกาสการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นไปอีก”
“สงสารคนในชุมชนนะ ส่วนใหญ่เป็นพวกหาเช้ากินค่ำเหมือนๆกันจะให้ไปหาที่อยู่ใหม่ก็ยากเพราะไม่ได้มีเงินเก็บเยอะ ค่าเวนคืนก็ไม่ได้เยอะพอที่จะไปตั้งตัวใหม่ เห็นกันมาเป็นสิบ ๆ ปีอยู่ดี ๆ จะหายไปก็คงรู้สึกเสียใจ”
ด้านพระครูสุนทร จริยโกศล รองเจ้าอาวาสวัดราชนัดดารามวรวิหาร อายุ 60 ปี บอกเล่าถึงมิตรภาพอันดีระหว่างวัดกับชุมชนป้อมมหากาฬ ว่า เวลาทางวัดมีเทศกาลชุมชนก็จะช่วยประกาศเชิญชวนให้มาร่วมงาน การที่กทม.จะปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ชุมชนป้อมมหากาฬให้เป็นสวนสาธารณะจะได้ไม่คุ้มเสีย
ยกตัวอย่างกรณีลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ที่อยู่ข้างวัด เป็นสวนสาธารณะเปิด ก็ยังเป็นมีเหตุวิ่งราวกันอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งมีไกด์ผีอาศัยที่แห่งนี้ ที่กทม.สร้างไว้มาหลอกนักท่องเที่ยว และยังมาใช้พื้นที่สาธารณะแห่งนี้กระทำการที่ผิดกฎหมายด้วย อาตมาก็ไม่เห็นมีหน่วยงานไหนมาดูแลในส่วนนี้เลย
“สวนสาธารณะที่ดีก็ควรเป็นแบบสวนเปิด ถ้าเป็นสวนแบบปิด ถามว่า แล้วใครจะกล้าเข้าไปใช้ละ” ท่านพระครูสุนทร กล่าวให้ความเห็นกรณีการรื้อย้ายคนออกจากเมือง
"มหากาฬโมเดล" ยังไม่จบต้องลุ้นกันต่อไป กทม.เลือกพัฒนาแบบฉบับให้คนอยู่กับเมือง หรือเลือกพัฒนาเมืองในแบบเมืองเจริญแต่ปราศจากชีวิตของผู้คน (จน)