เปิดข้อสังเกตต่อร่างประมวลยาเสพติดฉบับใหม่
ร่างประมวลกฎหมายฉบับนี้ ในความจริงควรกลับไปแยกว่า ใครคือผู้เสพ หรือผู้ค้ารายย่อย เช่นพวกที่ครอบครองเม็ดสองเม็ด ควรมีมาตรการที่แตกต่างกัน แต่พบว่าในร่างฯฉบับนี้ยังไม่ได้แยก ซึ่งมองว่าบางครั้งบางทีโทษก็รุนแรงเกินไป ถ้าเราไม่แยกให้ชัดเจนจะทำให้คนที่ตกเป็นเหยื่อมีผู้บริสุทธิ์โดนเข้าไปด้วย
การแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นจำนวนหลายฉบับ และอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายหน่วยงาน ซึ่งทำให้การทำงานที่ผ่านมาขาดความเชื่อมโยงในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
มาถึงรัฐบาลยุคคสช.กำลังมีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ หรือเรีกยว่า ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ถือ เป็นการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดทั้งระบบ โดยเป็นการรวบรวมบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับยาเสพติด จำนวน 7 ฉบับ ประกอบด้วย
1.พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3.พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
4.พระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ.2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
5.พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
6.พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550
และ 7.พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ไว้ด้วยกันในรูปแบบประมวลกฎหมาย
โดยปรับปรุงสาระสำคัญของบทบัญญัติของกฎหมายยาเสพติดบางประการให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี และระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัจจุบัน สถานะร่างพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ผ่านครม.แล้ว เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 อยู่ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
สำนักข่าวอิศรา หยิบยก ข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ บางหน่วยงานมานำเสนอ ทั้งในประเด็น ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ ความเชื่อมโยงและความซ้ำซ้อน การกำหนดฐานความผิด บทนิยาม แนวนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติด คณะกรรมการ การควบคุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ฯลฯ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่า หลักการร่างพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ เป็นการยกระดับการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้สามารถจับกุมดำเนินคดีกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่อย่างได้ผล ขณะเดียวกันเป็นการลดจำนวนผู้เสพรายใหม่ และผู้เสพผู้ติดซ้ำเพื่อคืนคนดีให้สังคมได้
ด้านสำนักงานอัยการสูงสุด มีข้อสังเกต
1.ร่างพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ มาตรา 438 ให้อำนาจพนักงานอัยการสั่งยุติการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สั่งชะลอการฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งให้ใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษผู้ต้องหานั้น ควรกำหนดให้อัยการสูงสุด มีอำนาจตามข้อบังคับเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการสั่งยุติการดำเนินคดี สั่งชะลอการไม่ฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษแก่ผู้ต้องหาของพนักงานอัยการ จึงควรบัญญัติเพิ่มเติมความในร่างพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ มาตรา 8 วรรคสี่ โดยให้อัยการสูงสุดร่วมรักษาการกับนายกรัฐมนตรีในภาคสามแห่งประมวลกฎหมายนี้
2.ร่างพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ การระบุ จำแนก ชนิด ประเภทยาเสพติด ควรกำหนดไว้หมวดเดียวกัน เพื่อความชัดเจน และคล่องตัวในการทำความเข้าในในกฎหมาย
