เปิดข้อมูล ‘ที่ดินสาธารณะ’ อ.ปะทิว 4 แปลง 3,249 ไร่ ไฉน!สอบแค่แปลงเดียว
แกะรอยปมรุกที่สาธารณะอ่าวทุ่งทราย อ.ปะทิว จ.ชุมพร พบ คกก.จัดรูปที่ดินฯปี 30 ประกาศเขตพื้นที่สงวนหวงห้าม 4 แปลง เนื้อที่รวม 3,249 ไร่ ผ่านมา 30 ปี เหลืออยู่เท่าไหร่ ก่อนสอบแค่แปลงเดียว 565 ไร่?
กรณีบ้านพักตากอากาศของนักวิชาการชื่อดังบนเชิงเขา อ่าวทุ่งทราย หมู่ 3 ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร มูลค่านับร้อยล้านบาท ซึ่งถูกกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 2548 หรือเป็นเวลากว่าสิบปี และศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อ 16 พ.ค. 2555 ว่า คำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินของอธิบดีกรมที่ดินกระทำโดยชอบ แต่ทว่า เจ้าของบ้านยังคงครอบครองที่ดินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยอ้างว่า ไม่ได้อยู่บนพื้นที่สาธารณะ ต่อมา เจ้าหน้าที่ทหาร บก.ควบคุม มณฑลทหารบกที่ 44 (มทบ.44) เข้าไปตรวจสอบ กระทั่ง นายสมดี คชายั่งยืน ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามข่าวก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : เปิดคำสั่งตั้ง กก.สอบปมรุกที่สาธารณะ อ.ปะทิว-ทหารแฉบ้าน 5 หลัง‘นักวิชาการดัง’)
คำสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว กำหนดพื้นที่ตรวจสอบ คือ พื้นที่ตามประกาศของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2530 ที่ประกาศให้ที่ดินหมู่ 3 ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร (แปลงที่ 4) เนื้อที่ 565 ไร่ 3 งาน เป็นที่ดินสงวนหวงห้าม เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
คำถามก็คือ แท้จริงแล้วประกาศของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2530 มีทั้งสิ้นกี่แปลง ?
เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของที่ดินสงวนหวงห้ามในพื้นที่อำเภอปะทิว จ.ชุมพร สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลมาเสนอ ดังนี้
ตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2530 ยุคนายไสว พัฒโน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ (นายศิริ เกวลินสฤษดิ์ อธิบดีกรมที่ดิน เป็นเลขาฯ คณะกรรมการ) ได้ประกาศ การสงวนสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในท้องที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร 4 แปลง
แปลงแรก เนื้อที่ 665 ไร่ 2 งาน 10 ตารางวา (ดูภาพประกอบ)
แปลงที่สอง เนื้อที่ 974 ไร่ -40 ตารางวา (ดูภาพประกอบ)
แปลงที่สาม เนื้อที่ 1,043-3-25 ตารางวา (ดูภาพประกอบ)
แปลงที่สี่ เนื้อที่ 565 ไร่ 3 งาน (ดูภาพประกอบ)
รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 3,249 ไร่ 75 ตารางวา
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะ 4 แปลงข้างต้น แปลงที่มีพื้นที่ด้านใดด้านหนึ่งติดทางสาธารณะ 2 แปลง คือ แปลงที่ 1 (ระบุทิศเหนือจดทางสาธารณประโยชน์) กับ แปลงที่ 2 (ระบุทิศตะวันออกจดที่ครอบครองและทางสาธารณประโยชน์)
แปลงที่มีพื้นที่ติดทะเล มี 2 แปลง คือ แปลงที่ 3(ระบุทิศตะวันออกจดทะเล) กับ แปลงที่ 4 (ระบุทิศตะวันออกจดทะเล)
สำหรับ ที่ดินสงวนหวงห้าม แปลงที่ 4 นั้น พื้นที่ดังกล่าวปรากฎอยู่ในคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนของผู้ว่าฯ จ.ชุมพร ที่ 2655/2559 ที่มี นายไมตรี ไตรติลานันท์ รองผู้ว่าฯ เป็นประธาน
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ อ.ปะทิว อ.ท่าแซะ ถูกประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินปี 2531 (พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอท่าแซะ และอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2531) มีผลใช้บังคับในวันที่ 24 พ.ค. 2531 (ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา) ยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
และต่อมา ได้ประกาศยกเลิกเมื่อปี 2552 (24 ก.ย. 2552) และมี พระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ กันเฉพาะพื้นที่ ตำบลสองพี่น้อง ตำบลสลุย ตำบลหงษ์เจริญ ตำบลรับร่อ ตำบลคุริง ตำบลท่าข้าม ตำบลทรัพย์อนันต์ ตำบลหินแก้ว อำเภอท่าแซะ ตำบลเขาไชยราช ตำบลดอนยาง ตำบลปากคลอง ตำบลชุมโค ตำบลทะเลทรัพย์ ตำบลบางสน และตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน (ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
น่าสังเกตว่า ที่ดินสงวนหวงห้าม ตามประกาศคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2530 มีทั้งสิ้น 4 แปลง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) โดยแปลงที่ 4 เป็นพื้นที่ปัญหาที่กำลังถูกตรวจสอบ กรณีนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า อีก 3 แปลง (แปลงที่ 1-3) อยู่ตรงไหน มีปัญหาถูกบุกรุกหรือไม่ ปัจจุบันเหลือจริงๆกี่ไร่?
ไฉนไม่ตรวจสอบในภาพรวม!
อ่านประกอบ :
ทวง 565 ไร่! กก.สอบปมรุกอ่าวทุ่งทราย อ.ปะทิว นัดลงพื้นที่-ปูดอ้างชื่อบิ๊กทบ.-รัฐบาล
เปิดคำสั่งตั้ง กก.สอบปมรุกที่สาธารณะ อ.ปะทิว-ทหารแฉบ้าน 5 หลัง‘นักวิชาการดัง’
ชัด!คำพิพากษาศาล ปค.สูงสุด โฉนดบนเขา‘นักวิชาการดัง’ ส.ค.1 บินไกล 500 ม.
พลิกข้อต่อสู้‘นักวิชาการดัง’ในศาล ปค.สูงสุด ซื้อที่ดินสุจริต สร้างบ้านพัก-ห้องสมุด 15 ล.
ผู้ว่าฯ ชุมพรรับตั้ง กก.สอบบ้านหรูบนเขา ‘นักวิชาการสกุลดัง’ ไม่ชัวร์อยู่ในที่หลวง
จนท.ที่ดินแจงไม่มีผล ปย.!ปมบ้านหรูบนเขา‘นักวิชาการ’ตระกูลดัง ยังไม่ถูกรื้อถอน
เปิดคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุด โฉนดบ้านหรูบนเขา 18 ไร่ ‘นักวิชาการดัง’ ใช้ ‘ส.ค.1 บิน’