"ฮาซัน"ในวันขาดพ่อและน้อง
“พ่อตาย ฝังแล้ว อยู่ที่กุโบร์ (สุสาน) เพราะพ่อกับน้องไปซื้อของที่โชเล่ย์ (รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง) หน้าโรงเรียน ก็เลยถูกคนร้ายวางระเบิด ต่อไปก็จะอยู่กับมาม่า เมื่อก่อนก็อยู่กับมาม่า เพราะพ่อไปทำงานกรุงเทพฯ”
เป็นคำพูดของ เด็กชายพงษ์พัฒน์ หรือ ฮาซัน เว๊าะบ๊ะ ลูกชายวัย 6 ขวบ ของ มะเย็ง เว๊าะบ๊ะ ที่ถูกระเบิดจนเสียชีวิตพร้อมลูกสาวคนเล็ก มิตรา เว๊าะบ๊ะ บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
เสียงระเบิดที่กัมปนาทขึ้นฝั่งตรงข้ามโรงเรียนหลังเคารพธงชาติไม่นาน ทำให้เด็กชายวัย 6 ขวบอย่างฮาซัน ต้องกลายเป็นกำพร้า และยังสูญเสียน้องสาวที่น่ารักไปอีกคน
คำว่า “มาม่า” ที่ฮาซันเรียกขาน จริงๆ แล้วคือ ยาลีสะ เว๊าะบ๊ะ ผู้มีศักดิ์เป็นป้า เพราะเป็นพี่สาวของมะเย็ง แต่ยาลีสะเลี้ยงดูฮาซันมาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้เขาเรียกป้าว่า “มาม่า” จนติดปาก
“ฮาซันอยู่กับฉันมาตลอดอยู่แล้ว คิดมาตลอดว่าต้องดูแลเขาจนกว่าเขาจะโตบรรลุนิติภาวะ เพราะหลังจากแม่ของฮาซันแยกทางกับน้องชาย (มะเย็ง) ฮาซันก็มาอยู่กับฉัน ส่วนน้องชายไปทำงานเป็นยามที่กรุงเทพฯ แล้วก็ไปได้แฟนใหม่ที่โน่น จนกระทั่งได้น้องมิตรามาเป็นลูกอีกคน จากนั้นน้องชายก็แยกทางกับแฟนอีก แล้วก็พาน้องมิตรากลับมาอยู่ที่บ้านได้ไม่ถึงปีเขาก็เสียไปพร้อมลูกสาว” ยาลีสะ เล่าชีวิตครอบครัวของน้องชาย
“ทุกวันน้องชายจะไปทำงานรับจ้างแบกข้าวสารที่ท่าเรือข้ามฝั่งตากใบ-มาเลเซีย ก็ต้องทิ้งลูกทั้งสองคนให้ฉันดูแล โดยเฉพาะฮาซัน ส่วนน้องมิตราจะผูกพันกับน้องชายกว่า เพราะเขาไม่เคยห่างกันเลย จนกระทั่งนาทีสุดท้ายก็ตายพร้อมกัน”
ยาลีสะ บอกว่าตอนนี้ฮาซันรู้แล้วแค่ว่าพ่อกับน้องเสียชีวิต แต่ยังไม่ทราบว่าเสียเพราะอะไร ถ้าเขาถามก็คิดจะบอกเขาไปตรงๆ
ที่บ้านของมะเย็ง ยังคงมีญาติพี่น้อง รวมทั้งคนที่ทราบข่าวร้าย เดินทางไปให้กำลังใจกันไม่ขาดสาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายความมั่นคงด้วย เพราะเหตุระเบิดที่คร่าชีวิตสองพ่อลูก สร้างความเศร้าสลดให้กับทุกคน ไม่ว่าจะใจแข็งแค่ไหนก็ตาม...
ชลาลัย เฮมเล่ง ครูประจำชั้นของหนูน้อยมิตรา เล่าว่า ขณะเกิดระเบิด ทุกคนกำลังเข้าห้องเรียน พอได้ยินเสียงทุกคนก็หนีกันชลมุน ครูบางคนพยายามกั้นเด็กไม่ให้ออกไปข้างนอก พร้อมกับเช็คเด็กๆ ของเราว่าอยู่กันครบหรือเปล่า ไม่คิดว่ามีน้องมิตราอยู่นอกโรงเรียนอีก
“เราก็หันมาดูสถานการณ์ในโรงเรียน เห็นมีคนเจ็บ ก็รีบพากันส่งโรงพยาบาล แล้วก็มีชาวบ้านมาบอกว่าลูกศิษย์ครูโดนด้วยกับผู้ปกครอง ใจเริ่มเสีย รู้สึกเสียใจมาก รู้ว่าเวลาที่เราวิ่งออกมาเพื่อจะช่วยน้องช้ามาก เพราะเราทำอะไรไม่ได้เลย”
เช้าตรู่หลังวันเกิดเหตุ 1 วัน ชาวอำเภอตากใบกว่า 500 คนได้ร่วมกันละหมาดฮายัตเพื่อขอพรให้เกิดสันติสุข
การลอบวางระเบิดหน้าโรงเรียน ทำให้เด็กเล็กๆ ต้องลาโลกไป เป็นความเลวร้ายที่ไม่มีใครรับได้ แถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมทั้งองค์กรสูงสุดของศาสนาอย่างสำนักจุฬาราชมนตรีด้วย
“แม้ในยามที่ท่านนบีมุฮัมมัดต้องตกอยู่ในสภาวะสงครามเพื่อป้องกันตัว ท่านยังได้กำหนดหลักข้อห้ามทำร้ายเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้บาดเจ็บ และผู้ครองตนเป็นนักบวชในศาสนาอื่นๆ รวมทั้งห้ามเผาทำลายศาสนสถานของทุกศาสนา” แถลงการณ์ของสำนักจุฬาราชมนตรี ระบุตอนหนึ่ง
ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ก็ได้ร่วมแถลงประณามเหตุการณ์นี้ด้วยเช่นกัน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ฮาซัน กับป้า
2 ชาวตากใบร่วมละหมาดฮายัต