การกระทำที่เป็นบัญญัติให้ความผิดในแต่ละฐาน ควรกำหนดเรียงตามระดับความร้ายแรงของยาเสพติด และความร้ายแรงของการกระทำให้ชัดเจน รวมทั้งการกำหนดโทษในแต่ละฐานความผิดให้ชัดเจน และเหมาะสมกับความร้ายแรงของยาเสพติด และความร้ายแรงของการกระทำ
ส่วนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีประเด็นข้อสังเกตในเรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ร่างมาตรา 345 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งมีอำนาจตามร่างมาตรา 346 ได้แก่ เสนอแนะต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวง ตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำควาผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด วินิจฉัยทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ฯลฯ โดยร่างนี้มิได้กำหนดให้เลขาธิการ ปปง.เป็นกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย ซึ่งหากกำหนดให้เลขาธิการ ปปง.เป็นกรรมการด้วยแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์แก่การประสานความร่วมมือกันในการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและไม่เกิดความซ้ำซ้อน
ขณะที่มีความเห็นที่น่าสนใจจากสำนักงานศาลยุติธรรม เกี่ยวกับร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด อาทิ
1. ที่ขาดลักษณะของความเป็น 'ประมวลกฎหมาย' และอาจทำให้เกิดข้อขัดข้องในการบังคับใช้ อาทิ บทบัญญัติเกี่ยวกับยาเสพติพให้โทษในลักษณะที่ 2 หมวด 1 และบทบัญญัติเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในลักษณะที่ 2 หมวด 2 ที่บทบัญญัติที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น เกี่ยวกับการอนุญาต หน้าที่ผู้รับอนุญาต หน้าที่เภสัชกร การโฆษณา อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ และมีความซ้ำซ้อนกับความผิดเกี่ยวกับสารระเหยทำนองเดียวกัน
2. ร่างมาตรา 233 ที่กำหนดให้การพิจารณาพิพากษาความผิดมาตรา 228 มาตรา 229 วรรสอง หรือมาตรา 230 วรรคสอง ให้ศาลไต่สวนการกระทำของผู้กระทำความผิดว่า มีบทบาทนำหรือบทบาทสำคัญในเครือข่ายอาชกรรมยาเสพติด หรือการกระทำความผิดโดยมุ่งหมายของเครือข่ายอาชญกรรมหรือเกี่ยวกันถึงผู้มีบทบาทนำ หรือบทบาทสำคัญ
และมาตรา 234 ในการพิจารณาพิพากษาความผิดมาตรา 229 วรรคหนึ่ง ให้ศาลไต่สวนลักษณะของการกระทำของผู้กระทำความผิดว่า มีบทบาทน้อยภายใต้การสั่งการ หรือเกี่ยวข้องเนื่องจากถูกกดดัน บังคับ ข่มขู่ หรือมีส่วนร่วม เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
การบัญญัติตามร่าง มาตรา 233 และร่างมาตรา 234 ดังกล่าว เป็นการกำหนดให้ศาลไต่สวนบทบาทของผู้กระทำความผิด ดังนั้นการกำหนดให้ศาลมีหน้าที่ไต่สวนดังกล่าว มีความแตกต่างจากการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรม ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบกล่าวหา
ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมมีภารกิจในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยพิจารณาพิพากษาคดีจากพยานหลักฐาน ซึ่งโจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด รวมถึงในคดียาเสพติดที่โจทก์ควรมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด มีบทบาทนำ หรือผู้มีบทบาทน้อยในการสั่งการ กรณีจึงไม่สมควรกำหนดให้ศาลเป็นองค์กรทำหน้าที่ไต่สวนในคดีดังกล่าว
3. การกำหนดให้ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดตามบทบาทความสำคัญในการกระทำความผิดนั้น เป็นหลักการที่ดี แต่จะต้องมีหลักที่มีความชัดเจนให้เพียงพอเป็นแนวทางให้ศาลใช้ดุลยพินิจให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันด้วย
บทบัญญัติมาตรา 227 ที่กล่าวถึง บทบาทนำ และบทบาทสำคัญ ใช้ถ้อยคำเป็นทำนองยกตัวอย่าง ไม่มีลักษณะเป็นนิยามที่ชัดเจน อีกทั้งเป็นการวางกรอบการใช้ดุลยพินิจของศาลในการลงโทษผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นอำนาจของศาลโดยแท้จริงหรือไม่ โดยในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ ตามมาตรา 176 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
นอกจากนี้ ถ้อยคำว่า เครือข่ายอาชญากรรม ก็ไม่มีความชัดเจนก่อให้เกิดข้อขัดข้องในการวินิจฉัยและจะเพิ่มการโต้แย้งในคดีมากขึ้น
4. ความผิดฐานลำเลียงยาเสพติดที่กำหนดขึ้นมาใหม่ ในมาตรา 23 และมาตรา 25 และมาตรา 231 ซ้ำซ้อนกับความผิดฐานครอบครองยาเสพติดที่มีอยู่เดิม ไม่ชัดเจนว่า จะมีความหมายและขอบเขตเพียงใด และอาจกระทบต่อบัญญัติอื่นๆ เช่น การนำผ่านยาเสพติดตามมาตรา 84 ถือเป็นการลำเลียงหรือไม่ การครอบครอบภายใต้การควบคุมเพื่อการสืบสวนตามมาตรา 326 จะถือว่าเป็นบทบัญญัติยกเว้นความผิดนี้ด้วยหรือไม่
5. การให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ติดยาเสพติดที่กระทำผิดเป็นครั้งที่ 3 เมื่อพ้นโทษแล้วไว้ในสถานพยาบาล โดยไม่มีกำหนระยะเวลา ตามมาตรา 269 อาจเป็นบทบัญญัติที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร เป็นต้น
ขณะที่ทางด้านรองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ประมวลกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดยาเสพติดอยู่ที่ 5ประเภท โดยเฉพาะประเภทที่5 ที่เป็นพืชเสพติดประเภทกระท่อม กัญชา เห็ดขี้ควาย หรือกัญชง อะไรพวกนี้ มีข้อถกเถียงกันคือว่า เรื่องกระท่อม กัญชา ที่สามารถนำมาสกัดเป็นยา คิดว่าประมวลยาเสพติดควรเขียนคำนิยามใหม่ ให้แยกประเภทยาเสพติดออกจากพืชเสพติด และวัตถุออกฤทธิ์ประสาท อย่างเช่นสารระเหย พวกกาว ก็ควรแยกออกมา แต่ในร่างประมวลยาเสพติดกลับรวมเอาไว้หมดเลย
รองเลขาธิการ คปก. กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เราต้องการคือการจัดการในระบบสาธารณสุข พร้อมถึงใช้นิยามยาเสพติดแบบแยกโดยเฉพาะประเภทที่ 5 คปก. เลยเสนอให้เอาพืชเสพติดออกมาเลย ถ้าเอาพืชเสพติดออกมา จะได้ไม่เข้ามาอยู่ในประเภทที่5 เพราะฤทธิ์ของไม่รุนแรง เหมือนเฮโรฮีน หรือยาบ้า เราสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นยาได้ และกระบวนการดูเเลในส่วนของวัตถุออกฤทธิ์ก็ควรแตกต่างกันไป เราใช้วิธีการควบคุมพื้นที่ แต่สามารถให้ปลูกได้ในการผลิตทำเป็นยา ให้มีโทษที่แตกต่างกัน
น.ส.ศยามล ยังมองด้วยว่า ตัวนโยบายของประมวลกฎหมายยังเน้นไปที่การปราบปรามยาเสพติด แม้ว่าพูดเรื่องการส่งเสริม ในตอนท้ายก็ตาม แต่ยังไม่มีหลักการที่ว่าผู้เสพคือผู้ป่วย หมายความว่า ถ้าเราเน้นว่าผู้เสพคือผู้ป่วยเราต้องเน้นในเรื่องการป้องกันก่อน มาตรการป้องกัน คือจะมีการคัดกรองเขา ถ้าเป็นผู้ป่วยก็ให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ บำบัดให้เขา มีสถานที่ให้ในการบำบัด แต่ ปปส.ร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้
"คปก.เห็นว่าต้องอาศัยหลักการสาธารณสุขเข้ามาจับ โดยการที่ผู้เสพคือผู้ป่วย ปปส.เน้นการปราบปรามเป็นหลัก ให้มีโทษอยู่เหมือนเดิม อยากจะจัดการกับคนที่ค้ายา แต่ลึกๆ ก็ยังกลัวว่าผู้ค้ายาจะแอบแฝง" น.ส.ศยามลกล่าวและว่า ในความจริงควรกลับไปแยกว่า ใครคือผู้เสพ หรือผู้ค้ารายย่อย เช่นพวกที่ครอบครองเม็ดสองเม็ด ควรมีมาตรการที่แตกต่างกัน แต่พบว่าในร่างฯฉบับนี้ยังไม่ได้แยก ซึ่งมองว่าบางครั้งบางทีโทษก็รุนแรงเกินไป ถ้าเราไม่แยกให้ชัดเจนจะทำให้คนที่ตกเป็นเหยื่อมีผู้บริสุทธิ์โดนเข้าไปด้วย โดยเฉพาะการให้อำนาจดุลพินิจคณะกรรมการซึ่งจัดตั้งมาดูเเลแผนแม่บทต่างๆ และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจ จะเจอภาวะคนที่ตกเป็นเหยื่อมากกว่าคนที่เป็นผู้ค้าอย่างแท้จริง
นี่คือข้อสังเกตจากหลายหน่วยงาน ที่มีต่อร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีรายละเอียดและเนื้อหาที่ต้องพิจารณาอยู่มาก ผ่านมาหลายเดือนหลายๆคนตั้งตารอว่า กฎหมายใหม่นี้จะออกมาดีกว่าเดิมหรือไม่ แม้แต่พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเองก็ยังลุ้น อยากให้มีการพิจารณาแล้วเสร็จทันภายในปีนี้